สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
เดินทางมาถึงเดือนสุดท้ายของปี 2023 จดหมายข่าวฉบับนี้ จะมาสรุปประเด็นสำคัญต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในรอบสามเดือนที่ผ่านมาทั้งในไทยและต่างประเทศ และบทสรุปของชุดซีรีส์ “Thailand’s Unsustainable Development Review: 7 ปีผ่านไป ไทยยั่งยืนแค่ไหนในสายตาคุณ” นอกจากนี้ ในครึ่งหลังของปียังมีการประชุมและรายงานสำคัญที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็น SDGs จำนวนมาก โดยเฉพาะการประชุมสำคัญเชิงประเด็นอย่าง “การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28” (UNFCCC COP28) หรือ การประชุม COP28 ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน จนถึง 12 ธันวาคมนี้ จดหมายข่าวฉบับนี้ จึงพยายามฉายภาพรวมของสถานการณ์ ความเคลื่อนไหวในรอบครึ่งหลังของปี พร้อมอัปเดตเรื่องราวสำคัญในรอบ 1 เดือนนี้แบบกระชับเเละแนะนำสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ทุกท่านรอติดตาม
เช่นเคย จดหมายข่าวฉบับนี้ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 4 ส่วน
- Editor’s note: ข้อความจากบรรณาธิการ หยิบยกประเด็นและข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อน SDGs
- Highlight issues : อัปเดตข่าวสาร ความเคลื่อนไหวสำคัญ แนะนำคอลัมน์คัดสรรที่อยากให้ทุกคนอ่าน
- Our Activities : แนะนำกิจกรรมสำคัญที่ SDG Move และเครือข่ายได้ดำเนินการในรอบเดือนที่ผ่านมา
- Upcoming event : แนะนำกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นและอยากชวนทุกคนติดตามกิจกรรมน่าสนใจในแวดวง SDGs ที่กำลังจะเกิดขึ้น
Editor’s note
ภาพรวมครึ่งหลังของปี 2023
เมื่อนำข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs ทั้งในภาพรวมและเชิงประเด็นที่ได้ติดตามตลอด 3 เดือน (เดือนกันยายน – พฤศจิกายน) มาประมวลผลทั้งหมด 143 ข่าว แบ่งเป็นข่าวภายในประเทศ 77 ข่าว ข่าวสถานการณ์ต่างประเทศและนานาชาติ 66 ข่าว ปรากฏจำนวนเป้าหมาย SDGs ที่เกี่ยวข้องรวม 360 ครั้ง (1 ข่าวอาจเกี่ยวกับ SDGs มากกว่า 1 เป้าหมาย) ในจำนวนนี้มาจากข่าวสถานการณ์ภายในประเทศจำนวน 157 ครั้ง และสถานการณ์ระดับนานาชาติจำนวน 203 ครั้ง
ภาพที่ 1 จำนวนเป้าหมาย SDGs ที่พบจากการติดตามข่าวในประเทศไทย
ภาพที่ 2 จำนวนเป้าหมาย SDGs ที่พบจากการติดตามข่าวในระดับนานาชาติ
เมื่อพิจารณาจากการจำแนกเป้าหมาย SDGs ที่พบจากการติดตามข่าวในประเทศและนานาชาติ ยังคงพบว่าในรอบสามเดือนที่ผ่านมา SDG 16 นั้น ยังเป็นประเด็นที่มีจำนวนเป้าหมายมากที่สุดของข่าวสถานการณ์ภายในประเทศสอดคล้องกับการประมวลสถานการณ์ครึ่งแรกของปีที่หน้าข่าวเน้นหนักไปที่ประเด็นปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาการมีส่วนร่วมและการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก ตามมาด้วยประเด็นที่เน้นหนักมาตั้งแต่ครึ่งแรกของปีเช่นเดียวกันอย่าง SDG 3 ประเด็นด้านสุขภาพ ทั้งเรื่องปัญหาสุขภาพจิต การเข้าถึงประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงปัญหาบุหรี่และสารเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา PM2.5 ที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทยที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นว่าเรื่อง PM2.5 นั้นแทบจะไม่หายไปจากหน้าข่าวในช่วงปีที่ผ่านมา ประชาชนต่างเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งเดินหน้า พ.ร.บ. อากาศสะอาด สำหรับสร้างหลักประกันว่าคนไทยจะสามารถกลับมามีสิทธิหายใจในอากาศที่สะอาดได้
ขณะที่สถานการณ์ในระดับนานาชาติรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่าข่าวที่รวบรวมเกี่ยวข้องกับ SDG 17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนา มากที่สุด โดยประเด็นส่วนใหญ่เกี่ยวกับการผลักดันความร่วมมือ การระดมทรัพยากรด้านการเงิน รวมถึงระดมความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนนานาประเทศในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ประเด็นที่มักมาควบคู่กันรองลงมาคือ SDG 13 และ SDG 3 ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือในเชิงประเด็นเกี่ยวกับการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภัยคุกคามจากสภาพภูมิอากาศที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
ภาพที่ 3 จำนวนเป้าหมาย SDGs ที่พบจากการติดตามข่าวในประเทศและนานาชาติ
