คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับ ‘บริษัทจดทะเบียน’ – เปิดโอกาสทางธุรกิจโดยมี SDGs เป็นหลักคิด

SDG Recommends ฉบับนี้ ชวนอ่าน  “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนและมาตรฐานผลกระทบ SDG” (SDG Guidebook for Thai Listed Companies and SDG Impact standards) เป็นแนวทางช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจไทยให้ดำเนินธุรกิจที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และช่วยเป็นแนวปฏิบัติสำหรับภาคธุรกิจที่จะผนวกแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT)

คู่มือฉบับนี้ ระบุถึงกรอบการดำเนินธุรกิจและมาตรการการวัดผลกระทบด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกยอมรับระดับสากล ที่ภาคธุรกิจสามารถใช้เป็นแนวทางอ้างอิงในการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลเชิงบวกด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถจัดทำรายงานผลการดำเนินงานดังกล่าวได้โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดในแบบการเปิดเผยข้อมูลในแบบรายงานประจำปี หรือ 56-1 One Report

คู่มือฉบับนี้ มีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้

  • บทนำ – ระบุถึงบริบทจากทั่วโลกและบริบทภายในประเทศสำหรับการจัดทำคู่มือ ซึ่งอธิบายถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของภาคเอกชนในฐานะภาคีหลักส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 เนื่องด้วยความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ที่มากกว่า แต่ยังคงมีการรายงานเป้าหมาย SDGs ที่มักไม่สมดุลและไม่เชื่อมโยงกับเป้าหมายทางธุรกิจ เป็นการรายงานเพียงด้านเดียว จึงได้มีการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทผ่านแบบแสดงรายงานข้อมูลประจำปี
  • บทที่ 1 ทำความรู้จัก SDGs – อธิบายว่า SDGs คืออะไร ความคืบหน้าของประเทศไทยในปัจจุบัน การให้เหตุผลว่าทำไมภาคธุรกิจต้องดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับ SDGs เช่น เพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางการตลาด เพิ่มข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันเมื่อต้องรับมือกับผู้บริโภค นักลงทุน นอกจากนี้ ยังอธิบายเทียบหลักการ ESG และ SDGs รวมถึงให้เหตุผลว่าทำไมภาคธุรกิจจึงไม่ควรหยุดอยู่แค่หลักการ ESG แต่ควรผนวก SDGs เพราะเป็นการวัดผลลัพธ์และผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบที่มีต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติของบริษัทและผลิตภัณฑ์หรือบริการที่บริษัทเป็นผู้ผลิต ขณะที่ ESG วัดเพียงผลความพยายาม
  • บทที่ 2 การวัดและการจัดการผลกระทบ – อธิบายถึงขั้นตอนการวัดและการจัดการผลกระทบ (IMM) ขั้นที่ 1 – 5 ที่จะช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการทำ  IMM ภายในบริษัท รวมถึงทำให้ธุรกิจสามารถบูรณาการข้อพิจารณาด้าน SDGs และผลกระทบไว้ในแนวปฏิบัติด้านการบริหารของตน ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มผลกระทบสุทธิทางบวกและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกได้ผ่านการเปิดเผยในรายงาน One Report ของตน
  • บทที่ 3 การเชื่อมเป้าหมาย SDGs IMM และข้อกำหนดของ One Report เข้าด้วยกัน – เป็นขั้นที่ 6 วิธีรายงานผลกระทบและความคืบหน้าเป้าหมาย SDGs ของบริษัท ซึ่งช่วยเสริมสร้างการจัดการ การตัดสินใจ และการรายงานผลกระทบ และการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องในส่วนเฉพาะของ One Report ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ สำหรับมาตรฐานผลกระทบ SDGs ระบุถึงแนวปฏิบัติมาตรฐานแบบสมัครใจ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการและดำเนินงานขององค์กร โดยระบุเกี่ยวกับสิ่งสำคัญที่บริษัทจะต้องดำเนินการใน 4 เรื่อง ได้แก่ กลยุทธ์ แนวทางการจัดการ ความโปร่งใส และการกำกับดูแล ซึ่งการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและสามารถบริหารจัดการเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย

เข้าถึงเอกสารฉบับเต็ม ได้ที่นี่
– ฉบับภาษาไทย : คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– ฉบับภาษาอังกฤษ : SDG GUIDEBOOK 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
GRI & UNGC เผยเเพร่เเนวทางการทำรายงานความยั่งยืนของภาคธุรกิจฉบับปรับปรุง หวังให้มีการเปรียบเทียบเเละเข้าถึงข้อมูลที่สะดวกขึ้น 
SDGs จะช่วยภาคเอกชน หรือภาคเอกชนจะผลักดัน SDGs ได้อย่างไร? อย่างน้อยเริ่มจากตระหนักว่า “ไม่มีงานเหลือให้ทำ ในโลกที่ตายไปแล้ว”
ตลาดบริการให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืนและ ESG สำหรับภาคธุรกิจ จะเติบโตมากกว่า 2 เท่าภายใน 5 ปีนี้
SDG Recommends | CEO Guide to the SDGs – สร้างความเปลี่ยนแปลงโดยมี SDGs เป็นหัวใจธุรกิจ 
SDG Updates | SDG Index 2023 สถานการณ์โลก – อาเซียน – ไทยหลังผ่านมาครึ่งทาง 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น 
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส 
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ 
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน 

แหล่งที่มา: 
SDG Guidebook for Thai Listed Companies – United Nations Development Programme 
UNDP ร่วมกับ ก.ล.ต. TLCA และ GCNT เปิดตัว “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG”  – SEC

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น