สำรวจนโยบาย ‘ส่งเสริมการมีลูก’ ของแต่ละประเทศ สาเหตุใดสถิติเด็กเกิดใหม่น้อยลง 

รัฐจะทำอย่างไรเมื่อมีอัตราการเกิดใหม่น้อยลง ? ในปี 2564 ประเทศไทยมีสถิติเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 485,085 คน ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤตเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเสียชีวิตที่มีมากถึง 550,042 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนการเกิดถึง 64,957 คน ต่างจากในช่วงปี 2506 – 2526 ที่มีอัตราการเกิดไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนต่อปี ขณะเดียวกันจำนวนประชากรผู้สูงอายุก็เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตั้งแต่ปี 2565 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ หากปล่อยให้อัตราการเกิดน้อยลงต่อไปเรื่อย ๆ ในระยะยาวจะส่งผลให้ประเทศไทย มีประชากรเหลือเพียง 33 ล้านคนในอีก 60 ปีข้างหน้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร และการพัฒนาประเทศด้านสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 จึงออกมาแสดงความกังวลว่าหากประเทศไทยยังไม่มีมาตรการจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจมีลูก บนพื้นฐานของสิทธิส่วนบุคคลก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดได้ เช่นนั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งผลักดันให้การส่งเสริมการมีลูกเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 

วาระดังกล่าวมีสาระสำคัญที่พิจารณาคือ มาตรการส่งเสริมการมีลูก ทั้งเรื่องความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูลูก การช่วยเหลือคนที่มีลูกยาก และการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีลูกยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่ใช้ชีวิตคู่ไม่อยากจดทะเบียนสมรส กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสดสาวโสดที่อยากมีลูกแต่ไม่อยากมีลูก ให้มีโอกาสมีลูกได้ โดยบูรณาการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลงแต่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตนี้ จึงชวนผู้อ่านสำรวจว่า “แต่ละประเทศมีนโยบายการส่งเสริมอัตราเด็กเกิดใหม่เป็นอย่างไร และได้ผลหรือไม่” ได้หยิบยกแนวทางที่น่าสนใจในประเทศต่าง ๆ ดังนี้

  • ประเทศเกาหลีใต้ ทุ่มงบประมาณอุดหนุนการดูแลเด็กเพิ่มขึ้น 8 เท่า เป็น 0.9% ของ GDP ปี 2557 รวมถึงมีการปรับปรุงนโยบายลาพักของผู้เลี้ยงดูเด็กให้ยาวนานขึ้น แม่สามารถลางานมาเลี้ยงลูกได้ 90 วัน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำหรือพาร์ทไทม์ และพ่อลาได้ 10 วัน โดยยังได้เงินเดือนเต็มจำนวน รวมถึงพ่อแม่สามารถใช้วันหยุดดูแลลูกได้จนถึงอายุ 8 ปี ซึ่งหยุดได้เป็นเวลาหนึ่งปีและสามารถแบ่งเป็นครั้งละ 3 เดือนได้ แต่นโยบายครอบคลุมในกรณีที่เป็นพ่อแม่โดยสายเลือดเท่านั้น และเกิดปรากฏการณ์ทำให้ผู้หญิงที่กำลังจะคลอดลูกมักไม่ได้รับการจ้างงาน 
  • ประเทศสิงคโปร์ ได้ออกมาตรการมากมายเพื่อส่งเสริมการมีลูก เช่น เบบี้โบนัส โดยตั้งแต่ปี 2544 หากมีลูกสองคนพ่อแม่จะได้รับเบบี้โบนัสทั้งหมด 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 207,050 บาท) รวมถึงมีกองทุนช่วยเหลือแม่ที่ทำงาน (Working Mother’s Child Relief) โดยแม่ที่มีลูกคนแรกสามารถยกเว้นภาษีเงินได้ 15% และลดเพิ่มอีกหากมีลูกคนต่อ ๆ ไป ทั้งนี้รัฐบาลยังอุดหนุนศูนย์เด็กเล็กเอกชนกว่า 320 แห่ง ในช่วงระหว่างปี 2564 – 2568 เพื่อให้ศูนย์เด็กเล็กมีราคาที่เข้าถึงได้และลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครองที่เลี้ยงดูเด็ก นอกจากนี้ หากกรณีที่ต้องการเทคโนโลยีสนับสนุนการมีลูก (Assisted Reproductive Technology) รัฐจะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ 75% 
  • ประเทศสวีเดน มีนโยบายสำคัญอย่าง “สปีดพรีเมียม” ที่ผู้เลี้ยงดูสามารถได้ค่าตอบแทนในวันหยุดเท่ากันกับการลาหยุดเลี้ยงดูลูกคนก่อน ถ้ามีลูกคนต่อไปภายใน 30 เดือนจากที่มีลูกคนแรก เพื่อส่งเสริมให้พ่อแม่สามารถวางแผนให้ลูกอายุใกล้เคียงกัน และได้ใช้เวลาดูแลเด็กอย่างต่อเนื่องโดยไม่ถูกรบกวนให้พ่อแม่ได้ประโยชน์มากขึ้น ทั้งนี้การลาหยุดงานในสวีเดนนั้น มีความยืดหยุ่นมากเพราะสามารถจัดสรรได้ว่าจะหยุดเต็มเวลา ครึ่งเวลา หรือหยุดแบบไหนจนกว่าลูกจะอายุ 12 ปี รวมถึงปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการมีลูกก็คือการที่บริษัทมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นและมักอนุญาตให้คนทำงานจากบ้านได้ และเมื่อค่าใช้จ่ายการดูแลเด็กลดลง อัตราการเกิดของสวีเดนก็พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2565 อัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate : TFR) อยู่ที่ 1.84

อย่างไรก็ดี แม้ในหลายประเทศรัฐบาลจะพยายามออกมาตรการเพื่อสนับสนุนให้คนมีลูกแต่ด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ความชัดเจนของนโยบายที่ไม่เอื้อต่อการมีลูก ซึ่งการตัดสินใจมีลูกนั้นอาจไม่ได้ยึดโยงกับนโยบายครอบครัวเพียงเท่านั้น แต่สัมพันธ์กับความมั่นคงทางแรงงาน เพราะงานที่มั่นคงมีผลต่อการมีลูก จะเห็นได้ว่านโยบายเพิ่มอัตราการมีลูก ต้องอาศัยความครอบคลุมทั้งเรื่องครอบครัว แรงงาน สุขภาพ และพร้อมรองรับกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลต่อคนรุ่นใหม่ด้วย

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
นโยบายใหม่ให้มีลูกได้ 3 คนของจีนเผชิญแรงต้าน เมื่อการมีลูกมีราคาแพงและผู้หญิงยังประสบกับความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ
เป้าหมายยุติการตายของเด็กแรกเกิดและอายุต่ำกว่า 5 ปี ยังห่างไกล และหลายประเทศไม่มีข้อมูลที่มีคุณภาพ
อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลง และ 39 ประเทศรวมไทยจะมีประชากรในปี 2050 น้อยกว่าปัจจุบัน
PRB เผยแพร่ข้อมูลประชากรโลก ปี 2565 พบอัตราการตายส่วนเกินจากโควิด-19 มีมากถึง 15 ล้านคน ขณะที่เอเชียตะวันออกมีอัตราการเกิดน้อยที่สุดในโลก

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว ข้อมูลข่าวสารและความรู้ และการบูรณาการอนามัยการเจริญพันธุ์ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.4) ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดให้มีบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล และมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณะ
– (5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และแผนปฏิบัติการปักกิ่งและเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมทบทวนเหล่านั้น
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา : 
เร่งวาระแห่งชาติ “ส่งเสริมการมีลูก” คาดอีก 60 ปี ไทยเหลือประชากรเพียง33 ล้านคน -The Active
ส่องนโยบายสุดฮิตจาก 5 ประเทศที่อยากให้คนมีลูกเท่าไรๆ ก็ไม่สำเร็จสักที – Thailand Policy Lab 
ประชากรกับชีวิตของประเทศ – ThaiPublica 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Last Updated on พฤศจิกายน 9, 2023

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น