มะเร็งปากมดลูก (cervical cancer) เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับที่ 4 ในผู้หญิงทั่วโลก โดยแต่ละปีมีผู้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกมากกว่า 600,000 ราย และประมาณครึ่งหนึ่งเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสาเหตุของมะเร็งชนิดนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือ HPV ซึ่งมักจะติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และแม้ว่าจะเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ แต่กลับพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง (low-middle income countries) จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการจัดการปัญหานี้
นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่ประเทศสมาชิก 194 ประเทศ มีมติให้กำจัดมะเร็งเป็นครั้งแรก โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) เปิดแผนยุทธศาสตร์ระดับโลกในการเร่งกำจัดมะเร็งปากมดลูก (Global Strategy to Accelerate the Elimination of Cervical Cancer) ได้กำหนดว่าภายในปี 2573 ทุกประเทศ ต้องมีอุบัติการณ์หรืออันตรายจากมะเร็งปากมดลูกน้อยกว่า 4 รายต่อผู้หญิง 100,000 ราย ซึ่งเห็นความก้าวหน้าอย่างมากต่อเป้าหมายดังกล่าวในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวอย่างเช่น ประเทศออสเตรเลีย พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกตามอัตราอุบัติการณ์ปรับอายุ (age-standardized incidence rate :ASR) อยู่ที่ประมาณ 1.6 ต่อ 100,000 คนในปี 2562 และขณะเดียวกันกลับพบว่าประมาณ 90% ของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตนั้นมักเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
นอกจากนี้ มะเร็งปากมดลูก ยังเป็นมะเร็งที่มีอัตราการของความแปรปรวนในการเสียชีวิตระหว่างประเทศมากที่สุดจากมะเร็งทั้งหมด โดยทั่วไปหากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่อยู่ในระยะแรกเริ่มและเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตจากโรคมะเร็งระยะเริ่มแรก ได้มากถึง 80% แต่ประเทศในแอฟริกา ยังคงติดอันดับประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกสูงสุด ซึ่งมีอัตราเป็นมะเร็งปากมดลูกประมาณ 43 รายต่อผู้หญิง 100,000 ราย มากกว่าประเทศออสเตรเลียถึง 27 เท่า โดยมีสาเหตุมาจากการสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพและการฉีดวัคซีนอย่างเพียงพอ
มะเร็งปากมดลูกไม่เพียงสร้างผลกระทบด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทางสังคมอีกด้วย การศึกษาล่าสุดในประเทศเอธิโอเปีย พบว่าร้อยละ 45.7 สูญเสียรายได้เนื่องจากการป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก และอีกร้อย 71 ต้องประสบกับปัญหาด้านการเงินเนื่องจากค่ารักษาพยาบาล
องค์การอนามัยโลก ได้เสนอแนวทางสามประการ ด้วยยุทธศาสตร์ 90-70-90 มีแนวทาง ดังนี้
- 90% ของเด็กผู้หญิงได้รับวัคซีน HPV ครบ เมื่ออายุ 15 ปี
- 70% ของผู้หญิงได้รับการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพสูงเมื่ออายุ 35 ปี และอีกครั้งเมื่ออายุ 45 ปี
- 90% ของผู้หญิงที่ระบุว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกได้รับการรักษา (90% ของผู้หญิงที่ได้รับรักษามะเร็งก่อนระยะลุกลาม และ 90% ของผู้หญิงที่ได้รับการจัดการมะเร็งระยะลุกลาม)
เพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ 90-70-90 ภายในปี 2573 ซึ่งองค์การอนามัยโลก ประมาณการว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่า 62 ล้านราย ภายในปี 2663 ดังนั้น จึงต้องมีการดำเนินการในการกำจัดมะเร็งปากมดลูกอย่างเร่งด่วนเพื่อสุภาพที่ดีและสร้างความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมกับเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิง
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– WHO เผยแพร่คำแนะนำล่าสุดในการฉีดวัคซีน HPV พร้อมเน้นย้ำเด็กหญิงอายุ 9 – 14 ปี ควรได้รับก่อนเริ่มมีกิจกรรมทางเพศครั้งแรก
– สารก่อมะเร็ง PAHs มากกว่า 100 ชนิดถูกปล่อยสู่อากาศในทุกวัน แต่ส่วนมากยังไม่มีการกำกับดูแล – นับเป็นความเสี่ยงต่อโรค
– แก้ปัญหาแบบ “2-in-1” : การวิจัยยาที่สามารถป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และการติดเชื้อ HIV
– SDG Updates | Immunization Agenda 2030 กับ SDGs ความเชื่อมโยงของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคกับเป้าหมายกับพัฒนาที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมมากไปกว่าเรื่องสุขภาพ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และปฏิญญาปักกิ่งและเอกสารทบทวนผลลัพธ์จากการประชุมเหล่านั้น
แหล่งที่มา :
– Cervical cancer elimination: The progress made and what more needs to be done – weforum
– Cervical cancer – WHO
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย