จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 4 – 10 พฤศจิกายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
EnLAW ชวนลงชื่อสนับสนุนกฎหมาย PRTR ภาคประชาชน
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ออกแคมเปญล่ารายชื่อสนับสนุนกฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) หรือ ร่าง พ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นเสนอกฎหมาย PRTR ภาคประชาชน
สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวมุ่งไปที่การกำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสารเคมีหรือมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่ตัวกลางสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ดิน น้ำ รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียหรือของเสียที่มีสารเคมีหรือมลพิษออกจากแหล่งกำเนิดไปบำบัดหรือกำจัดด้วย
ลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวได้ที่ https://thaiprtr.com/
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอื่น ๆ SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.4 บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม
เข้าถึงได้ที่: ‘EnLAW’ ล่า 10,000 รายชื่อ สนับสนุน ก.ม. เปิดเผยข้อมูลมลพิษ แก้ปัญหา PM2.5 ที่ต้นทาง (ประชา ไท)
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกยื่น 4 ข้อเสนอเรียกร้องรัฐจัดการเชื้อดื้อยาจากฟาร์ม
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย จัดงานเปิดตัวแคมเปญ “บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม” ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา อาสาสมัคร ตลอดจนเยาวชน เพื่อให้มีส่วนร่วมสร้างสังคมตระหนักถึงปัญหา และภัยของเชื้อดื้อยาเพื่อป้องกันและสร้างความปลอดภัยในชุมชน พร้อมเผยผลตรวจเชื้อแบคทีเรียดื้อยาล่าสุดในแหล่งน้ำรอบฟาร์มอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ
นอกจากนี้ยังมีการยื่นข้อเสนอ 4 ข้อต่อภาครัฐ เพื่อให้ดำเนินการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน ได้แก่ 1) ยกระดับมาตรฐานขั้นต่ำสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มให้สูงขึ้น ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำในการเลี้ยงสัตว์ฟาร์มที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล 2) ควบคุม และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดโดยเร่งด่วน 3) ดำเนินการภายใต้แนวคิด “หลักสวัสดิภาพหนึ่งเดียว” (One Health, One Welfare Concept) โดยมีการบูรณาการ และการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นรูปธรรม และ 4) จัดทำกลไกเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมกลุ่มต่าง ๆ ในการติดตามและตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.8 บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และ 3.d เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม
เข้าถึงได้ที่: จี้รัฐ-ก.เกษตรฯ จัดการวิกฤต “เชื้อแบคทีเรียดื้อยาในสัตว์ฟาร์ม” (Green News)
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติชี้แจง 7 ประเด็นสำคัญโครงการนิวเคลียร์องครักษ์
วันที่ 20 ตุลาคม 2566 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ส่งหนังสือชี้แจงกระบวนการดำเนินงาน “โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์วิจัยเครื่องใหม่เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม” หรือ “โครงการนิวเคลียร์องครักษ์” ต่อสมาคมพลเมืองนครนายก โดยมีประเด็นสำคัญ 7 ประเด็น ได้แก่ 1) ไม่มีการศึกษา “ความคุ้มการลงทุน–ความปลอดภัย” 2) ไม่มีการประเมินความคุ้มค่าโครงการ หรือมีแบบไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด 3) การดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามกฎหมายไทยและสากล 4) กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่เป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญ 5) การจัดเวทีรับฟังครั้งที่ 1 และ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 6) การจัดเวทีรับฟังครั้งที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ 7) การจัดเวทีรับฟังครั้งที่ 3 ถือว่ายุติก่อนเสร็จสมบูรณ์
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG9 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.4 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม
เข้าถึงได้ที่: 7 ประเด็นคำชี้แจง “นิวเคลียร์องครักษ์” จาก สทน. ถึงเครือข่ายชาวองครักษ์ (Green News)
การจ้างงานในอุตสาหกรรมไปรษณีย์ถึงเวลาปรับตัว นำเทคโนโลยีมาร่วมใช้มากขึ้น
ILOSTAT เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการจ้างงานที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องใน ‘อุตสาหกรรมไปรษณีย์และบริการจัดส่ง’ โดยมีเนื้อหาสำคัญ เช่น 1) ระหว่างปี 2546 – 2565 การจ้างงานในอุตสาหกรรมไปรษณีย์และบริการจัดส่งเพิ่มขึ้นในกว่า 70% ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างและกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน ในบางประเทศ การจ้างงานมีอัตราการเติบโตสูงมาก เช่น ฟิลิปปินส์ ไทย และศรีลังกา 2) ข้อมูลตามหมวดอาชีพ ในอุตสาหกรรมไปรษณีย์และบริการจัดส่ง หมวดหมู่อาชีพที่สำคัญที่สุด คือ “หมวดอาชีพสนับสนุนการจัดส่งสินค้า” รองลงมาคือ “หมวดอาชีพผู้ปฏิบัติงานในโรงงานและเครื่องจักรเคลื่อนที่” ซึ่งรวมถึงคนขับรถด้วย และ 3) การเพิ่มทักษะและการสนับสนุนเพื่อช่วยให้บริการไปรษณีย์แบบดั้งเดิมเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของคนทำงานและองค์กรในอุตสาหกรรมนี้
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.2 บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านการสร้างความหลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ
เข้าถึงได้ที่: จาก ‘ดั้งเดิม’ สู่การ ‘เปลี่ยนแปลง’: แนวโน้มจ้างงาน ‘อุตสาหกรรมไปรษณีย์และการจัดส่ง (ประชาไท)
รายงานฉบับล่าสุดของ SEI เรียกร้องรัฐบาลต่าง ๆ ยุติผลิตถ่านหินภายในปี 2583
วันที่ 8 พฤศจิกายน สถาบันสิ่งแวดล้อมสต็อคโฮล์ม (Stockholm Environment Institute: SEI) และ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme: UNEP) ร่วมกับหน่วยงานหุ้นส่วนอื่น ๆ เผยแพร่รายงาน ‘Phasing Down or Phasing Up? Top Fossil Fuel Producers Plan Even More Extraction Despite Climate Promises’ ฉบับแก้ไขล่าสุดปี 2566 ก่อนการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (UN Climate Change Conference: UNFCCC COP 28) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เนื้อหาที่สำคัญของรายงานข้างต้น เช่น 1) แผนและโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลจะส่งผลให้การผลิตถ่านหินทั่วโลกเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2573 และการผลิตก๊าซทั่วโลกเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2593 2) แม้ว่าประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ให้คำมั่นสัญญาที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แต่ก็ไม่มีประเทศใดที่มุ่งมั่นที่จะลดการผลิตถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซโดยสอดคล้องกับการจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5°C และ 3) เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ตั้งเป้าที่จะยุติการผลิตและการใช้ถ่านหินโดยเกือบหมดภายในปี 2583 และการลดการผลิตและการใช้น้ำมันและก๊าซรวมกันสามในสี่ ภายในปี 2593
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.2 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก (global energy mix) ภายในปี พ.ศ. 2573 และ 7.a ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด
เข้าถึงได้ที่: Fossil Fuel Plans Inconsistent with 1.5°C Scenario: Production Gap Report (IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย