SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566


จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  11 – 17 พฤศจิกายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

นายกฯ ปาฐกถาที่ประชุม APEC แสดงวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit 2023) ในห้วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Week: AELW) ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุม Moscone Center (West) นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

สาระสำคัญที่ปรากฏในปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี คือการแสดงวิสัยทัศน์และเสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยเน้นย้ำ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) ด้านความยั่งยืน มุ่งมั่นที่จะต่อยอดด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มความพยายามเป็น 2 เท่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 2) ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและยกระดับการรับรู้และทักษะด้านดิจิทัล และ 3) ด้านการค้าและการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุง การเชื่อมต่อทางกายภาพ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสนามบินหลายแห่งทั่วทั้งเขตเศรษฐกิจ พร้อมกำลังดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาสะพานข้ามทะเลเพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.2 บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านการสร้างความหลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ SDG9 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.b สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนา 

เข้าถึงได้ที่: เศรษฐากล่าวปาฐกถาเวที APEC 2023 ย้ำถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนในประเทศไทย (The Standard) 

ไรเดอร์รวมตัวร้องบริษัทสร้างความเป็นธรรมในการจ้างงานมากขึ้น

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 กลุ่มไรเดอร์แพลตฟอร์ม “Lalamove” หรือ บริษัท ลาลามูฟ อีซี่แวน (ประเทศไทย) จำกัด มีการนัดรวมตัวที่สถานีกลางบางซื่อและเคลื่อนขบวนในลักษณะของคาร์ม็อบมาที่สำนักงานของ Lalamove เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้บริหารของแพลตฟอร์ม Lalamove โดยมีข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1) บริษัทต้องกำหนดให้มีราคาเริ่มต้นทุกงานขนส่งและทุกประเภทรถที่มีให้บริการตามที่มีประกาศอยู่หน้าเว็บไซต์ 2) บริษัทต้องยกเลิกงาน Smart Prices 3) บริษัทต้องยกเลิกนโยบายการนำค่าตอบแทน Rider Driver เป็นส่วนลดโปรโมชั่นให้กับลูกค้า 4) บริษัทต้องยกเลิกงานไปกลับและงานเหมาให้มีผลกับรถทุกประเภท และ 5) บริษัทต้องคำนวณค่าบริการตามจริงตามที่ได้กำหนดอัตราค่าบริการต่อระยะทางไว้ในเว็บไซต์ของทางบริษัท

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.3 ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า และ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน

เข้าถึงได้ที่: ไรเดอร์ Lalamove ‘ไม่ทน’ ชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องถึงผู้บริหาร ต้องทบทวนนโยบายค่ารอบ เอาเปรียบคนทำงาน (ประชาไท) 

บอร์ด สปสช. เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ‘ระบบหลักประกันสุขภาพ’
ในระดับท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบ ข้อเสนอการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ สปสช. 

โดยคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่สำคัญ เช่น 1) จัดทำหรือทบทวนกฎว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงาน 2) สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกําไรเป็นผู้ดำเนินการและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ 3) ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแก่บุคคลในพื้นที่ตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 และ 4) จัดทำข้อเสนอด้านสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น รวมถึงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่และจัดทำข้อเสนอการพัฒนาที่ต่อเนื่อง  

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.8 บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่: บอร์ด สปสช. ตั้งอนุกรรมการฯ ขับเคลื่อน ‘หลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น’ (ประชาไท) 

เครือข่ายประชาชนภาคใต้รวมตัวค้านโครงการแลนด์บริดจ์

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เครือข่ายประชาชนชุมพร-ระนอง สภาประชาชนภาคใต้ และภาคีเครือข่ายในภาคใต้ ได้จัดกิจกรรม “ชำแหละแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ใครได้ใครเสีย ?” โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คน จาก 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สตูล พังงา กระบี่ และ ตรัง รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์จากสมาคมคลองไทย ซึ่งภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการให้ข้อมูลโครงการและข้อมูลผลกระทบโครงการ มีการสกรีนธงพร้อมข้อความหยุดแลนด์บริดจ์ มีป้ายผ้าให้ข้อมูลและประกาศเจตนารมณ์คัดค้านโครงการ

โดยสภาประชาชนภาคใต้และภาคีเครือข่ายร่วมออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลเศรษฐา โดยระบุว่าพวกเราไม่พร้อมที่จะเสียสละสิ่งที่เรามีอยู่ทั้งหมด อันเป็นฐานศักยภาพของผืนดินแห่งนี้ ทั้งทะเลชายฝั่ง ที่ดินทำกินสวนทุเรียน สวนผลไม้แหล่งน้ำ ป่าไม้ภูเขา ตลอดไปถึงสังคมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตพื้นถิ่นของพวกเรา ด้วยการปล่อยให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีที่ชื่อเศรษฐา ทวีสิน ที่กำลังถือวิสาสะว่าเป็นผู้นำประเทศแล้ว จะดำเนินการอย่างไรกับพวกเราก็ได้เพียงอ้างคำว่า “พัฒนา” และจะทำให้ประเทศนี้เจริญขึ้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.4 ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.2 บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม

เข้าถึงได้ที่: ปชช.ใต้ ค้านแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง นักวิชาการชี้ไม่คุ้มค่า ส่งผลกระทบมาก (ประชาไท) 

ศาลไม่รับคำอุทธรณ์คดีแวกซ์กาเบ็จทั้งของชาวบ้านและบริษัท

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 มูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการดำเนินคดีแวกซ์กาเบ็จ ที่ล่าสุด ทั้งโจทย์คือชาวบ้านน้ำพุ อำเภอเมือง ราชบุรี และจำเลยคือบริษัท แวกซ์กาเบ็จ รีไซเคิล เซนเตอร์ จำกัด ต่างยื่นอุทธรณ์เข้าสู่กระบวนการศาลตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 โดยสาระสำคัญคือ ชาวบ้านอุทธรณ์ “ขอให้พิจารณาเกณฑ์การเยียวยาใหม่ ที่ไม่ใช่เกณฑ์การเสียหายจากภัยธรรมชาติ เนื่องจากเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยส่วนนี้ต่ำเกินจริง ไม่สอดคล้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้น” ขณะที่บริษัทฯ อุทธรณ์ว่า “ไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิด และแพร่กระจายมลพิษออกสู่พื้นที่ แหล่งน้ำ เนื่องจากบริษัทได้ดำเนินการตามขั้นตอนจนได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแล้ว” อย่างไรก็ดีศาลตัดสินไม่รับคำอุทธรณ์ทั้งของโจทก์และจำเลย

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษ และ SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.4 บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิด

เข้าถึงได้ที่: “ศาลไม่รับคำอุทธรณ์” ทั้งของชาวบ้านราชบุรีและของบริษัทฯ “คดีแวกซ์กาเบ็จ” (Green News) 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น