SDG Recommends ฉบับนี้ ชวนอ่าน หนังสือ “FUTURE TRENDS AHEAD 2024” ที่ได้รวบรวมรายงานเทรนด์ของปี 2567 ที่จะถึงนี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมว่าโลกจะเกิดแนวโน้มสำคัญในประเด็นใดขึ้น พร้อมปรับตัวและร่วมท้าทายโอกาสใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต ผ่านเนื้อหาของเทรนด์ทั้งหมด จำนวน 11 หมวด ได้แก่ หมวดเศรษฐกิจ การเมืองเทคโนโลยี และ AI การเงินและการลงทุน ความยั่งยืน ผู้บริโภค การตลาด ทักษะอนาคต ผู้นำ สุขภาพ และเมืองกับไลฟ์สไตล์ โดย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีส่วนร่วมให้ภาพรวมของเทรนด์ ‘ความยั่งยืน’ (sustainability) ในหนังสือเล่มนี้
หมวดที่ 5 ระบุถึง 5 เทรนด์สำคัญในปี 2567 ด้าน ‘ความยั่งยืน’ ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาสำคัญในระดับโลก ผ่านการสะท้อนมุมมองอย่างรอบด้านของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เชื่อมโยงกันทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวแต่ล้วนสร้างผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ในทุกมิติ
หมวดที่ 5 ด้านความยั่งยืน มีเนื้อหาที่น่าสนใจ 5 เทรนด์ ดังนี้
- 01 – Climate Change Related Measure การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้อง: ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) มีความรุนแรงและเร่งด่วนอย่างมาก โดยผลกระทบมักเกิดกับประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มคนเปราะบาง เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเข้มข้นที่สุด สหภาพยุโรป (European Union) จึงได้ออกชุดมาตรการที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) คือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน เพื่อกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
- 02 – Just Energy Transition ความท้าทายของ ‘แรงงาน’ ในอนาคต เมื่อก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม: เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) เข้ามาแทนที่พลังงานฟอสซิล ภายในปี 2583 รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาคธุรกิจ ประชาสังคม และประชาชน จึงมีหน้าที่สร้างมาตรการรองรับช่วยทดแทนอัตราการจ้างงานจากอุตสาหกรรมพลังงานเดิมไปสู่พลังงานสะอาด เช่น การให้เวลาและงบประมาณในการสร้างทักษะใหม่
- 03 – Sustainable Food แนวโน้มความมั่นคงด้านอาหาร อธิปไตยทางอาหาร และอาหารอนาคต: ภาคเกษตรกรเริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และภาครัฐพยายามผลักดันให้เกษตรกรเข้าถึงอธิปไตยทางอาหาร เช่น บริการด้านการเงิน การใช้เทคโนโลยีกระตุ้นผลผลิต เพื่อไม่ให้ธุรกิจอาหารถูกผูกขาด รวมถึงมีการพัฒนาสร้างแหล่งโปรตีนทางเลือก เช่น แมลงกว่า 100 สายพันธุ์ เพื่อสร้างการเติบโตทางตลาดโลก
- 04 – Marine Debris Crisis Solution การจัดการขยะพลาสติกในทะเลอย่างยั่งยืน: สร้างการตื่นตัวเรื่องการจัดการขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งปัจจุบันคาดว่าในแต่ละปีมีขยะถูกทิ้งทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 8 ล้านตัน ดังนั้น ภาครัฐ จำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อควบคุมปริมาณการผลิตและการใช้พลาสติก รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ
- 05 – Digital Transformation and Technology การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต: ภาครัฐและองค์กรธุรกิจ ต้องหันมาให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เพราะหากไม่ขยับตัว อาจทำให้การดำเนินงานหยุดชะงัก (disruption) ดังนั้น ภาคส่วนต่าง ๆ จำเป็นต้องวางเป้าหมายธุรกิจให้ชัดในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเสริมความยั่งยืน ขณะที่ ภาครัฐ ต้องปรับตัวเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่มีความโปร่งใส และทำงานรวดเร็ว
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นอย่างไร? เมื่อครึ่งหนึ่งของโลกยังเข้าถึงอินเตอร์เน็ตไม่ได้ และไม่มีกรอบ “global data governance”
– คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับ ‘บริษัทจดทะเบียน’ – เปิดโอกาสทางธุรกิจโดยมี SDGs เป็นหลักคิด
– ‘เกษตรกรรมที่ยั่งยืน’ หัวใจอธิปไตยทางอาหาร พลิกฟื้นติมอร์เลสเต
– SDG Insights | เมื่อค่าไฟถูก ≠ ค่าไฟแฟร์ การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม จึงสำคัญต่ออนาคต
– คุณภาพระบบนิเวศทะเลไทยอาจวิกฤติ หาก “ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล” ยังไม่ถูกจัดการอย่างยั่งยืน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.5) ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมทั้งลดความเสี่ยงและความล่อแหลมต่อภาวะสภาพอากาศผันผวนรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
– (2.4) ทำให้เกิดความมั่นใจในระบบการผลิตอาหารและการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยืดหยุ่น เพื่อเพิ่มผลิตภาพผลผลิตและผลผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งในศักยภาพในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ภูมิอากาศที่เลวร้าย, ความแห้งแล้ง, น้ำท่วม และความเสียหาย และเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและที่ดินอย่างก้าวกระโดด ภายในปี 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 257
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี พ.ศ. 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงการให้มีสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่นำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.1) ดำเนินการให้เป็นผลตามกรอบระยะ 10 ปีของแผนงานว่าด้วยแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ทุกประเทศนำไปปฏิบัติโดยประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำ โดยคำนึงถึงการพัฒนาและขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา
– (12.5) ลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดปริมาณ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี พ.ศ. 2568
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม สถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา: FUTURE TRENDS AHEAD 2024 – futuretrend.co
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย