EJF ชวนจับตา ‘ข้อตกลงพลาสติกโลก ครั้งที่ 3’ พร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อคณะผู้แทนรัฐบาลไทย เพื่อยุติมลพิษพลาสติกอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

วันที่ 13 – 19 พฤศจิกายน 2566 ตัวแทนประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อจัดตั้ง “ข้อตกลงพลาสติกโลก” ครั้งที่ 3 (Intergovernmental Negotiating Committee: INC3) ณ สำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme: UNEP) กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของนักสิ่งแวดล้อมที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกให้ลดการผลิตพลาสติกและการลงทุนระบบการใช้ซ้ำ (reuse)

เทียรา แซมซัน จากเครือข่าย “Break Free From Plastic” กล่าวต่อสำนักข่าว AFP ว่า “ขณะนี้การพูดถึงการแก้ปัญหาพลาสติกนั้นยังเน้นที่ปลายทาง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่โลกต้องการในตอนนี้ หากแต่เป็นการตั้งเป้าลดการผลิตพลาสติกที่มีความทะเยอทะยานต่างหาก”

ขณะที่มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย (Environmental Justice Foundation Thailand) นำเสนอมุมมองและข้อเสนอแนะต่อการเจรจา INC-3 และข้อเสนอแนะต่อคณะผู้แทนรัฐบาลไทยและผู้นำทั่วโลก เพื่อการยุติมลพิษพลาสติกอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม สู่ข้อตกลงโลกเพื่อยุติมลพิษพลาสติก 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 

1) ตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน : ข้อตกลงพลาสติกโลก จะสามารถยุติมลพิษพลาสติกอย่างแท้จริง เมื่อผู้นำโลกที่ร่วมเจรจาจัดตั้งมีความตั้งใจและตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าการลดการผลิตพลาสติกที่เข้มงวดและจริงจัง ตั้งเป้าการสร้างระบบการใช้ซ้ำ (reuse) ระบบการเติม (refill) ระบบการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter-Pays Principle) และเมื่อมีกรอบเวลาการดำเนินการที่ชัดเจนและเข้มงวด

2) มุ่งลดการผลิต : ข้อตกลงพลาสติกโลกต้องให้ความสำคัญกับการลดการผลิตพลาสติกเป็นหลัก โดยเริ่มจากการลดและเลิกการผลิตพลาสติกที่หลีกเลี่ยงได้และเป็นปัญหา และขับเคลื่อนสู่การลดการผลิตพลาสติกโดยรวม ภายใต้เป้าหมายและกรอบเวลาที่ชัดเจน

3) สร้างระบบการใช้ซ้ำ (reuse) และการเติม (refill) : ประชาชนในชุมชนและเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกได้เริ่มและลงมือพัฒนาระบบการใช้ซ้ำ (reuse) และระบบการเติม (refill) เพื่อลดขยะให้เป็นศูนย์ ในกรุงเทพมหานคร โครงการ Bottle Free Seas ของ EJF ได้ดำเนินการติดตั้งจุดเติมน้ำในพื้นที่สาธารณะตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 และปัจจุบันได้ลดการใช้ขวดพลาสติกใช้ครั้งเดียวไปได้แล้ว 100,000 ขวด เป็นประจักษ์ว่าประชาชนสนับสนุนการใช้ซ้ำและการเติม แทนที่วัสดุใช้ครั้งเดียว ข้อตกลงพลาสติกโลกต้องตอบสนองความต้องการของผู้คน และตั้งเป้าในการสร้างระบบการใช้ซ้ำและการเติมอย่างจริงจัง

4) ระวังการแก้ปัญหาผิดจุด (false solution) :  ข้อตกลงพลาสติกโลกไม่ควรสนับสนุนการแก้ปัญหาที่ผิดจุด หรือที่เรียกกันว่า “False Solution” เช่น วิธีหรือกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นเพียงการยืดเวลาก่อนพลาสติกจะถูกนำไปกำจัดหรือรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงโครงการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงขยะที่สร้างอุปสงค์ให้เกิดขยะมากขึ้น แทนที่จะผลักดันการลดขยะให้เป็นศูนย์ รวมไปถึง “นวัตกรรม” ที่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ เช่น พลาสติกชีวภาพและการรีไซเคิลเชิงเคมี ในบางกรณี แนวทางเหล่านี้อาจเป็นทางเลือกสุดท้ายในการกำจัดพลาสติก แต่ไม่ใช่และไม่ควรนำมาเป็นวิธีหลักในการยุติมลพิษพลาสติก

5) ส่งเสริมความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม : ข้อตกลงพลาสติกโลก จะต้องสร้างขึ้นบนหลักการความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม การรับฟังเสียงของประชาชน ชุมชน ภาคประชาชนสังคม และผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงผู้ประกอบอาชีพเก็บและจัดการขยะ เพื่อออกแบบวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยุติธรรม ผู้แทนจากทุกประเทศต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและเท่าเทียมก่อนการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC) ทุกครั้ง จนกว่าการจัดตั้งข้อตกลงแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการเจรจาดังกล่าวได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Environmental Justice Foundation Thailand ตลอดทั้งสัปดาห์ของการเจรจา

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Insights | ขยะพลาสติกในทะเล: ความพยายามของภูมิภาคอาเซียน
– ผลกระทบของขยะพลาสติกในมหาสมุทรที่มีต่อสุขภาพของคน: การศึกษาที่อาจยังขาดหายไป
– NextWave Plastics จับมือคู่แข่งทางธุรกิจ สร้างเครือข่ายระดับโลกแห่งแรกที่ปฏิรูปห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดขยะพลาสติกในมหาสมุทร
– โคคา-โคล่า ร่วมมือกับ The Ocean Cleanup เดินหน้าใช้นวัตกรรมดักจับขยะพลาสติกในแม่น้ำ 15 แห่งทั่วโลกก่อนไหลลงสู่มหาสมุทร
 75% ของพลาสติกที่รีไซเคิลได้ กลายเป็นขยะ คือ ‘โอกาสทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ฉกฉวย’ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
SDG Updates | แบนพลาสติกเพิ่ม: แนวโน้มความสำเร็จหรือล้มเหลว? ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือ? และใครบ้างต้องปรับตัว?

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.5) ลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดปริมาณ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี พ.ศ. 2568
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มโดยหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และทรัพยากรทางการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา : ข้อเสนอแนะของ EJF ต่อการเจรจา INC-3 – สู่ข้อตกลงโลกเพื่อยุติมลพิษพลาสติก (เพจเฟซบุ๊ก Environmental Justice Foundation Thailand)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น