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในรอบ 3 เดือนครึ่งหลังของปี 2023 นั้นไม่ได้แตกต่างจากครึ่งแรกของปีมากนัก นั่นยิ่งเน้นย้ำว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สร้างผลกระทบต่อเส้นทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในช่วงเวลาที่เหลือ ซึ่งช่วยฉายภาพรวมของสถานการณ์ได้เป็นอย่างดีว่าก่อนครบกำหนดวาระไทยและแม้แต่นานาชาติ ยังมีเป้าหมายหรือประเด็นใดที่ต้องมุ่งเน้นในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในครึ่งทางต่อจากนี้
บทสรุปของ 7 ปีแห่งความท้าทาย
ที่ทำให้ไทยยังต้องเผชิญกับ ‘ความไม่ยั่งยืน’
ตลอดปีนี้นอกจากการติดตามสถานการณ์ข่าวความเคลื่อนไหวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศแล้ว ได้ใช้โอกาสครึ่งทางของการลงมือทำเพื่อจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มองย้อนและทบทวนการดำเนินการความพยายามในช่วงเวลาที่ผ่านมา ค้นหาความท้าทายที่ยังทำให้เกิด “ความไม่ยั่งยืน” ภายใต้ชุดซีรีส์ “Thailand’s Unsustainable Development Review: 7 ปีผ่านไป ไทยยั่งยืนแค่ไหนในสายตาคุณ” พร้อมเผยแพร่เป็น SDG Highlights 2023 โดยได้รวบรวมบทวิเคราะห์เชิงลึกจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยสถานการณ์ “ความไม่ยั่งยืน” ที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งในมิติระบบผลิตอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล มลพิษทางอากาศกับสุขภาพ ความปลอดภัยบนท้องถนน ค่าครองชีพและความยากจน การเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่ประชาชนมองว่าทำให้ประเทศไทยไม่ยั่งยืน เพื่อทำความเข้าใจความซับซ้อนของประเด็นปัญหาเหล่านี้และจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกภาคส่วนร่วมหาหนทางแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน
เผยแพร่แล้ว ! “SDG Highlights 2023: Thailand’s Unsustainable Development Review” ไฮไลต์สถานการณ์สำคัญของ “ความไม่ยั่งยืน” ในประเทศไทย
พร้อมปิดท้ายด้วยบทสรุปสนทนาที่ตั้งคำถามต่อรากฐานความไม่ยั่งยืนที่แท้จริงของประเทศไทย นั้นมีผลมาจากการเสื่อมถอยของธรรมาภิบาล ซึ่งธรรมาภิบาลเป็นหนึ่งในประเด็นภายใต้ SDG 16 สังคมที่สงบสุข ยุติธรรม สถาบันที่เข้มแข็ง ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในแต่ละเป้าหมายอย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากยิ่งที่ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หากไม่ได้ให้ความสำคัญกับการถกสนทนาและถอดรื้อปัญหาความเสื่อมโทรมของธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะหน่วยงานภาควิชาการที่มีภารกิจในการติดตามและสื่อสารประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยจึงกำหนดจัดงานเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ “Broken Governance | ความผุพังของธรรมาภิบาล = รากความไม่ยั่งยืนของไทย” ซึ่งเป็นเวทีสรุปว่าแท้จริงแล้วทำไมประเทศไทยจึงเผชิญกับความไม่ยั่งยืน
SDG Updates | สรุปเสวนา “Broken Governance – ความผุพังของธรรมาภิบาล = รากความไม่ยั่งยืนของไทย”
Highlight issues
จากการติดตามข่าวสารและประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs ทั้งระดับนานาชาติ และประเทศไทย ภายใต้โครงการ SDG Watch ในช่วงเดือนกันยายน จนถึง พฤศจิกายน 2566 พบว่าประเด็นมีข่าวสารที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs อย่างมีนัยยะสำคัญ ดังสรุปได้ ดังนี้
ระดับนานาชาติ
- เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกโต 5% หวั่นความเสี่ยงจาก Climate Change
ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานอัปเดตเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ตุลลาคม 2566 (World Bank East Asia and the Pacific Economic Update October 2023) พบเนื้อหาสำคัญ เช่น 1) เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะขยายตัวที่ 5% 2) การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 5.1% และเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ไม่รวมจีนจะอยู่ที่ 4.6% ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกคาดว่าจะอยู่ที่ 5.2% 3) ปี 2567 เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโตที่ 4.5% และสถานการณ์ภายนอกที่ดีขึ้นจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และ 4) ความเสี่ยงด้านลบที่อาจกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาค ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น และความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว
- COP28 บรรลุข้อตกลงจ่ายชดเชยผลกระทบจากภัยพิบัติสภาพภูมิอากาศ
