ปิดฉากลงแล้วสำหรับเวทีการประชุมสำคัญที่ติดตามความเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ‘COP28’ หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ครั้งที่ 28 ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 โดยการประชุม COP28 ครั้งนี้ มีรัฐบาลกว่า 200 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม ซึ่งมุ่งประเด็นไปที่การหารือเกี่ยวกับมาตรการเพื่อรักษาไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม พร้อมเรียกร้องข้อตกลงให้ทุกประเทศลดการใช้ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญที่สร้างผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน
สาระสำคัญที่สรุปได้จากการประชุม COP28 มีรายละเอียด ดังนี้
- การประชุมเน้นย้ำถึงเป้าหมายการรักษาระดับไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และตระหนักว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 43 ภายในปี 2573 และร้อยละ 60 ภายในปี 2578 ซึ่งปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้น
- เรียกร้องให้เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็น 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 2 เท่า ภายในปี 2573
- ประกาศข้อตกลงจัดตั้งกองทุนชดเชยค่าความเสียหายและความสูญเสีย (Loss and Damage Finance Fund) ซึ่งเป็นกองทุนแรกของโลกที่มีเป้าหมายเพื่อจ่ายเงินชดเชยค่าผลกระทบที่ไม่อาจย้อนคืนจากหายนะทางสภาพอากาศ ให้แก่ประเทศยากจนและเปราะบาง
- นานาประเทศสนับสนุนปฏิญญา COP28 UAE เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ (COP28 UAE Declaration on Climate and Health) สำหรับเร่งดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพของผู้คนจากผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น
- ผู้นำกว่า 130 ประเทศได้ลงนามในปฏิญญา COP28 UAE ว่าด้วยการเกษตร อาหาร และสภาพภูมิอากาศ (COP28 UAE Declaration on Agriculture, Food, & Climate) เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารในขณะเดียวกันก็ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ
- Global Cooling Pledge ได้รับการรับรองจาก 66 ประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการทำความเย็นลงอย่างน้อย ร้อยละ 68 ภายในปี 2593
อย่างไรก็ดี แม้จะมีข้อตกลงเรียกร้องให้ลดการใช้พลังงานฟอสซิล แต่ขณะเดียวกันโลกยังคงต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลประมาณ 80% เช่น น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ทำให้การประชุมกลายเป็นสองเสียงว่าฝ่ายหนึ่ง เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา และประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก เป็นต้น รวมกว่า 100 ประเทศ มองว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นตัวการหลักในการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน การจะบรรลุเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกคือ ต้อง ‘เลิก’ ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และให้ระบุข้อตกลงในการประชุมนี้
ขณะที่ ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ออกมาคัดค้าน เช่น ซาอุดีอาระเบีย ประเทศสมาชิกกลุ่ม OPEC+ อิหร่าน อิรักและรัสเซีย เป็นต้น ที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยระบุว่าการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อาจเป็นข้อตกลงที่สุดโต่งเกินไป ทำให้การลงนามในร่างสุดท้าย จึงไม่มีการระบุถึงแผนลดการใช้พลังงานฟอสซิล
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ชวนจับตา 4 ประเด็นสำคัญการประชุม ‘COP28’ พร้อมสำรวจความกังวลต่อท่าทีเจ้าภาพในการยุติการใช้พลังงานฟอสซิล
– ไทยเตรียม 4 ข้อเสนอ ในการประชุม ‘COP 28’ พร้อมร่วมแก้ปัญหาโลกเดือดกับผู้นำโลก
– UN Women เผยภายในปี 2593 ‘ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง’ จะตกอยู่ในความยากจน-ไม่มั่นคงทางอาหาร เหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– ‘Glasgow Climate Pact’ ข้อตกลงจากการประชุม COP26 ที่ยังคงเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลก ‘1.5°C’ แต่ล้มเหลว ‘ยุติการใช้ถ่านหิน’
– กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดออกเอกสารแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและชดเชยทางการเงินให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
– (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการบรรเทาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุนฅ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา :
– COP28 ends with call to ‘transition away’ from fossil fuels; UN’s Guterres says phaseout is inevitable – un news
– Cop28 landmark deal agreed to ‘transition away’ from fossil fuels – theguardian
– ปิดฉากประชุม COP 28 ร่างลงนามสุดท้ายไร้แผนลดใช้พลังงานฟอสซิล – PPTVHD36
– บทสรุปประชุมโลกร้อน COP28 ‘ข้อตกลงที่ไม่ตกลง’ – THE STANDARD
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย