เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารโลก (World Bank: WB) เผยแพร่ “รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย : เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย – บทบาทของการกำหนดราคาคาร์บอน” (Thailand Economic Monitor: Thailand’s Pathway to Carbon Neutrality: The Role of Carbon Pricing) ได้คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 3.2 ในปี 2567 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่าการกำหนดราคาคาร์บอน ไม่ว่าจะผ่านภาษีคาร์บอนหรือระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมหรือราคาคาร์บอนที่สูงมากเพื่อลดการปล่อยก๊าซ
รายงานข้างต้นมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ เช่น
- ในปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว โดยเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 3.2 ในปี 2567 เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่มั่นคง
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.1 ในปี 2567 ด้วยสาเหตุจากราคาพลังงานที่ลดลงและการขยายมาตรการการอุดหนุนด้านพลังงาน ขณะที่ราคาอาหารและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะเพิ่มขึ้น
- การกลับมาของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากประเทศจีน ส่งผลต่อแนวโน้มการท่องเที่ยว แม้ว่าการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่คาดว่าในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 35.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของระดับก่อนการแพร่ระบาดในปี 2562
- หากโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท (5 แสนล้านบาท หรือราวร้อยละ 2.7 ของ GDP) เปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 2567 คาดว่าการเติบโตจะเพิ่มสูงกว่าการคาดการณ์พื้นฐานอีกร้อยละ 0.5 – 1.0 ในช่วงระยะเวลา 2 ปี และการขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4 – 5 ของ GDP ใกล้ระดับเฉลี่ยในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ หากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ประเทศไทยอาจเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งเนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานสูง ดังนั้น การก้าวไปสู่เส้นทางการเติบโตเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำอาจช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ผ่านการกำหนดราคาคาร์บอน การยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล ร่วมกับนโยบายเสริมอื่น ๆ สามารถใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
โดยประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30 ภายในปี 2573 ซึ่งประเทศไทยกำลังดำเนินการขั้นแรกเพื่อใช้การกำหนดราคาคาร์บอนอย่างครอบคลุม หรือ ทำให้เกิดต้นทุนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนไม่สนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งการกำหนดราคาคาร์บอนสองรูปแบบหลักคือ ภาษีคาร์บอน และระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading Systems – ETS) โดยเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รายงานเศรษฐกิจไทยปี 2566 การท่องเที่ยวกลับมาเติบโตอีกครั้ง – แต่ยังต้องรับมือกับความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้ง
– World Bank เผยปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ยังน่าห่วงเผชิญภาวะหยุดชะงัก – พร้อมชี้เศรษฐกิจหมุนเวียนคือหนึ่งในทางออก
– รายงานของธนาคารโลก ชี้ไทยจำเป็นต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ เตรียมรับมือการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
แหล่งที่มา : รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ธันวาคม 2566 เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย – worldbank
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย