สวัสดีครับทุกท่าน
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเป็นได้เป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ไทยในสถานการณ์ SDGs: บทบาทสื่อมวลชนควรเป็นอย่างไร” จัดโดยสมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ท่าน คือ ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผอ.สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) จึงขอเรียบเรียงเนื้อหาที่ได้นำเสนอในงานดังกล่าวเอาไว้ในคอลัมน์ Director’s note วันนี้ครับ
สื่อมวลชนเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) อย่างไรก็ดี บทบาทนี้ของสื่ออาจยังไม่เคยได้มีการพิจารณาอย่างรอบด้านและตีโจทย์ให้แตกมากนัก บทความสั้นนี้ต้องการชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทของสื่อกับเป้าหมาย SDGs และพยายามจะตอบคำถามว่า เหตุใดคนรับสารซึ่งเป็นลูกค้าโดยตรงของสื่อจะต้องรู้เกี่ยวกับคำว่า SDGs และรายละเอียดของมัน และสื่อควรมีบทบาทอย่างไร
01 – บทบาทของสื่อมวลชนเกี่ยวข้องกับ SDGs อย่างไร ?
หากเชื่อมโยงบทบาทของสื่อมวลชนกับเป้าหมายย่อย (targets) ของ SDGs อาจเชื่อมโยงสื่อได้กับเป้าหมายย่อยอย่างน้อย 3 เป้าหมาย ประกอบด้วยเป้าหมายย่อยต่อไปนี้
- SDG 16.6 พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
- SDG 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
- SDG 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
แกนกลางของบทบาทสื่อ คือ SDG 16.10 คือการสร้างหลักประกันว่าสาธารณะจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะของภาครัฐจะทำให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐ แล้วทำให้เกิดความรับผิดรับชอบและมีประสิทธิผลตามมา (16.6) นอกจากนี้สื่อยังมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งและกระบวนการนนโยบายสาธารณะต่าง ๆ อีกด้วย หากสื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลและในขณะเดียวกันก็สะท้อนความต้องการของสาธารณให้ผู้กำหนดนโยบายได้ทราบ ก็อาจมีส่วนช่วยในการสร้างกระบวนการตัดสินใจที่เป็นตัวแทนที่ดีและช่วยให้รัฐตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น
นอกจากนี้หากเรามองสื่อเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย สื่ออาจมีผลในการให้ข้อมูลและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพลเมืองโลก การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับ SDG 4.7, SDG 12.8 และ SDG 13.3
สื่อยังช่วยสื่อสารให้คนเห็นและเข้าใจปัญหาความยั่งยืนที่สำคัญ ทั้งปัญหาความยากจน ปัญหาเกี่ยวกับเกษตรกรและความมั่นคงทางอาหาร ปัญหาสุขภาพ การศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศสภาพ การจัดการน้ำ การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า ไปจนถึงปัญหาอาชญากรรม ความยุติธรรมและประเด็นปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้ปัญหาเหล่านั้นได้รับการแก้ไข
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าหน้าที่ของสื่อมีความสอดคล้องกับการสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่แล้ว คำถามที่ตามมาคือ สื่อควรจะต้องทำอะไรเพิ่มเติมจากงานที่ทำอยู่หรือไม่ และทำไมคนรับสารในสื่อสาธารณะจึงต้องรู้เรื่อง “SDGs” ?
02 – เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในฐานะเครื่องมือของทุกภาคส่วน
ในการตอบคำถามข้างต้น เราต้องเข้าใจร่วมกันก่อนว่า เป้าหมาย SDGs มีหน้าที่อะไรกับคนทั่วไปและภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่ภาครัฐ
ประการแรก SDGs เป็นคำสัญญาที่รัฐและกลุ่มทุนให้ไว้กับโลกว่าจะร่วมผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นั่นแปลว่า ทั้งรัฐและทุนต่างประกาศว่าตนเองจะร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับพวกเราทุกคนและลูกหลานของพวกเรา แต่ปัจจุบันเมื่อประชาชนไม่รู้เรื่อง SDGs ก็จะไม่ทราบว่า รัฐและกลุ่มทุนไปสัญญาเรื่องเหล่านี้เอาไว้ ดังนั้นเวลาที่ตนเรียกร้องเรื่องที่จริง ๆ สอดคล้องกับ SDGs ก็อาจจะไม่มีพลังมากพอ หรือถูกด้อยค่าว่าเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มคน ทั้ง ๆ ที่มันเป็นประเด็นกันกับเป้าหมายของโลกที่รัฐและกลุ่มทุนสัญญาว่าจะทำ
คนธรรมดาจึงสามารถใช้ SDGs เป็นเครื่องมือในการผลักดันวาระที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของตนและของชุมชนของตนได้ มันจะช่วยเพิ่มน้ำหนักในคำเรียกร้องถึงชีวิตที่ยั่งยืน ว่ามิใช่เป็นเพียงประชาชนบางกลุ่มเท่านั้นที่ต้องการ แต่มันคือประชากรทั้งโลกที่ต้องการ นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถใช้ SDGs เป็นเครื่องมือในการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสัญญาได้ และใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามการทำงานของกลุ่มทุนและร้องเรียนเมื่อกลุ่มทุนทำผิดคำมั่นที่ให้ไว้ว่าจะร่วมผลักดันเป้าหมาย SDGs ซึ่งจะเป็นการป้องกันการฟอกเขียว (green washing) ที่ดียิ่งขึ้น
ประการที่สอง SDGs ในฐานะที่เป็นภาษาการพัฒนาของโลกเพื่อการเสริมพลังให้ชุมชนและองค์กรที่ขับเคลื่อนความยั่งยืนอยู่แล้ว ในประเทศไทยมีชุมชนและกลุ่มบุคคลจำนวนมากที่อุทิศตนเพื่อการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และชุมชนและกลุ่มคนเหล่านี้ก็เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจให้กับชุมชนรอบข้างและคนในประเทศ หากเราใช้ภาษา SDGs ในการอธิบายสิ่งที่คนเหล่านี้ได้ดำเนินการ และนำเสนอเป็นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คนเหล่านี้จะไม่ใช่แค่แรงบันดาลใจเท่านั้น แต่อาจจะเป็นทางออกสำคัญให้กับปัญหาของโลก และเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนทั่วโลกเลยก็ได้
ประการที่สาม SDGs ในฐานะที่เป็นกรอบการเรียนรู้ประเด็นการพัฒนาด้านต่าง ๆ กล่าวคือ การที่ประชาชนจะทำให้ประชาชนร่วมผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้น เขาจะต้องเข้าใจเสียก่อนว่าประเด็นการพัฒนาที่เป็นปัญหามันคือประเด็นอะไรและสำคัญกับเขาอย่างไร SDGs ช่วยเป็นกรอบเชิงประเด็นในการเรียนรู้ของสาธารณะได้ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ควรรู้บ้าง
ประการที่สี่ SDGs ในฐานะที่เป็น Guideline ในการทำสิ่งดี ๆ เพื่อสังคมทุกระดับ กล่าวคือ เมื่อสาธารณะทราบแล้วว่าประเด็นอะไรบ้างคือประเด็นที่เป็นปัญหาความท้าทายของประเทศ เขาก็สามารถร่วมด้วยช่วยกันในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ ซึ่งจะช่วยให้การจัดสรรกำลังแรงกายของคนในสังคมมีจุดเน้นมากยิ่งขึ้นและอาจจะช่วยส่งผลให้เกิดการพัฒนาในสถานะของเป้าหมายย่อยนั้น ๆ ได้จริง
03 – สื่อมวลชนควรมีบทบาทอย่างไร ?
