Site icon SDG Move

SDG Spotlight – ส่งท้ายปี 2566 ด้วย 6 ข่าว SDGs ที่น่าสนใจในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  18 – 22 ธันวาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

วันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) เผยว่าเตรียมเคาะแผนปฏิบัติการลดโลกร้อนประเทศพร้อมเป้าชัดเจนภายในปีหน้าและผลักดันร่าง พ.ร.บ. โลกร้อนเข้าคณะรัฐมนตรีในไตรมาสแรก ซึ่งในพรบ. จะมีกลไกสำคัญที่จะสามารถช่วยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายที่กำหนดว่าภายในปี 2578 ประเทศไทยจะตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ผ่านกลไกราคาคาร์บอน (carbon pricing) ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิการปล่อยคาร์บอน ภาษีคาร์บอนสำหรับผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

นอกจากนี้ยังระบุว่าจากภาพรวมการประชุม COP28 เป้าหมายที่ทั้งโลกทำอยู่อย่างการลดโลกร้อน ประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ดี ยังห่างจาก 1.5 องศาเซลเซียล และภายในปีหน้า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จะดำเนินการในรูปแบบใหม่ที่เข้มข้นกว่าเดิม รับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน และสร้างแผนการทำงานของประเทศไทยให้เป็นรูปธรรม จัดตั้งได้ และมีเป้าหมายชัดเจนยิ่งขึ้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 13  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ และ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ และ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ

เข้าถึงได้ที่ : “ขยับใหญ่” ลดโลกร้อนไทยปีหน้า เตรียมเคาะแผนปฎิบัติพร้อมเป้า-พรบ. –  greennews

รัฐเร่งแก้หนี้ในระบบของข้าราชาการ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ จะลดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกินร้อยละ 4.75 จ่ายหนี้ได้ถึงอายุ 75 ปีจากเดิมอายุ 60 ปี คาดเริ่มได้เร็วสุดมกราคม 2567 โดยให้ทุกส่วนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจออกระเบียบหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด ให้มีเงินคงเหลือไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน ขณะที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้ประชุมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์และได้ข้อสรุปว่า จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ โดยจะเริ่มที่สหกรณ์ออมทรัพย์ กำหนดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 4.75% กำหนดจำนวนงวดรายเดือนได้ถึงอายุ 75 ปี จากเดิมอายุ 60 ปี นอกจากนี้ ยังให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ประสานสหกรณ์ออมทรัพย์ กำหนดเพดานดอกเบี้ยและทุนเรือนหุ้นให้เหมาะสม เพื่อนำไปใช้กำหนดศักยภาพในการชำระหนี้และกรอบวงเงินเพิ่มเติม เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้ข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครู 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 8  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573 และ SDG 10  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.4 นำนโยบายโดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า

เข้าถึงได้ที่ : ลดเพดานดอกเบี้ยไม่เกิน 4.75% ช่วยเเก้หนี้ในระบบกลุ่ม ขรก. – Thai PBS News 

องค์กรอนามัยโลก (World Health Organization :WHO) รายงานว่าในปีนี้ มีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกมากกว่า 5 ล้านรายและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,000 รายทั่วโลก และมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกเกือบร้อยละ 80 ในอเมริกา รองลงมาคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตกจากรายงานจำนวนยอดผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบให้เกิดการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งเน้นย้ำถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งปริมาณน้ำฝน ความชื้น และอุณหภูมที่เพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากไม่มีการรักษาโดยเฉพาะสำหรับโรคไข้เลือดออก การตรวจหาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ และการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตจากไข้เลือดออกชนิดรุนแรง นอกจากนี้ เป็นเรื่องน่ากังวลว่าการระบาดของโรคไข้เลือดออก อาจสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงในประเทศที่เปราะบางและประเทศที่เกิดความขัดแย้ง เช่น อัฟกานิสถาน ปากีสถาน ซูดาน โซมาเลีย และเยเมน เป็นต้น 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573 และ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ

เข้าถึงได้ที่ : Dengue spike fuels concerns of public health threat in previously untouched countries: WHO – UN News

สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 สหภาพแรงงานพยาบาล (Global Nurses United :GNU) เรียกร้องรัฐบาลทุกประเทศแก้ปัญหาสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและบริการฉุกเฉินทางการแพทย์ โดยรับประกันว่าโรงพยาบาลจะยังคงดำเนินการได้แม้จะเกิดภัยพิบัติทางภูมิอากาศ  เนื่องจากปัจจุบัน สภาพอากาศเลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลเร่งให้เกิดการแพร่กระจายของโรค มลพิษทางอากาศ พืชผลเสียหาย และการโยกย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากบางพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของมนุษย์

สหภาพแรงงานพยาบาลจากบราซิล บุรุนดี แคนาดา อินเดีย อิตาลี และสหรัฐอเมริกา จึงนำเสนอ “ข้อเสนอของพยาบาลทั่วโลกเพื่อแก้ไขผลกระทบด้านสุขภาพของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรเทาผลกระทบของวิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.c เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก และ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ

เข้าถึงได้ที่ : สหภาพแรงงานพยาบาลเรียกร้องมาตรการรับมือปัญหาสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – ประชาไท 

สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 เปิดประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 โดยมีวาระพิจารณาเรื่องด่วน ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือที่เรียกว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของพรรคก้าวไกล ร่างของภาคประชาชน และอีกร่างที่นำเสนอโดย นายสรรเพชญ บุญญามณีและคณะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งยังไม่ได้บรรจุในระเบียบวาระแต่นำมาพิจารณาในวาระที่ 1 ด้วย โดยในวาระที่ 1 มีมติรับหลักการด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 369 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในวาระที่ 2 จำนวน 39 คน โดยใช้ร่างกฎหมายฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอเป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่ : สมรสเท่าเทียม: สำรวจข้อเหมือน-ข้อต่าง ร่างกฎหมายสมรส LGBTQ+ รัฐบาล-ก้าวไกล-ภาคประชาชน – BBC News 

เกือบ 3 ปี กับรัฐประหารเมียนมา ประธานอาเซียนหมุนเวียนเปลี่ยนกันมาถึงประเทศลาว แต่สถานการณ์กลับแย่ลง ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น เมื่อเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ฝ่ายต่อต้านนำโดยกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มเปิดปฏิบัติการ 1027 และ 1111 ลาวจึงไม่มีอิสระในการแสดงบทบาทในการแก้ไขวิกฤตการณ์เมียนมามากนัก เนื่องจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียนได้มีข้อตกลงสร้างกลไกทรอยก้า (Troika) ซึ่งประกอบด้วยอินโดนีเซีย เเละมาเลเซีย โดยทั้งสองประเทศนี้มีจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องเมียนมาอย่างแข็งกร้าว นอกจากนี้ ลาวยังต้องเผชิญความท้าทายอีกประเด็น คือปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับหลายประเทศ และปัญหาคาบสมุทรเกาหลี ท่าทีต่อการทดลองและใช้อาวุธร้ายแรงของเกาหลีเหนือ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม 

เข้าถึงได้ที่ : สถานการณ์วิกฤติทั่วภูมิภาค คือความท้าทายในมือลาว กับบทบาทประธานอาเซียน – thairath plus

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version