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุม COP28 ประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมได้บรรลุข้อตกลงช่วยเหลือประเทศยากจนและอ่อนแอที่สุด ในการจ่ายค่าชดเชยจากผลกระทบของภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศ โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเยอรมนีสัญญาว่าจะให้เงินสนับสนุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ แก่กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (loss and damage startup fund) นอกจากนี้ยังมีเงินสนับสนุนจากสหราชอาณาจักร จำนวน 75 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากสหรัฐอเมริกาอีก 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
- กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกหารือยุทธศาสตร์เพื่อจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ( Global Environment Facility Council) จัดการประชุมออนไลน์เพื่อพิจารณายุทธศาสตร์สำหรับการจัดการความรู้และการเรียนรู้ในการจัดการสิ่งแวดล้ม ได้แก่ 1) สนับสนุนและอนุมัติยุทธศาสตร์ พร้อมด้วยเป้าประสงค์และทิศทางของยุทธศาสตร์ 2) สนับสนุนให้เลขาธิการมีส่วนร่วมกับหน่วยงาน นักวิทยาศาสตร์ และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 3) แสดงถึงการสนับสนุนความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งขึ้นกับชนพื้นเมืองและภูมิปัญญาท้องถิ่น และ 4) เน้นย้ำถึงความต้องการในการทำให้ยุทธศาสตร์สอดประสานกับการสนับสนุนเงินทุนจากหน่วยงานภายนอก เช่น กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund)
- ‘สงครามคร่าชีวิตพลเรือนเพิ่มขึ้น 17,000 ราย – เด็กตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพิ่มกว่า 35%’ ชวนสำรวจผ่าน ‘รายงาน SDG 16’ ฉบับใหม่ของ UN
UNDP สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ และ OHCHR เผยแพร่รายงาน ‘SDG 16: A Wake-up Call for Action on Peace, Justice and Inclusion,’ หรือ ‘SDG 16: ความจำเป็นต้องลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงเพื่อการดำเนินการเรื่องสันติภาพ ความยุติธรรม และความครอบคลุม’ วิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดของตัวชี้วัด SDG 16 (ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง) โดยเตือนว่า SDG 16 กำลังเคลื่อนไปในทิศทางที่ผิด และเรียกร้องให้หันกลับมาสนใจแนวโน้มที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมสร้างทางเลือกที่กล้าหาญเพื่อจัดการกับความท้าทายในปัจจุบันที่เร่งด่วนที่สุด เช่น นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักข่าวกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น: นับตั้งแต่ปี 2564 ถึง 2565 มีการฆาตกรรมเพิ่มขึ้น 40% และการบังคับบุคคลให้สูญหายเพิ่มขึ้นเกือบ 300%
อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ
ประเทศไทย
ความเคลื่อนไหวสำคัญของประเทศไทยในรอบเดือนกันยายน จนถึง พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเด็นด้านสุขภาพ และด้านความสงบสุข ยุติธรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs และการดำเนินการที่ส่งผลบวกต่อการขับเคลื่อนในบางประเด็น ดังนี้
- ไทยรั้งอันดับ 82 ‘ดัชนีหลักนิติธรรม’ ปี 2566 – พบคะแนนรายปัจจัยต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยโลกทั้งหมด ยกเว้นปัจจัย ‘ระเบียบและความมั่นคง
กลุ่มนักวิจัย The World Justice Project เผยแพร่ดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ประจำปี 2566 ของ 142 ประเทศทั่วโลก โดยจัดทำจากข้อมูลการสำรวจประสบการณ์และความรับรู้ต่อหลักนิติธรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนมากกว่า 149,000 ครัวเรือน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอีกกว่า 3,400 คน ผลพบว่าประเทศที่มีหลักนิติธรรมเข้มแข็งมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน และเยอรมนี ขณะที่ไทย รั้งอันดับที่ 82 ของโลก ได้คะแนน 0.49 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน โดย 1 คือการมีหลักนิติธรรมเข้มแข็งมากที่สุด และ 0 คือมีหลักนิติธรรมอ่อนแอที่สุด ทั้งนี้ อันดับดังกล่าวถดถอยลงจากปี 2565 ซึ่งได้อันดับที่ 80 ได้คะแนน 0.50 คะแนน
- ชงกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ เข้า ครม. สมัยประชุมหน้า