สิ่งที่สื่อมวลชนทำได้มีดังต่อไปนี้
ประการแรก นำเสนอข่าวโดยเชื่อมโยงประเด็นข่าวกับ SDGs และข้อมูล SDGs ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเน้นย้ำว่าประเด็นเหล่านี้ไม่ได้แยกขาดจากคำสัญญาเกี่ยวกับสังคมที่ยั่งยืนที่รัฐได้ให้ไว้กับโลก เช่น ข่าวอาชญากรรม หรือบทวิเคราะห์ข่าวอาชญากรรมประจำสัปดาห์อาจมีการอ้างถึงว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นของโลกด้วย เชื่อมโยงกับ SDG 16.1 และ SDG 16.2 อาจนำเอาสถิติที่เกี่ยวข้องมาประกอบ หรือ ข่าวความรุนแรงในครอบครัว อาจอ้างถึง SDG 5.2 และข้อมูลสถิติภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และอาจตบท้ายด้วยการทำข้อมูล infographic เพื่อเสนอให้เห็นว่า ข่าวที่สำนักพิมพ์ของตนนำเสนอเกี่ยวข้องกับ SDG goals และ targets ใดบ้างเพื่อเป็นรายงานความยั่งยืนให้กับบริษัทได้อีกด้วย
ประการที่สอง ทบทวนและนำเสนอความก้าวหน้าของ SDGs ประจำปีให้ประชาชนทราบถึงความก้าวหน้าและความท้าทายและ commitment ของภาครัฐ บทบาทนี้อาจมีในช่วงหนึ่งสัปดาห์หรือหนึ่งเดือนในแต่ละปีก็ได้ โดยอาจจัดล้อไปกับช่วงที่มีการประชุมสำคัญเช่น High-level Political Forum on Sustainable Development ในช่วงกรกฎาคมของทุกปี หรือในปี 2027 อาจขยับมาจัดในช่วงของเดือนกันยายนที่จะตรงกับ SDG Summit ในรอบถัดไป โดยสิ่งที่นำเสนออาจมีทั้งความก้าวหน้าในภาพรวมของ SDGs และอาจมีจุดเน้นเป็นพิเศษที่ปัญหาสำคัญที่สังคมโลกให้ความสนใจในช่วงปีนั้น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วสื่อทุกสื่อในประเทศก็เล่นประเด็นนี้ร่วมกันในรูปแบบที่ตนถนัด
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ สื่อในประเทศญี่ปุ่นจำนวนมากเป็นสมาชิกของเครือข่าย SDG Media Compact ขององค์การสหประชาชาติ ในปี 2023 นี้ ภาคีสื่อในญี่ปุ่นขับเคลื่อนแคมเปญ “Promise of 1.5C-Act Now to Stop Global Warming” เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลและบริษัทต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงฉากทัศน์อันวิบัติในอนาคต เป็นแคมเปญที่ภาคีสื่อในกลุ่ม SDG Media Compact กว่า 130 องค์กรทำงานร่วมกับศูนย์ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติในกรุงโตเกียว สื่อสารประเด็นเกี่ยวกับโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกรูปแบบในช่วงเวลาเดียวกับการประชุม SDG Summit โดยผลิตและเผยแพร่แคมเปญวีดีโอ 15 วินาทีบนหน้าจอประชาสัมพันธ์ตามถนน จัดทำสื่อบน digital billboard ในเมือง มีสกรีนรถไฟเป็นสี SDGs และทำสื่อฉายบนรถไฟ สถานีโทรทัศน์หลัก 6 สถานีประกอบด้วย NHK, Nippon TV, TV Asahi, TBS, TV Tokyo และ Fuji TV มีโปรแกรมพิเศษ 1 ชั่วโมงในวันเกิดของ SDGs คือวันที่ 25 กันยายน นี่คือตัวอย่างของความร่วมมือเป็นภาคีของสื่อในการขับเคลื่อนประเด็นความยั่งยืนหนึ่ง ๆ ให้เข้าถึงผู้คนโดยทั่วไป
ประการที่สาม รวบรวม จัดระบบ และนำเสนอกรณีศึกษาที่สื่อต่าง ๆ เคยทำเกี่ยวกับ action ที่สนับสนุน SDGs สื่อจำนวนมากมีรายการที่จัดทำเป็นสารคดี เป็นรายการสัมภาษณ์ เป็นสกู๊ปสั้น ๆ เกี่ยวกับชุมชนที่จัดการตนเองอย่างยั่งยืน องค์กรหรือบุคคลที่ขับเคลื่อนประเด็นด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม อยู่เป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่ง action ของชุมชน องค์กรและบุคคลเหล่านั้น มีความเชื่อมโยงกับ SDGs ไม่มากก็น้อย ดังนั้นเมื่อสื่อต่าง ๆ มารวมตัวกันเป็นสมาพันธ์แล้ว สมาพันธ์อาจเป็นผู้ริเริ่มในการทำฐานข้อมูลของรายการเหล่านี้ที่จำแนกโดย SDG และทำให้ผู้คนสามารถมาค้นคว้าได้ การดำเนินการนี้จะมีประโยชน์หลายประการมาก ทั้ง empower ผู้คน องค์กรและชุมชนเหล่านั้น ทำให้ผู้คนได้เข้าถึงและเรียนรู้ถึงประสบการณ์และวิธีการในการบรรลุ SDGs ในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงเป็นการรวบรวมกรณีศึกษาต่าง ๆ ของประเทศไทยเพื่อใช้ในการเผยแพร่ต่อไปได้
ประการที่สี่ ช่วยเผยแพร่ความรู้เชิงประเด็นและเชิงวิชาการเกี่ยวกับประเด็น SDGs โดยให้เกียรติกับผู้ผลิตเนื้อหานั้น ปัจจุบันมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่ง มีการทำงานวิชาการเพื่อสื่อสารกับสังคมมากขึ้น หากสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นประโยชน์เหล่านั้นด้วยจะเป็นประโยชน์ในการกระจายความรู้ไปในตัวด้วย แต่การกระจายเนื้อหานั้นควรเป็นในลักษณะที่ให้เกียรติกับผู้ผลิตเนื้อหานั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการอ้างอิงอย่างเหมาะสม หรือเป็นการแชร์ไปโดยตรงจาก social media ขององค์กรนั้น
ประการสุดท้าย ผลิตรายการบันเทิง เกมโชว์ Lifestyle ศิลปะวัฒนธรรมที่เชื่อมกับประเด็นความยั่งยืน การสื่อสารเรื่องความยั่งยืนต้องการความหลากหลายอย่างมากเพื่อให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ดังนั้นหากสื่อสารมวลชนสามารถร่วมกันผลิตรายการในหลากหลายรูปแบบที่ช่วยสื่อสารความรู้และความเร่งด่วนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับสังคมได้ น่าจะเกิดเป็น movement ที่มีพลังมากในการผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
04 – สรุป
สื่อมวลชนควรมาร่วมขับเคลื่อนเรื่อง SDGs เพื่อทำให้ผู้คนทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้และผลักดันให้รัฐบาลมีความรับผิดรับชอบต่อประชาชนในการขับเคลื่อนให้เกิดสังคมที่ยั่งยืน มีความรู้เพียงพอที่จะปรับพฤติกรรมของตนและร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาต่าง ๆ และได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นผ่านรายการและเนื้อหาที่หลากหลายและน่าสนใจ เว็บไซต์ของ SDG Move ที่นำเสนอเนื้อหา SDGs อย่างต่อเนื่องและเป็นที่รู้จักในเฉพาะหมู่คนทำงานโดยตรงเสียส่วนใหญ่เท่านั้นยังทำตัวเลขคนเข้าชมต่อปีได้ถึง 1.7 ล้านวิว คงเป็นเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ไม่น้อยถ้าเรื่อง SDGs ได้ปรากฏอยู่ในสื่อสารมวลชนของประเทศ สู่สายตาคนมหาศาล น่าจะช่วยเพิ่มจำนวนคนที่รู้เรื่องนี้และมาร่วมขับเคลื่อนกันได้มากขึ้นมาก สื่อจึงเป็นมีพลังที่สำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนสังคมเพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่แพ้ภาคส่วนใด
Last Updated on พฤศจิกายน 20, 2023