Site icon SDG Move

SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 4 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  19 – 24 พฤศจิกายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมของกระทรวงยุติธรรม

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ มีการเปลี่ยนชายและหญิงเป็น ‘บุคคล’ และใช้คำว่า ‘คู่สมรส’ แทนสามีภรรยาเพื่อให้ครอบคลุมไม่ว่าเพศใด และปรับแก้ให้รับรองสิทธิคู่สมรสเพศเดียวกันเท่าคู่ชายหญิงเพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้นหรือคู่สมรสไม่ว่าจะมีเพศใด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 43 มาตรา 193/22 มาตรา 1439 มาตรา 1440 ฯลฯ)  ดังนั้น เพื่อให้สอดรับการแก้ไขถ้อยคำที่กำหนดให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นหรือสมรสกันได้ จึงได้มีการปรับแก้ไขถ้อยคำเพื่อรองรับสิทธิของคู่สมรสเพศเดียวกันให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่ : ครม.อนุมติร่าง พรบ.สมรสเท่าเทียมของ ยธ.เปลี่ยน ‘ชาย-หญิง’ เป็น ‘บุคคล’ รองรับสิทธิ์คู่เพศเดียวกัน – ประชาไท 

สหภาพยุโรปเตรียมห้ามการส่งออก ‘ขยะพลาสติก’ ไปประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD 

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ผลการประชุมเพื่อจัดทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศในการแก้ปัญหามลพิษพลาสติก ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา สรุปได้ว่า จะออกข้อตกลงที่เข้มงวดในการส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศร่ำรวยมากขึ้น และห้ามส่งออกไปยังประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ของ OECD คือประเทศร่ำรวย ตั้งแต่กลางปี 2569 โดย 5 ปี หลังจากกฎนี้เริ่มบังคับใช้ไปแล้ว ประเทศที่ต้องการนำเข้าขยะพลาสติกจากสมาชิกสหภาพยุโรปสามารถยื่นคำขอเพื่อให้ยกเลิกข้อห้ามนี้ได้ หากพิสูจน์ได้ว่าสามารถจัดการขยะพลาสติกได้ดี

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 11  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่   11.6 ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอื่น ๆ SDG 12  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.5 ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ SDG 14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.1 ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568 และ SDG 17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่ : ประเทศยากจนต้องไม่ใช่ถังขยะโลก อียูเตรียมแบนการส่งออกขยะพลาสติกไปนอกชาติสมาชิก OECD – thairath plus

ชาว ต.ปะแต จ.ยะลา ค้านสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อป้องสายน้ำและวิถีชีวิตชุมชน

ชาวบ้าน ตำบลปะแต จังหวัดยะลา ร่วมคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในชุมชน ระบุปกป้องสายน้ำและวิถีชีวิตของชุมชน โดยตัวแทนบริษัทสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ชี้แจงในเวทีประชาคมว่า โรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น เป็นโรงไฟฟ้าชุมชน ใช้คำว่าชุมชนเพราะคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของชุมชน และมีกระบวนการที่ดีมีคุณภาพ การมีโรงไฟฟ้าชุมชนจะสามารถผลิตไฟฟ้า และสร้างงานสร้างอาชีพให้กับท้องถิ่น ขณะที่ชาวบ้านแสดงความคิดเห็นว่า การรับรู้ของชาวบ้านในเรื่องนี้ยังอยู่ในวงจำกัด ควรได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านเสียก่อน จึงเรียกร้องให้ยุติโครงการดังกล่าว เนื่องจากไม่มีความจำเป็นใด ๆ ในการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม กลายเป็นเพิ่มต้นทุนการผลิต ประชาชนต้องรับภาระจ่ายค่าไฟแพง ทั้งที่ประเทศไทยมีอัตราการผลิตไฟฟ้าล้นเกิน 

นอกจากนี้การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในกระบวนการผลิตยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น การปล่อยสารอันตรายลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นสายน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงวิถีเกษตรกรรมของชุมชน และเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการบริโภคของประชาชน 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 6  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 6.3 ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงครึ่งหนึ่ง SDG 7  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.1 สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และ เเละ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ และ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่ : ยะลา : ชาว ต.ปะแต ค้านสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในชุมชน ป้องสายน้ำและวิถีชีวิตชุมชน – ประชาไท

“กรีนพีช” เปิดตัวรายงานเสียงแห่งจะนะ ยุทธศาสตร์การพัฒนายั่งยืนระดับพื้นที่

กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดกิจกรรม “เปิดตัวรายงานเสียงแห่งจะนะ : การเก็บข้อมูลโดยภาคพลเมืองสู่การออกแบบยุทธศาสตร์การพัฒนายั่งยืนระดับพื้นที่” เพื่อนำข้อมูลที่ได้ใช้เป็นฐานในการพูดคุยเพื่อลดความขัดแย้งและต่อยอดออกแบบเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนายั่งยืนระดับพื้นที่ รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลและยุทธศาสตร์การพัฒนายั่งยืนระดับพื้นที่เข้ากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 17  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

เข้าถึงได้ที่ : “กรีนพีช”เปิดตัวรายงานเสียงแห่งจะนะ ยุทธศาสตร์การพัฒนายั่งยืนระดับพื้นที่ – Songkhla_Focus

วิกฤตความหิวโหยคุกคามสาธารณรัฐชาด เหตุจากขาดเงินทุนช่วยเหลือด้านอาหาร

โครงการอาหารโลก (World Food Program: WFP) เตือนว่าจะหยุดช่วยเหลืออาหารแก่ผู้คน 1.4 ล้านคน รวมถึงผู้ลี้ภัยจากดาร์ฟูร์ของภูมิภาคทางตะวันตกของประเทศซูดาน เนื่องจากความต้องการความช่วยเหลือทั่วโลกเพิ่มขึ้น  ทำให้ขาดแคลนเงินทุนและมีความต้องการด้านมนุษยธรรมมากยิ่งขึ้น  โครงการอาหารโลก จึงต้องหยุดช่วยเหลือด้านอาหารสำหรับผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยในไนจีเรียหลายล้านคน ซึ่งการดำเนินการนี้จะสร้างผลกระทบที่โหดร้ายแก่ผู้คนกว่าหลายล้านคนที่อพยพเข้ามาในสาธารณรัฐชาด อย่างไรก็ดี โครงการอาหารโลก ต้องการเงิน 185 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6 พันล้านบาท) เพื่อสนับสนุนผู้คนในสาธารณรัฐชาดต่อไปอีกครึ่งปี หน่วยงานเผชิญกับวิกฤตการระดมทุนทั่วโลกที่บังคับให้ต้องลดการปันส่วนและปรับปรุงการดำเนินงานในหลายประเทศ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 2 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 2.1 ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573 และ 2.2 ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 และ SDG 17  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.3 ระดมทรัพยากรทางการเงินสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มเติม จากแหล่งที่หลากหลาย

เข้าถึงได้ที่ : Hunger crisis threatens Chad as funding for food aid falters | Global development – The Guardian 

WHO WIPO และ WTO Symposium เน้นย้ำเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพของมนุษย์

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) และองค์การการค้าโลก (WTO) ได้จัดการประชุม Technical Symposium ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ “เผชิญกับอนาคต: สุขภาพของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสำรวจจุดตัดระหว่างด้านสาธารณสุข การค้า และทรัพย์สินทางปัญญา (IP) เพื่อใช้ประโยชน์จากเครื่องมือที่มีอยู่ และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เพื่อจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรชายขอบ ท้ายการประชุมสามารถสรุปการอภิปรายและตั้งข้อสังเกตว่าความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของประเทศสมาชิก มีส่วนสำคัญในการจัดการกับความท้าทายด้านสุขภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.d เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก SDG 13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ และ SDG 17  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่ : WHO, WIPO, WTO Symposium highlights interrelatedness of climate change and human health –  WHO

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version