ปี 2566 เป็นอีกปีที่เราและเด็ก ๆ บนโลกต้องเผชิญกับความขัดแย้ง การข่มเหง และการกีดกัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 Jo Becker ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสิทธิเด็กของ Human Rights Watch ได้ระบุถึง 10 ข่าวดีที่เกิดขึ้นสำหรับเด็ก ในปี 2566 เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความก้าวหน้าของความพยายามจัดการกับความท้าทายดังกล่าว
10 ข่าวดีเกิดขึ้นสำหรับเด็ก ในปี 2566 ได้แก่
1) เป็นครั้งแรกที่เด็กผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาทุกช่วงวัยในค่ายผู้ลี้ภัยของบังคลาเทศ สามารถเข้าถึงการศึกษาในระบบ (formal education) ได้ โดยมีเด็กลงทะเบียนเรียนหลักสูตรเมียนมา กว่า 3 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2564 ที่มีเด็กได้ลงทะเบียนเรียนเพียง 1 หมื่นคน
2) รัฐสามรัฐในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ คอนเนทิคัต เวอร์มอนต์ และมิชิแกน ห้ามการแต่งงานในวัยเด็ก ขณะที่รัฐมินนิโซตา นิวเม็กซิโก และอิลินอยส์ ห้ามให้มีโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยปราศจากโทษทัณฑ์บนสำหรับผู้กระทำผิดที่เป็นเด็ก
3) เด็กผู้หญิงในเม็กซิโกสามารถเข้าถึงการทำแท้งได้มากขึ้น เนื่องจากศาลฎีกาของเม็กซิโกมีคำสั่งให้สภาคองเกรสของเม็กซิโกยกเลิกบทลงโทษทางอาญาของรัฐบาลกลางต่อกรณีการทำแท้ง
4) เซียร์ราลีโอน ประกาศใช้กฎหมายการศึกษาที่มีผลในวงกว้าง ได้แก่ การห้ามลงโทษนักเรียนด้วยการทำโทษทางร่างกาย การประกันว่าให้มีการเรียนฟรี 13 ปี และการปกป้องสิทธิของนักเรียนที่ตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตร รวมถึงนักเรียนที่มีความพิการ
5) ออสเตรเลียและกายอานารับรองปฏิญญา “โรงเรียนปลอดภัย” ส่งผลให้ปัจจุบันมี 118 ประเทศที่มุ่งมั่นปกป้องโรงเรียน ครู และนักเรียน ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการทหาร
6) อิรักลงนามในแผนปฏิบัติการกับองค์การสหประชาชาติเพื่อป้องกันการเกณฑ์และใช้เด็กเป็นทหารโดยกองกำลังระดมประชาชน (Popular Mobilization Forces) ซึ่งเป็นกองกำลังพันธมิตรของรัฐบาลอิรักที่เคยใช้เด็กต่อสู้กับกองกำลังรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย (Islamic State of Iraq and Syria: ISIS)
7) ผู้เจรจาของสหภาพยุโรปเห็นพ้องกับเนื้อหาของกฎหมายใหม่ที่จะกำหนดให้บริษัทต่าง ๆ จัดการกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท รวมถึงการใช้แรงงานเด็กและการละเมิดสิทธิเด็กในทางอื่น ๆ
8) คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติได้ออกแนวปฏิบัติทางการ โดยอาศัยข้อมูลจากเด็กกว่า 16,000 คน ใน 121 ประเทศ ซึ่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับพันธะของรัฐบาลในการปกป้องสิทธิเด็กเมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤติสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
9) บราซิล อินเดีย และสหรัฐอเมริกาดำเนินการเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ของนักเรียนหลายคน ด้วยการลบการติดตามของโฆษณาออกจากเว็บไซต์การเรียนรู้ สั่งการตรวจสอบความปลอดภัย และคัดกรองแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้ข้อมูลของเด็กเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่การศึกษา
10) บัลแกเรีย สโลวาเกีย แอฟริกาใต้ และเปรูได้ทำลายคลังยุทโธปกรณ์ ที่ทำร้ายและคร่าชีวิตเด็ก ๆ โดยมีรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (Convention on Cluster Munitions: CCM) ที่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีของตนในการทำลายคลังอาวุธร้ายแรง
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความก้าวหน้าในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเด็กมากขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก แต่ในปี 2567 ที่กำลังจะถึง ก็ยังมีประเด็นอีกมากมายที่รัฐบาลและหน่วยงานอื่น ๆ จะต้องเดินหน้าหารือและแก้ไข เพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่และปลอดภัยแก่เด็กทุกคน
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– สำรวจนโยบาย ‘ส่งเสริมการมีลูก’ ของแต่ละประเทศ สาเหตุใดสถิติเด็กเกิดใหม่น้อยลง
– UN Women เผยภายในปี 2593 ‘ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง’ จะตกอยู่ในความยากจน-ไม่มั่นคงทางอาหาร เหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– ‘สงครามคร่าชีวิตพลเรือนเพิ่มขึ้น 17,000 ราย – เด็กตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพิ่มกว่า 35%’ ชวนสำรวจผ่าน ‘รายงาน SDG 16’ ฉบับใหม่ของ UN
– ยูเนสโก เผยปัจจุบันมีเด็กกว่า 250 ล้านคน ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา – เร่งมือในการบรรลุ SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– ผู้นำโลกทุ่มเงินบริจาคกว่า 826 ล้านดอลลาร์ฯ แก่ ‘กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน’ – เพื่อช่วยเหลือเด็กทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่ยืดเยื้อ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.1) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี พ.ศ. 2573
– (4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา ภายในปี พ.ศ. 2573
– (4.3) สร้างหลักประกันให้ชายและหญิงทุกคนเข้าถึงการศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถจ่ายได้ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (4.5) ขจัดความเหลี่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.3) ขจัดแนวปฏิบัติที่เป็นภัยทุกรูปแบบ อาทิ การแต่งงานในเด็กก่อนวัยอันควรและโดยการบังคับ และการทำลายอวัยวะเพศหญิง
#SDG8 งานที่มีคุณค่าเเละการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.7) ดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที เพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ ยุติความเป็นทาสสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ และยับยั้งและกำจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งรวมถึงการเกณฑ์และการใช้ทหารเด็ก และภายในปี พ.ศ. 2568 ยุติการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
– (16.b) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา : 10 Good News Stories for Kids in 2023 Despite a Difficult Year, Children’s Rights Made Progress (Human Rights Watch)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย