ไทยพร้อมแค่ไหนในการประชุม COP28 ? สำรวจท่าทีของประเทศไทยก่อนเริ่มการประชุม ‘COP28’ หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (UNFCCC COP28) จัดขึ้น ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ซึ่งการประชุมครั้งนี้ สำหรับประเทศไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนการประชุมร่วมกับผู้นำโลกกว่า 200 ประเทศทั่วโลก เพื่อหารือและวางแนวทางจำกัดอุณภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อแก้ปัญหา “โลกเดือด” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การติดตามเร่งรัดการมุ่งหน้าสู่การใช้แหล่งพลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ได้ก่อนปี 2573
การเข้าร่วมการประชุม COP28 ของประเทศไทย เป็นการแสดงท่าทีเชิงบวกในการให้ความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมขยายโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน เทคโนโลยี วิชาการในการจัดการและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารประสบการณ์การทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานเตรียมการทำงานของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
สำหรับการประชุมรัฐภาคี COP 28 ประเทศไทยเสนอ 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
- การขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่
- เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- กลไกการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุนสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต
- การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ
ข้อเสนอดังกล่าวสะท้อนมาจากผลสำเร็จของการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (TCAC 2023) ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่น และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศร่วมกันของประเทศไทย
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ “การมีส่วนร่วมของไทยในงาน Asia-Pacific Climate Week 2023” หรือ “การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” เป็นการนำเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับการยกระดับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเน้นย้ำควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมถึงการจัดทำข้อริเริ่มต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จนนำไปสู่การดำเนินการจริง ซึ่งล่าสุด Asia-Pacific Climate Week 2023 จัดขึ้น ณ เมืองยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 14 – 17 พฤศจิกายน 2566
โดยมีหน่วยงานของไทยหลายภาคส่วนเข้าร่วมมีบทบาทในงานประชุมครั้งนี้ อาทิ
- สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุได้เข้าร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ในเวที การดำเนินการระหว่างรุ่นเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- นักศึกษาจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวทีปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผ่านการส่งเสริมแนวทางระดับท้องถิ่น
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ชวนจับตา 4 ประเด็นสำคัญการประชุม ‘COP28’ พร้อมสำรวจความกังวลต่อท่าทีเจ้าภาพในการยุติการใช้พลังงานฟอสซิล
– ‘Glasgow Climate Pact’ ข้อตกลงจากการประชุม COP26 ที่ยังคงเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลก ‘1.5°C’ แต่ล้มเหลว ‘ยุติการใช้ถ่านหิน’
– COP 27 ย้ำการปกป้อง ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ เชื่อมโยงกับ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ เป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกออกจากกัน
– กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดออกเอกสารแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและชดเชยทางการเงินให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม อุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการบรรเทาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
แหล่งที่มา :
– COP28 ที่ UAE ใกล้เริ่มแล้ว ส่องท่าทีของไทย เตรียมอะไรไปร่วมถกบนเวทีโลกบ้าง – ฐานเศรษฐกิจ
– ข้อเสนอของไทยในเวที COP28 และการเดิมพันสูงของผู้นำโลก – ฐานเศรษฐกิจ
– ไทยพร้อมร่วมมือ COP28 เสนอ 4 ประเด็นลดโลกเดือด – กรุงเทพธุรกิจ
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย