วันที่ 13 ธันวาคม 2566 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล นำโดย พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ และ ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส. เชียงใหม่ เดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อแถลงข่าวยื่นกฎหมายสิ่งแวดล้อมต่อสภา 4 ฉบับ ประกอบด้วย (1) ร่าง พ.ร.บ.การจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร (2) ร่าง พ.ร.บ. การรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) (3) ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (4) ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน
พูนศักดิ์ ระบุว่า “พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่ดีควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยทั้ง 4 ฉบับเป็นชุดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมชุดแรกที่จะนำเสนอเข้าสู่สภา ตามนโยบายที่พรรคก้าวไกลได้หาเสียงกับประชาชน”
ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 4 ฉบับ มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้
- ร่าง พ.ร.บ.การจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร : มุ่งให้เกิดการบูรณาการด้านการจัดการขยะ โดยเน้นการจำแนกประเภทของขยะตามลักษณะ ได้แก่ ขยะอันตราย ขยะไม่อันตราย และขยะติดเชื้อ อีกทั้งยังมีการนำหลักการ “ลำดับขั้นการจัดการขยะ” (waste hierarchy) มาใช้ โดยแบ่งเป็น 5 ลำดับ คือ 1) การลดการเกิดขยะ (reduce) 2) การใช้ซ้ำ (reuse) 3) การนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) 4) การนำขยะนั้นมาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิง (waste to energy) และ 5) การกำจัด (disposal)
- ร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม : เนื้อหาสำคัญมุ่งให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เช่น ปริมาณสารเคมีหรือมลพิษที่เกิดขึ้น หรือหากต้องนำสารเคมีหรือของเสียไปบำบัดกำจัดภายนอกโรงงานหรือนอกโครงการ ก็ต้องทำรายงานและเปิดเผยต่อสาธารณะ
- ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : มุ่งกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และมีมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากำกับและสนับสนุนอย่างชัดเจน อีกทั้งให้มีการเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
- ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน : มุ่งแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษในเชิงโครงสร้าง โดยให้ผู้ประกอบการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ต้องครอบคลุมทั้งระบบตั้งแต่ต้นสายถึงปลายสาย กล่าวคือต้องมีความโปร่งใสชัดเจนตั้งแต่ว่าการผลิตภัณฑ์หรืออาหารต่าง ๆ มาจากแหล่งใด มีกระบวนการผลิตอย่างไร ที่สำคัญคือมีการปล่อยมลพิษทางอากาศอย่างไรบ้าง
ภัทรพงษ์ กล่าวว่า “การร่างกฎหมายคือขั้นต้นของการแก้ปัญหา PM2.5 ทั้งโครงสร้างผ่านกลไกนิติบัญญัติ ส่วนฝ่ายบริหาร เราต้องตรวจสอบการทำงานอย่างเข้มข้นเช่นกันตามแนวทางฝ่ายค้านเชิงรุก โดยตั้งแต่วันที่รัฐบาลแถลงนโยบายเมื่อ 12 กันยายน 2566 จนถึงวันนี้ ยังไม่เห็นมาตรการใดที่แน่ชัด รวมถึงยังไม่เห็นมาตรการเรื่องการจัดการข้าวโพดอาหารสัตว์ที่นำเข้ามาที่แตกต่างไปจากรัฐบาลเดิม”
น่าจับตามองต่อไปว่าร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ จะถูกผลักดันและได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาให้เป็นกฎหมายได้หรือไม่ แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การผลักดันเพื่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้นแต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงโดยเฉพาะการยกระดับสุขภาพและคุณภาพชีวิตนั่นก็คือคนไทย
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Policy Focus : เลือกตั้ง 66 นโยบายพรรคไหนตอบโจทย์ SDGs ที่สุด
– ‘Closing the Loop’ บริการเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปิดลูปขยะที่จัดการไม่ได้ในแอฟริกา ส่งไปยุโรปให้ช่วยทำแทน
– SDG Insights | ขยะพลาสติกในทะเล: ความพยายามของภูมิภาคอาเซียน
– ผู้ชายมีลูกยากมากขึ้น หนึ่งในสาเหตุที่กระทบต่อฮอร์โมนเพศชายและสเปิร์มมาจากสารเคมีและสารพิษต่อสิ่งแวดล้อม
– SDG Insights | PM 2.5 ภัยคุกคามต่อความไม่ยั่งยืนด้านสุขภาพของคนไทย
– SDG Updates | สภาพความเป็นจริงที่รู้สึกได้ : ความแตกต่างในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคเหนือและภาคใต้
– SDG Insights | (EP.2/2) กว่าจะเป็น “PRTR” – กฎหมายระดับโลกที่นายกรัฐมนตรีเคยปัดตกไป: วิเคราะห์เจาะลึกร่างกฎหมาย PRTR
– SDG Insights | (EP.1/2) ‘กิ่งแก้ว’ จะเป็นอย่างไร? ถ้าตอนนั้นประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR : วิเคราะห์เจาะลึกร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าเเละการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงาน 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี พ.ศ. 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี พ.ศ. 2563
– (12.5) ลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดปริมาณ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และบูรณาการข้อมูลด้านความยั่งยืนไว้ในรอบการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา : ‘ก้าวไกล’ ยื่น 4 กม.สิ่งแวดล้อมเข้าสภา จัดการขยะ-รายงานปล่อยมลพิษ-ฝุ่นพิษและมลพิษข้ามพรมแดน (ประชาไท)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
Last Updated on กุมภาพันธ์ 29, 2024