Site icon SDG Move

WHO เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าฉบับแรกของทศวรรษแห่งการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ ชี้ประเทศทั่วโลกต้องมีฟอรัมด้านสุขภาพผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น

องค์การอนามัยโลกและหุ้นส่วนความร่วมมือขององค์การสหประชาชาติ เผยแพร่ “ายงานความก้าวหน้าฉบับแรกของทศวรรษแห่งการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะแห่งสหประชาชาติ” (UN Decade of Healthy Ageing progress report) ที่มุ่งออกแบบความพยายามในการพัฒนาชีวิตของผู้สูงวัยตั้งแต่ปี 2564 ได้เก็บข้อมูลผลกระทบของความท้าทายที่สำคัญ เช่น โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งคร่าชีวิตผู้สูงวัยกว่า 80% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด นอกจากนี้รายงานยังเน้นย้ำถึงกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของผู้สูงวัยในอีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลก 

รายงานฉบับข้างต้นได้ผลมาจากการสำรวจสอบถามในกว่า 136 ประเทศ โดยเริ่มสำรวจตั้งแต่ปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 ทั้งยังมีการบันทึกพื้นที่ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดโดยเปรียบเทียบกับการสำรวจก่อนหน้าเมื่อปี 2563 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำนวนประเทศที่รายงานประเด็นสำคัญเหล่านี้เพิ่มขึ้นกว่า 20% โดยประเด็นดังกล่าว ได้แก่ กฎหมายต่อต้านการเหยียดวัย กฎหมายสนับสนุนการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ช่วยเหลือของผู้สูงวัย นโยบายระดับชาติเกี่ยวกับการประเมินความต้องการด้านสุขภาพและการดูแลสังคมของประชากรสูงวัยอย่างครอบคลุม และโครงการระดับชาติสำหรับเมืองและชุมชนที่เป็นมิตรต่อวัย

แม้จะมีความคืบหน้านี้ แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีความพยายามเพิ่มเติมมากขึ้น ขณะที่ทศวรรษแห่งการสูงวัย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2564 ถึง 2573 ยังคงดำเนินต่อไป รายงานเน้นย้ำว่าน้อยกว่า 1 ใน 3 ของประเทศต่าง ๆ รายงานว่ามีทรัพยากรเพียงพอที่จะดำเนินการตามหลัก 4 ด้านของทศวรรษแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วย

  1. การเปลี่ยนแปลงความคิด ความรู้สึก และการกระทำของผู้คนเกี่ยวกับผู้สูงวัย
  2. สร้างหลักประกันว่าชุมชนส่งเสริมความสามารถของผู้สูงวัย
  3. การให้บริการการดูแลแบบบูรณาการและบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ยึดบุคคลเป็นศูนย์กลางและตอบสนองต่อผู้สูงวัย 
  4. ให้การเข้าถึงการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงวัยที่ต้องการความช่วยเหลือ

ประเด็นหนึ่งที่ต้องมีความก้าวหน้ามากขึ้น คือการมีฟอรัมหรือคณะกรรมการผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่ายระดับชาติด้านผู้สูงวัยและสุขภาพ ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 7% จาก 67% เป็น 74% นับว่ามีความก้าวหน้าน้อยที่สุดในหลายประเทศที่มีการเน้นย้ำความสำคัญด้านผู้สูงวัยในระดับประเทศขณะที่สัดส่วนของประเทศที่มีนโยบาย กฎหมาย โครงการ และบริการเพื่อสนับสนุนการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีนั้นมีสัดส่วนต่ำกว่าในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้สูงวัยทั่วโลกจะอาศัยอยู่กว่า 80% ในปี 2593 

การเปิดตัวรายงานดังกล่าว Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าวว่า “เราต้องการความมุ่งมั่นทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง เราต้องการการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี เราต้องการผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและการดูแลที่ได้รับการฝึกอบรมและสนับสนุนที่ดีขึ้น และเราต้องการการมีส่วนร่วมที่มีความหมายมากขึ้นของผู้สูงวัยในการตัดสินใจที่สำคัญสำหรับพวกเขา”

เมื่อมองไปข้างหน้า WHO จะยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อสร้างขีดความสามารถระดับชาติในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล การติดตามและประเมินผล การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและผู้ดูแลเพื่อให้การดูแลแบบบูรณาการในระยะยาว การสร้างเมืองและชุมชนที่เป็นมิตรต่อวัยและต่อสู้กับการเหยียดวัย ซึ่งรายงานความก้าวหน้าหน้าฉบับถัดไปจะเผยแพร่ในปี 2569 และรายงานผลกระทบขั้นสุดท้ายจะเผยแพร่ในปี 2572

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รายงานของธนาคารโลก ชี้ไทยจำเป็นต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ เตรียมรับมือการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น 
– ก่อนไปสู่ ‘Healthy Ageing’ ต้องเข้าใจ 10 ความจริงของ ‘การสูงวัย และ สุขภาพ’ 
– ผู้สูงวัยที่รู้สึกโดดเดี่ยวบ่อยครั้งมีแนวโน้มมีอายุที่เหลือ และมีช่วงชีวิตที่สุขภาพดีในบั้นปลายสั้นลง
– UN เผยแพร่ The Global Report on Ageism พบว่า ‘การเหยียดอายุ’ ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ 
– สำรวจนโยบาย ‘บำนาญ’ ของแต่ละประเทศ ในวันที่โลกเผชิญสู่สังคมผู้สูงอายุ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา : United Nations agencies launch first report on the Decade of Healthy Ageing, 2021-2030 (WHO)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

Exit mobile version