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานการประชุมเกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองเพศสภาพ การยกเลิกการปราบปรามการค้าประเวณี พร้อมเสนอเป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok World Pride 2028 และส่งเสริมงาน Pride Parade การขยายสิทธิบัตรทองเพื่อคนข้ามเพศ โดยมีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยคาดว่าจะนำเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในที่ 31 ตุลาคมนี้ และจะบรรจุเป็นวาระแรกที่จะเข้าในการเปิดสมัยประชุมสภาฯ ต่อไป ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นประมาณต้นเดือนธันวาคมนี้
- นายกฯ ปาฐกถาที่ประชุม APEC แสดงวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit 2023) ในห้วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Week: AELW) ประจำปี 2566 สาระสำคัญ คือการแสดงวิสัยทัศน์และเสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยเน้นย้ำ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) ด้านความยั่งยืน มุ่งมั่นที่จะต่อยอดด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น 2) ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และ 3) ด้านการค้าและการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุง การเชื่อมต่อทางกายภาพ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสนามบินหลายแห่งทั่วทั้งเขตเศรษฐกิจ
- สธ. ผลักดันวาระแห่งชาติ “ส่งเสริมการมีบุตร” เหตุอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยนั้นลดลงอยู่ในขั้นวิกฤต จากเดิมมีเด็กเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ในช่วงปี 2506 – 2526 แต่ในปี 2564 ลดลงเหลือ 485,085 คน ขณะเดียวกันจำนวนการตาย 550,042 คน กลับมีมากกว่าจำนวนการเกิด ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ไม่มีลูกมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เอื้อต่อการมีลูก และมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มาจากปัญหาด้านสุขภาพ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตรเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยสาระสำคัญที่พิจารณาคือ มาตรการส่งเสริมการมีบุตร ทั้งเรื่อง ความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตรการช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก
อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ
Our Activities
SDG Move รับโล่เชิดชูองค์กรขับเคลื่อนสันติภาพจากหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เนื่องในวันสันติภาพสากล
Upcoming event
ธันวาคมนี้ ขอเชิญชวนเข้าร่วมงานเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2566
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2566 ภายในงาน พบกับ ปาฐกถาพิเศษ: ขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDG Localization) เสวนาสาธารณะ: การขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย “พื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 1” และไฮไลท์การเปิดตัว “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย: มุมมองจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2566” และ “หนังสือเรื่องราวพื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 1
จัดโดย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมเวทีเสวนาที่จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 15.30 – 20.30 น.
ณ โรงแรมเซ็นทราบายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
เปิดตัว‘FUTURE TRENDS AHEAD PRESS & PURPOSE’ รู้เทรนด์อนาคตเพื่อเป็นผู้ชนะของวันพรุ่งนี้
โดยภายในงาน คุณจะได้พบกับ การเปิดตัวหนังสือ Future Trends Ahead : หนังสือที่เจาะลึกทุกกลยุทธ์ของการดำเนินธุรกิจ รวมถึงอัปเดตเทรนด์ใหม่แห่งอนาคตที่คุณไม่ควรพลาด ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ การเมือง เทคโนโลยีและเอไอ การเงินและการลงทุน ความยั่งยืน เทรนด์ผู้บริโภค การตลาด เทรนด์อาชีพในอนคต ความเป็นผู้นำ สุขภาพ รวมทั้ง เมืองและวิถีชีวิต พร้อมกับเวที Future Trends Purpose ร่วมรับฟังจุดมุ่งหมายของหนังสือ Future Trends Ahead จากหลากหลายตัวจริงในวงการ ที่พร้อมมาอัปเดตเทรนด์อนาคต เพื่อให้คุณเป็นผู้ชนะของวันพรุ่งนี้
จัดขึ้นวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ณ Grand Hall, True Digital Park West
ลงทะเบียนเข้างานล่วงหน้าฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่ายได้ ที่นี่
และพิเศษ สำหรับผู้เข้าร่วมงาน 100 ท่านแรก รับฟรีหนังสือ ‘Future Trends Ahead 2024’ หนังสือที่จะเจาะลึกเทรนด์อนาคตแห่งปี 2024 ที่คุณไม่ควรพลาด
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ
Last Updated on ธันวาคม 8, 2023