Site icon SDG Move

Editor’s pick 04 | ประมวลเรื่องราวครึ่งหลังของปี 2023: บทสรุปของ 7 ปีแห่งความท้าทายที่ทำให้ไทยยังต้องเผชิญกับ ‘ความไม่ยั่งยืน’

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

เดินทางมาถึงเดือนสุดท้ายของปี 2023 จดหมายข่าวฉบับนี้ จะมาสรุปประเด็นสำคัญต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในรอบสามเดือนที่ผ่านมาทั้งในไทยและต่างประเทศ และบทสรุปของชุดซีรีส์ “Thailand’s Unsustainable Development Review: 7 ปีผ่านไป ไทยยั่งยืนแค่ไหนในสายตาคุณ” นอกจากนี้ ในครึ่งหลังของปียังมีการประชุมและรายงานสำคัญที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็น SDGs จำนวนมาก โดยเฉพาะการประชุมสำคัญเชิงประเด็นอย่าง “การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28” (UNFCCC COP28) หรือ การประชุม COP28 ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน จนถึง 12 ธันวาคมนี้ จดหมายข่าวฉบับนี้ จึงพยายามฉายภาพรวมของสถานการณ์ ความเคลื่อนไหวในรอบครึ่งหลังของปี พร้อมอัปเดตเรื่องราวสำคัญในรอบ 1 เดือนนี้แบบกระชับเเละแนะนำสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ทุกท่านรอติดตาม 

เช่นเคย จดหมายข่าวฉบับนี้ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 4 ส่วน


Editor’s note

ภาพรวมครึ่งหลังของปี 2023

เมื่อนำข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs ทั้งในภาพรวมและเชิงประเด็นที่ได้ติดตามตลอด 3 เดือน (เดือนกันยายน – พฤศจิกายน) มาประมวลผลทั้งหมด 143 ข่าว แบ่งเป็นข่าวภายในประเทศ 77 ข่าว ข่าวสถานการณ์ต่างประเทศและนานาชาติ 66 ข่าว ปรากฏจำนวนเป้าหมาย SDGs ที่เกี่ยวข้องรวม 360 ครั้ง (1 ข่าวอาจเกี่ยวกับ SDGs มากกว่า 1 เป้าหมาย)  ในจำนวนนี้มาจากข่าวสถานการณ์ภายในประเทศจำนวน  157 ครั้ง และสถานการณ์ระดับนานาชาติจำนวน 203 ครั้ง

ภาพที่ 1 จำนวนเป้าหมาย SDGs ที่พบจากการติดตามข่าวในประเทศไทย

ภาพที่ 2 จำนวนเป้าหมาย SDGs ที่พบจากการติดตามข่าวในระดับนานาชาติ

เมื่อพิจารณาจากการจำแนกเป้าหมาย SDGs ที่พบจากการติดตามข่าวในประเทศและนานาชาติ ยังคงพบว่าในรอบสามเดือนที่ผ่านมา SDG 16 นั้น ยังเป็นประเด็นที่มีจำนวนเป้าหมายมากที่สุดของข่าวสถานการณ์ภายในประเทศสอดคล้องกับการประมวลสถานการณ์ครึ่งแรกของปีที่หน้าข่าวเน้นหนักไปที่ประเด็นปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาการมีส่วนร่วมและการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก ตามมาด้วยประเด็นที่เน้นหนักมาตั้งแต่ครึ่งแรกของปีเช่นเดียวกันอย่าง SDG 3 ประเด็นด้านสุขภาพ ทั้งเรื่องปัญหาสุขภาพจิต การเข้าถึงประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงปัญหาบุหรี่และสารเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา PM2.5 ที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทยที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นว่าเรื่อง PM2.5 นั้นแทบจะไม่หายไปจากหน้าข่าวในช่วงปีที่ผ่านมา ประชาชนต่างเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งเดินหน้า พ.ร.บ. อากาศสะอาด สำหรับสร้างหลักประกันว่าคนไทยจะสามารถกลับมามีสิทธิหายใจในอากาศที่สะอาดได้ 

ขณะที่สถานการณ์ในระดับนานาชาติรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่าข่าวที่รวบรวมเกี่ยวข้องกับ SDG 17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนา มากที่สุด โดยประเด็นส่วนใหญ่เกี่ยวกับการผลักดันความร่วมมือ การระดมทรัพยากรด้านการเงิน รวมถึงระดมความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนนานาประเทศในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ประเด็นที่มักมาควบคู่กันรองลงมาคือ SDG 13 และ SDG 3 ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือในเชิงประเด็นเกี่ยวกับการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภัยคุกคามจากสภาพภูมิอากาศที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา 

ภาพที่ 3 จำนวนเป้าหมาย SDGs ที่พบจากการติดตามข่าวในประเทศและนานาชาติ

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในรอบ 3 เดือนครึ่งหลังของปี 2023 นั้นไม่ได้แตกต่างจากครึ่งแรกของปีมากนัก นั่นยิ่งเน้นย้ำว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สร้างผลกระทบต่อเส้นทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในช่วงเวลาที่เหลือ ซึ่งช่วยฉายภาพรวมของสถานการณ์ได้เป็นอย่างดีว่าก่อนครบกำหนดวาระไทยและแม้แต่นานาชาติ ยังมีเป้าหมายหรือประเด็นใดที่ต้องมุ่งเน้นในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในครึ่งทางต่อจากนี้ 

บทสรุปของ  7 ปีแห่งความท้าทาย
ที่ทำให้ไทยยังต้องเผชิญกับ ‘ความไม่ยั่งยืน’

ตลอดปีนี้นอกจากการติดตามสถานการณ์ข่าวความเคลื่อนไหวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศแล้ว ได้ใช้โอกาสครึ่งทางของการลงมือทำเพื่อจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มองย้อนและทบทวนการดำเนินการความพยายามในช่วงเวลาที่ผ่านมา ค้นหาความท้าทายที่ยังทำให้เกิด “ความไม่ยั่งยืน” ภายใต้ชุดซีรีส์ Thailand’s Unsustainable Development Review: 7 ปีผ่านไป ไทยยั่งยืนแค่ไหนในสายตาคุณ พร้อมเผยแพร่เป็น SDG Highlights 2023 โดยได้รวบรวมบทวิเคราะห์เชิงลึกจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยสถานการณ์ “ความไม่ยั่งยืน” ที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งในมิติระบบผลิตอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล มลพิษทางอากาศกับสุขภาพ ความปลอดภัยบนท้องถนน ค่าครองชีพและความยากจน การเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่ประชาชนมองว่าทำให้ประเทศไทยไม่ยั่งยืน เพื่อทำความเข้าใจความซับซ้อนของประเด็นปัญหาเหล่านี้และจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกภาคส่วนร่วมหาหนทางแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน 

เผยแพร่แล้ว ! “SDG Highlights 2023: Thailand’s Unsustainable Development Review” ไฮไลต์สถานการณ์สำคัญของ​ “ความไม่ยั่งยืน” ในประเทศไทย

พร้อมปิดท้ายด้วยบทสรุปสนทนาที่ตั้งคำถามต่อรากฐานความไม่ยั่งยืนที่แท้จริงของประเทศไทย นั้นมีผลมาจากการเสื่อมถอยของธรรมาภิบาล ซึ่งธรรมาภิบาลเป็นหนึ่งในประเด็นภายใต้ SDG 16 สังคมที่สงบสุข ยุติธรรม สถาบันที่เข้มแข็ง ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในแต่ละเป้าหมายอย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้  จึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากยิ่งที่ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หากไม่ได้ให้ความสำคัญกับการถกสนทนาและถอดรื้อปัญหาความเสื่อมโทรมของธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะหน่วยงานภาควิชาการที่มีภารกิจในการติดตามและสื่อสารประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยจึงกำหนดจัดงานเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ Broken Governance | ความผุพังของธรรมาภิบาล = รากความไม่ยั่งยืนของไทย ซึ่งเป็นเวทีสรุปว่าแท้จริงแล้วทำไมประเทศไทยจึงเผชิญกับความไม่ยั่งยืน

SDG Updates | สรุปเสวนา “Broken Governance – ความผุพังของธรรมาภิบาล = รากความไม่ยั่งยืนของไทย”

Highlight issues

จากการติดตามข่าวสารและประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs ทั้งระดับนานาชาติ และประเทศไทย ภายใต้โครงการ SDG Watch ในช่วงเดือนกันยายน จนถึง พฤศจิกายน 2566 พบว่าประเด็นมีข่าวสารที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs อย่างมีนัยยะสำคัญ ดังสรุปได้ ดังนี้

ระดับนานาชาติ

  1. เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกโต 5% หวั่นความเสี่ยงจาก Climate Change
    ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานอัปเดตเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ตุลลาคม 2566 (World Bank East Asia and the Pacific Economic Update October 2023) พบเนื้อหาสำคัญ เช่น 1) เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะขยายตัวที่ 5% 2) การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 5.1% และเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ไม่รวมจีนจะอยู่ที่ 4.6%  ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกคาดว่าจะอยู่ที่ 5.2% 3) ปี 2567 เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโตที่ 4.5% และสถานการณ์ภายนอกที่ดีขึ้นจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และ 4) ความเสี่ยงด้านลบที่อาจกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาค ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น และความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว 
  1. COP28 บรรลุข้อตกลงจ่ายชดเชยผลกระทบจากภัยพิบัติสภาพภูมิอากาศ
    วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุม COP28 ประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมได้บรรลุข้อตกลงช่วยเหลือประเทศยากจนและอ่อนแอที่สุด ในการจ่ายค่าชดเชยจากผลกระทบของภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศ โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเยอรมนีสัญญาว่าจะให้เงินสนับสนุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ แก่กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (loss and damage startup fund) นอกจากนี้ยังมีเงินสนับสนุนจากสหราชอาณาจักร จำนวน 75 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากสหรัฐอเมริกาอีก 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
  1. กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกหารือยุทธศาสตร์เพื่อจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
    กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ( Global Environment Facility Council) จัดการประชุมออนไลน์เพื่อพิจารณายุทธศาสตร์สำหรับการจัดการความรู้และการเรียนรู้ในการจัดการสิ่งแวดล้ม ได้แก่ 1) สนับสนุนและอนุมัติยุทธศาสตร์ พร้อมด้วยเป้าประสงค์และทิศทางของยุทธศาสตร์ 2) สนับสนุนให้เลขาธิการมีส่วนร่วมกับหน่วยงาน นักวิทยาศาสตร์ และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 3) แสดงถึงการสนับสนุนความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งขึ้นกับชนพื้นเมืองและภูมิปัญญาท้องถิ่น และ 4) เน้นย้ำถึงความต้องการในการทำให้ยุทธศาสตร์สอดประสานกับการสนับสนุนเงินทุนจากหน่วยงานภายนอก เช่น กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund)
  1. ‘สงครามคร่าชีวิตพลเรือนเพิ่มขึ้น 17,000 ราย – เด็กตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพิ่มกว่า 35%’ ชวนสำรวจผ่าน ‘รายงาน SDG 16’ ฉบับใหม่ของ UN
    UNDP สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ และ OHCHR เผยแพร่รายงาน ‘SDG 16: A Wake-up Call for Action on Peace, Justice and Inclusion,’ หรือ ‘SDG 16: ความจำเป็นต้องลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงเพื่อการดำเนินการเรื่องสันติภาพ ความยุติธรรม และความครอบคลุม’ วิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดของตัวชี้วัด SDG 16 (ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง) โดยเตือนว่า SDG 16 กำลังเคลื่อนไปในทิศทางที่ผิด และเรียกร้องให้หันกลับมาสนใจแนวโน้มที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมสร้างทางเลือกที่กล้าหาญเพื่อจัดการกับความท้าทายในปัจจุบันที่เร่งด่วนที่สุด เช่น นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักข่าวกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น: นับตั้งแต่ปี 2564 ถึง 2565 มีการฆาตกรรมเพิ่มขึ้น 40% และการบังคับบุคคลให้สูญหายเพิ่มขึ้นเกือบ 300%

อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ


ประเทศไทย

ความเคลื่อนไหวสำคัญของประเทศไทยในรอบเดือนกันยายน จนถึง พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเด็นด้านสุขภาพ และด้านความสงบสุข ยุติธรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs และการดำเนินการที่ส่งผลบวกต่อการขับเคลื่อนในบางประเด็น ดังนี้


  1. ไทยรั้งอันดับ 82 ‘ดัชนีหลักนิติธรรม’ ปี 2566 – พบคะแนนรายปัจจัยต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยโลกทั้งหมด ยกเว้นปัจจัย ‘ระเบียบและความมั่นคง
    กลุ่มนักวิจัย The World Justice Project เผยแพร่ดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ประจำปี 2566 ของ 142 ประเทศทั่วโลก โดยจัดทำจากข้อมูลการสำรวจประสบการณ์และความรับรู้ต่อหลักนิติธรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนมากกว่า 149,000 ครัวเรือน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอีกกว่า 3,400 คน ผลพบว่าประเทศที่มีหลักนิติธรรมเข้มแข็งมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน และเยอรมนี ขณะที่ไทย รั้งอันดับที่ 82 ของโลก ได้คะแนน 0.49 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน โดย 1 คือการมีหลักนิติธรรมเข้มแข็งมากที่สุด และ 0 คือมีหลักนิติธรรมอ่อนแอที่สุด ทั้งนี้ อันดับดังกล่าวถดถอยลงจากปี 2565 ซึ่งได้อันดับที่ 80 ได้คะแนน 0.50 คะแนน
  1. ชงกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ เข้า ครม. สมัยประชุมหน้า
    นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานการประชุมเกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองเพศสภาพ การยกเลิกการปราบปรามการค้าประเวณี พร้อมเสนอเป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok World Pride 2028 และส่งเสริมงาน Pride Parade การขยายสิทธิบัตรทองเพื่อคนข้ามเพศ โดยมีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยคาดว่าจะนำเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในที่ 31 ตุลาคมนี้ และจะบรรจุเป็นวาระแรกที่จะเข้าในการเปิดสมัยประชุมสภาฯ ต่อไป ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นประมาณต้นเดือนธันวาคมนี้
  1. นายกฯ ปาฐกถาที่ประชุม APEC แสดงวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน 
    นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit 2023) ในห้วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Week: AELW) ประจำปี 2566 สาระสำคัญ คือการแสดงวิสัยทัศน์และเสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยเน้นย้ำ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) ด้านความยั่งยืน มุ่งมั่นที่จะต่อยอดด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น 2) ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และ 3) ด้านการค้าและการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุง การเชื่อมต่อทางกายภาพ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสนามบินหลายแห่งทั่วทั้งเขตเศรษฐกิจ
  1. สธ. ผลักดันวาระแห่งชาติ “ส่งเสริมการมีบุตร” เหตุอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง
    นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยนั้นลดลงอยู่ในขั้นวิกฤต จากเดิมมีเด็กเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ในช่วงปี 2506 – 2526 แต่ในปี  2564 ลดลงเหลือ 485,085 คน ขณะเดียวกันจำนวนการตาย 550,042 คน กลับมีมากกว่าจำนวนการเกิด ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ไม่มีลูกมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เอื้อต่อการมีลูก และมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มาจากปัญหาด้านสุขภาพ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตรเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยสาระสำคัญที่พิจารณาคือ มาตรการส่งเสริมการมีบุตร ทั้งเรื่อง ความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตรการช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก 

อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ

Our Activities

SDG Move รับโล่เชิดชูองค์กรขับเคลื่อนสันติภาพจากหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เนื่องในวันสันติภาพสากล

Upcoming event

ธันวาคมนี้ ขอเชิญชวนเข้าร่วมงานเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2566 

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2566 ภายในงาน พบกับ ปาฐกถาพิเศษ: ขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDG Localization) เสวนาสาธารณะ: การขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย “พื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 1” และไฮไลท์การเปิดตัว “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย: มุมมองจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2566” และ “หนังสือเรื่องราวพื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 1

จัดโดย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมเวทีเสวนาที่จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 15.30 – 20.30 น.
ณ โรงแรมเซ็นทราบายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร


เปิดตัว‘FUTURE TRENDS AHEAD PRESS & PURPOSE’ รู้เทรนด์อนาคตเพื่อเป็นผู้ชนะของวันพรุ่งนี้

โดยภายในงาน คุณจะได้พบกับ การเปิดตัวหนังสือ  Future Trends Ahead : หนังสือที่เจาะลึกทุกกลยุทธ์ของการดำเนินธุรกิจ รวมถึงอัปเดตเทรนด์ใหม่แห่งอนาคตที่คุณไม่ควรพลาด ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ การเมือง เทคโนโลยีและเอไอ การเงินและการลงทุน ความยั่งยืน เทรนด์ผู้บริโภค การตลาด เทรนด์อาชีพในอนคต ความเป็นผู้นำ สุขภาพ รวมทั้ง เมืองและวิถีชีวิต พร้อมกับเวที Future Trends Purpose ร่วมรับฟังจุดมุ่งหมายของหนังสือ Future Trends Ahead จากหลากหลายตัวจริงในวงการ ที่พร้อมมาอัปเดตเทรนด์อนาคต เพื่อให้คุณเป็นผู้ชนะของวันพรุ่งนี้ 

จัดขึ้นวันที่ 13 ธันวาคม  2566 ณ Grand Hall, True Digital Park West 

ลงทะเบียนเข้างานล่วงหน้าฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่ายได้ ที่นี่ 

และพิเศษ สำหรับผู้เข้าร่วมงาน 100 ท่านแรก รับฟรีหนังสือ ‘Future Trends Ahead 2024’ หนังสือที่จะเจาะลึกเทรนด์อนาคตแห่งปี 2024 ที่คุณไม่ควรพลาด


แพรวพรรณ ศิริเลิศ – เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Author

Exit mobile version