องค์กรสมาพันธ์เกณฑ์มาตรฐานโลก (World Benchmarking Alliance : WBA) เผยแพร่รายงานผลสำรวจความเท่าเทียมทางเพศในบริษัทขนาดใหญ่ โดยชี้ว่าแม้ปัจจุบันผู้หญิงจะเข้าถึงบทบาทการเป็นผู้นำมากขึ้น แต่บริษัทจำนวนมากยังมีหนทางอีกยาวไกลในการสร้างหลักประกันความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน
รายงานดังกล่าวชี้ว่าบริษัททรงอิทธิพลของโลกมากกว่า 1,000 บริษัท มีภาพลักษณ์ที่น่าห่วงกังวลเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ โดยพบว่าผู้หญิงไม่มีบทบาทในตำแหน่งผู้นำและข้อกังวลของพวกเธอมักถูกมองข้ามและไม่ได้รับการรับฟัง นอกจากนี้มีบริษัทจำนวนไม่มากที่ดำเนินการเพื่อป้องกันความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงาน
ข้อค้นพบอื่น ๆ ที่ปรากฏในรายงานข้างต้น เช่น
- จากการสำรวจพบว่ามีเพียง 3 บริษัทเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสมดุลทางเพศในตำแหน่งผู้นำทุกระดับ ขณะที่อีกกว่า 130 บริษัท รายงานว่าไม่มีผู้หญิงครองตำแหน่งผู้นำสูงสุด
- ผู้หญิงทั่วโลกมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายโดยเฉลี่ยร้อยละ 17 โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ อัตราการเลื่อนตำแหน่งที่ต่ำกว่า และผู้หญิงเข้าถึงการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นโดยจ่ายค่าจ้างต่อชั่วโมงน้อยกว่างานเต็มเวลา
- บริษัทเพียงร้อยละ 3.5 เท่านั้นที่เผยแพร่รายละเอียดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศตามหมวดหมู่ของพนักงาน
- การแพร่ระบาดของโควิด-19 เผยให้เห็นว่าผู้หญิงทั่วโลกต้องแบกรับแรงกดดันจากการทำงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างอย่างไร รวมถึงผลกระทบจากการเจ็บป่วยและความแก่ชรา โดยพบว่าผู้หญิงใช้เวลา 4 ชั่วโมงครึ่งในแต่ละวันไปกับการทำงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง
- การลางานที่ยังได้รับค่าจ้างสามารถช่วยให้ผู้หญิงยังคงอยู่ในงานได้ โดย ILO สนับสนุนให้ผู้หญิงลาคลอดได้อย่างน้อย 14 สัปดาห์ เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูทารกที่เพิ่งคลอดได้ ซึ่ง 120 ประเทศทั่วโลกมีกฎหมายที่สอดคล้องกับคำแนะนำดังกล่าว อย่างไรก็ดีมีอีกกว่า 64 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศโลกใต้ ที่ยังห่างไกลจากการให้ผู้หญิงลาคลอดได้อย่างเต็มที่
- พบว่ามากกว่า 1 ใน 5 ของคนทำงานทั่วโลกเผชิญกับกับประสบการณ์ความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงาน โดย WBA ชี้ว่านโยบายการสั่งห้ามนั้นไม่เพียงพอ บริษัทจำเป็นต้องสร้างหลักประกันว่าการทำร้ายร่างกายจะต้องได้รับการป้องกัน รายงาน และแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ
- WBA ชี้ว่าบริษัททั้งหลายจำเป็นต้องเพิ่มการดำเนินการให้ผู้หญิงเข้าร่วมในโปรแกรมการพัฒนาการทำงานและจัดการเรื่องการเลือกปฏิบัติพร้อมทั้งสร้างสมดุลในการทำงาน
ขณะที่ งานวิจัยของแมคเคนซี่ในปี 2562 เปิดเผยว่า การมีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงสามารถเพิ่มกำไรและมูลค่าหุ้นให้บริษัทได้สูงสุดถึง 50% ส่วน Development Dimensions International ชี้ว่าองค์กรที่มีความหลากหลายทางเพศสูงกว่าค่าเฉลี่ย มีแนวโน้มที่จะอยู่ในกลุ่ม 10% แรกของบริษัทที่มีผลประกอบการสูงสุดถึง 8 เท่า ในปีศักราชใหม่นี้ จึงเป็นโจทย์ให้บริษัททั่วโลกทบทวนนโยบายและการดำเนินการเชิงปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน ซึ่งไม่เพียงเป็นประโยชน์แก่คนทุกเพศเท่านั้นแต่ยังส่งผลดีต่อบริษัทด้วยเช่นกัน
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ILOSTAT เผยปี 2566 ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศยังคงสูง-แม้วุฒิการศึกษาเท่ากัน แต่ผู้หญิงก็ได้ค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย
– หลายประเทศระบุให้ ‘เปิดเผยค่าจ้าง’ แต่ละตำแหน่ง เพื่อความชัดเจนและโปร่งใส – หนึ่งในวิธีลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศสภาพ
– Global Gender Gap Report 2023 ชี้อีก 131 ปี กว่าโลกจะมีความเท่าเทียมทางเพศ – ส่วนไทยติดอันดับที่ 74 ในการประเมินดัชนี
– การบังคับใช้กฎหมาย ‘ความเท่าเทียมระหว่างเพศ’ ตามบริบทของประเทศไทยเป็นอย่างไร ชวนค้นหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘ผศ. สาวตรี สุขศรี’
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การแสวงประโยชน์ทั้งทางเพศ และในรูปแบบอื่น
– (5.4) ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดให้มีบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
แหล่งที่มา : Big companies making ‘dismal’ progress on gender equality: report (Eco-Business)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย