จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
กระทรวงดิจิทัลเดินหน้าจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ‘โครงการอบรมการป้องกันความปลอดภัย ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ครั้งที่ 22′ (Cyber Defense Initiative Conference) หรือ CIDC 2023 โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดตั้ง ‘สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่’ หรือ Big Data Institute (Public Organization) ว่ามีเป้าหมายเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป
นายประเสริฐ เผยว่ารัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาบุคคลากรทั้งในระดับประเทศ ระดับหน่วยงาน/องค์กร และระดับบุคคล ในเรื่องทักษะด้านดิจิทัลเพื่อให้มีขีดความสามารถและความพร้อมในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในส่วนนี้ได้มีการริเริ่มกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคลากรภาครัฐเป็นเบื้องต้น
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG9 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.b สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนา
เข้าถึงได้ที่: เดินหน้าตั้ง ‘สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่’ รองรับการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัล (ประชาไท)
รัฐบาลเพิ่มเป้าป่าแปลงใหญ่ หวังลดไฟป่า 50%
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะผู้แทนรัฐบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด หารือร่วมกับภาคประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่น เกี่ยวกับการพัฒนาแนวทางการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พร้อมมอบนโยบาย และตรวจความพร้อมของกำลังพล ยานพาหนะ สำหรับฤดูฝุ่นปีนี้ที่เพิ่งเริ่มต้น
ผลการหารือที่สำคัญคือรัฐบาลรับข้อเสนอภาคประชาชน เพิ่มป่าอมก๋อย จ.ตาก เป็นป่าแปลงใหญ่เป้าหมาย ทำให้จำนวนป่าแปลงใหญ่เป้าหมายในฤดูฝุ่นปีนี้ที่ต้องมีการจัดการเป็นพิเศษ เพื่อลดการเกิดไฟในป่าลง 50% จากปีก่อน รวมเป็น 11 ป่า ขณะที่ภาคประชาชนเสนอ 3 ประเด็นเพื่อให้เกิดรูปธรรมต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น ได้แก่ 1) ถ่ายโอนภารกิจไฟป่า โดยเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ 2) ขับเคลื่อนเรื่องป่าชุมชน โดยเสนอให้ภาคองค์การมหาชน ประชาสังคม เข้ามามีส่วนสนับสนุนอย่างจริงจัง และ 3) ส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่ป่ามีระบบการเกษตรที่ดี มีแหล่งน้ำ มีอาชีพที่ดี ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสามารถควบคุมไฟป่าในพื้นที่แปลงเกษตรได้
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน และ SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.2 ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน
เข้าถึงได้ที่: เพิ่มเป้าป่าแปลงใหญ่ที่ต้องลดไฟ 50% ปีนี้ “ป่าอมก๋อย ตาก” (Green News)
Human Rights Watch ร้องรัฐบาลไทยยุติการผลักดันผู้ลี้ภัยเมียนมากลับประเทศ
Human Rights Watch เปิดเผยว่าช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 รัฐบาลไทยได้ส่งผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากว่าพันคนกลับประเทศ ซึ่งปฏิบัติการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2566 จนล่าสุด Elaine Pearson ผู้อำนวยการ Human Right Watch ภูมิภาคเอเชีย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการส่งกลับผู้ลี้ภัยและสนับสนุนเข้าถึงความคุ้มครองในประเทศไทย
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประเทศไทยอำนวยความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือข้ามพรมแดนแก่ผู้พลัดถิ่นในประเทศเมียนมา และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวในแม่ฮ่องสอนและพื้นที่อื่น ๆ ตามแนวชายแดน รวมถึงการอนุญาตให้ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ดำเนินการกำหนดสถานะผู้ลี้ภัย เนื่องจากการผลักดันกลับอาจถือเป็นการละเมิดพันธกรณีของประเทศไทยในฐานะภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และฝ่าฝืนหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ห้ามการส่งกลับ การบังคับส่งใครก็ตามไปยังสถานที่ซึ่งพวกเขาจะเผชิญกับความเสี่ยงอย่างแท้จริง การประหัตประหาร การทรมาน หรือการปฏิบัติที่โหดร้าย หรือภัยคุกคามต่อชีวิตของพวกเขา
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.7 อำนวยความสะดวกในการโยกย้ายถิ่นฐานและเคลื่อนย้ายของคนให้เป็นระเบียบ ปลอดภัย และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้อง และ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ
เข้าถึงได้ที่: Thailand: Recent Refugees Pushed Back to Myanmar (Human Rights Watch)
COP28 บรรลุข้อตกลงจ่ายชดเชยผลกระทบจากภัยพิบัติสภาพภูมิอากาศ
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุม COP28 ประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมได้บรรลุข้อตกลงช่วยเหลือประเทศยากจนและอ่อนแอที่สุด ในการจ่ายค่าชดเชยจากผลกระทบของภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศ โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเยอรมนีสัญญาว่าจะให้เงินสนับสนุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ แก่กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (loss and damage startup fund) นอกจากนี้ยังมีเงินสนับสนุนจากสหราชอาณาจักร จำนวน 75 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากสหรัฐอเมริกาอีก 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
Christian Aid ยินดีกับการดำเนินการของกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย แต่เตือนว่ายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากเพื่อให้แน่ใจว่าสภาพภูมิอากาศที่เปราะบางจะสามารถเข้าถึงได้ Mariana Paoli หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนองค์กรข้างต้นกล่าวว่า “นี่เป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นในการเจรจาของประเทศกำลังพัฒนาที่ขณะนี้มีกองทุนที่ตกลงและจัดตั้งขึ้นแล้ว”
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ เเละ 13.a ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่ง และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.3 ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา เเละ 17.16 ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม
เข้าถึงได้ที่: Agreement on loss and damage deal reached on first day of Cop28 talks (The Guardian)
เจรจาข้อตกลงพลาสติกโลก ครั้งที่ 3 ไม่สามารถบรรลุในฉบับเดียว หารือต่อในการเจรจาครั้งหน้า
การเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อจัดตั้ง “ข้อตกลงพลาสติกโลก” ครั้งที่ 3 (Intergovernmental Negotiating Committee: INC3) ณ สำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme: UNEP) กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ระหว่างวันที่ 13 – 19 พฤศจิกายน 2566 ไม่สามารถบรรลุผลการหารือได้ในฉบับเดียวได้ และจำเป็นต้องหารือต่อในการประเจรจาครั้งหน้า ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนเมษายน 2567
ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ (Center for International Environmental Law) และองค์กรเครือข่าย ระบุถึงข้อมูลที่น่าสนใจของการประชุมครั้งนี้ เช่น 1) จำนวนผู้เข้าร่วมการประชุม INC-3 ที่มีความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและเคมี สูงขึ้นจากการประชุมครั้งที่แล้ว (INC-2) ถึง 36% 2) คณะผู้แทนจาก 6 ประเทศ มีสมาชิกที่เป็นลอบบี้ยิสต์จากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและอุตสาหกรรมเคมี และ 3) จำนวนลอบบี้ยิสต์จากอุตสาหกรรมทั้งสองรวมกัน สูงกว่าจำนวนผู้แทนจากกลุ่มประเทศเกาะกำลังพัฒนาขนาดเล็กในภูมิภาคแปซิฟิก (Pacific Small Island Developing States) รวมกันกว่าสองเท่า
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573 และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและ 17.16 ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มโดยหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และทรัพยากรทางการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
เข้าถึงได้ที่: Plastic Treaty Negotiators Request Revised Zero Draft for INC-4 (IISD) และ การเจรจาข้อตกลงพลาสติกครั้งที่ 3 (เฟซบุ๊ก EJF)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย