Site icon SDG Move

SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 1 ประจำเดือนมกราคม 2567

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  28 ธันวาคม 2566 – 5 มกราคม 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

วันที่ 1 มกราคม 2567 พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่ากระทรวงอุตสาหกรรม จะบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์ขนาดใหญ่ ได้แก่ รถกระบะ รถบัส และรถบรรทุก ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล โดยได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาต มอก. ได้ทันตามกรอบเวลาการบังคับใช้มาตรฐาน

การบังคับใช้มาตรฐานยูโรมีเป้าหมายสำคัญ คือการแก้มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศในระยะยาว ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ควบคู่กับการรักษาความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน และ SDG9 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.4 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เเละ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่นๆ ภายในปี 2573

เข้าถึงได้ที่: ย้ำพร้อมบังคับใช้ ‘มาตรฐานยูโร 5’ 1 ม.ค. 67 (ประชาไท) 

วันที่ 28 ธันวาคม 2566 นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต เชิญชวนคนไทยตรวจสุขภาพใจต้อนรับปีใหม่ 2567 ผ่านทาง MENTAL HEALTH CHECK IN [MHCI] หรือ www.วัดใจ.com เพื่อค้นหาความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ความเครียด และภาวะหมดไฟ 

ขณะที่ นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตแนะนำ 5 ข้อควรทำสำหรับการเดินทางในช่วงเทศกาล ได้แก่ 1) เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนออกเดินทาง 2) วางแผนและศึกษาเส้นทางก่อนออกเดินทาง 3) หากมีโรคประจำตัว หรือต้องรับประทานยา ไม่ว่าจะเป็นทั้งโรคทางกาย หรือโรคทางจิตเวช ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนเดินทางควรเตรียมยาให้เพียงพอ 4) เมื่อต้องขับรถหรือนั่งรถเป็นเวลานาน ควรหยุดพักเป็นระยะ ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย และ 5) หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช้สารเสพติดทั้งก่อนและระหว่างเดินทาง 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิต และ 3.6 ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง

เข้าถึงได้ที่: กรมสุขภาพจิต เชิญชวนคนไทย ตรวจสอบสุขภาพใจ ต้อนรับปีใหม่ 2567 (The Reporter) 

วันที่ 3 มกราคม 2567 ฝ่ายสื่อสารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รายงานถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล 30 บาทอัปเกรด “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” รวมทั้งเห็นชอบกรอบงบประมาณสำหรับการขยายประเภทบริการนวัตกรรมจาก 4 ประเภทเป็น 8 ประเภทในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง คือ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และ นราธิวาส รวมวงเงินจำนวน 366.57 ล้านบาท

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายของหลักการดังกล่าวประกอบด้วย 1) คงรายการและรูปแบบการจ่ายแบบเดิม สำหรับรายการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ (OP anywhere) 2) เน้นการจัดระบบเพื่อควบคุมการบริหารการเบิกจ่ายให้มีประสิทธิภาพ ในหน่วยบริการและรายการบริการที่มีอยู่ และ 3) เพิ่มการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ทำงานร่วมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) หน่วยบริการ และ สปสช.เขต โดยให้ สสจ. และ สสอ. มีบทบาทเป็นหน่วยกำกับดูแล

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.8 บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ

เข้าถึงได้ที่: บอร์ด สปสช. เคาะ 366 ล้านบาท ให้โครงการใช้บัตร ปชช.ใบเดียว รักษาทุกที่ ใน 4 จังหวัดนำร่อง (ประชาไท) 

วันที่ 4 มกราคม 2567 เป็นวันที่สองของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล อภิปรายปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 โดยชี้ว่าการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ไม่สะท้อนถึงภาวะวิกฤติฝุ่นที่ประชาชนเผชิญอยู่ พร้อมเสนอให้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยโมเดล “ตึก 5 ชั้น” โดยมีกฎหมายเป็น ชั้นฐานราก ซึ่งทำผ่านกลไกสภาได้ 

ภัทรพงษ์ ยังอภิปรายถึงการจัดงบของตึกอีก 4 ชั้น สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1) ชั้น 1 สาธารณสุข : จัดงบไม่สะท้อนความรุนแรงของปัญหา 2) ชั้น 2 ไฟเกษตร : เห็นแต่การพูด ไม่มีการปฏิบัติ 3) ชั้น 3 ไฟป่า : งบกระจุกส่วนกลาง ไม่กระจายท้องถิ่น และ 4) ชั้น 4 การแจ้งเตือนและการเก็บข้อมูล: งบวิ่งตามเทคโนโลยีไม่ทัน ติดขัดขั้นปฏิบัติ ชั้น 5 ศูนย์บัญชาการ : งบคลุมเครือ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย 

เข้าถึงได้ที่: ก้าวไกลวิจารณ์จัดงบไม่สะท้อนปัญหา PM2.5 ทั้งที่ประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” (BBC News ไทย) 

วันที่ 1 มกราคม 2567 ประเทศญี่ปุ่นเผชิญกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว แมกนิจูด 7.6 เขย่าจังหวัดอิชิคาวะ ทางตอนกลางของประเทศ ส่งผลให้ถนนหลายสายเกิดรอยแตกร้าว อาคารบ้านเรือนพังถล่มและได้รับความเสียหายหลายหลัง อีกทั้งอิทธิพลของแผ่นดินไหวยังทำให้เกิดคลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งตามมาในหลายเมืองด้วยกัน โดยข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 4 มกราคม 2567 พบผู้เสียชีวิต 78 คน อาคารพังถล่มอย่างน้อย 200 แห่ง ประชาชนกว่า 33,000 คนต้องอพยพ และราว 100,000 ครัวเรือน ไม่มีน้ำหรือไฟฟ้าใช้

น่าสนใจว่าระบบป้องกันภัยและแจ้งเตือนแผ่นดินไหวค่อนข้างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม โดย พรพิณ เลียบทวี คนไทยญี่ปุ่นเปิดเผยกับ PPTV ว่า โทรศัพท์ทุกเครื่องจะได้รับ Emergency Alert แจ้งเตือนสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อให้ทุกคนเตรียมตัวได้ทัน ไม่ว่าโทรศัพท์เครื่องนั้นจะใส่ซิมของญี่ปุ่นอยู่หรือไม่ ขอแค่มีสัญญาณก็จะได้รับการแจ้งเตือนเช่นกัน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.5 ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนลดความสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจเทียบเคียงกับ GDP ของโลก ที่เกิดจากภัยพิบัติ เเละ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ เเละ 13.3 พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า

เข้าถึงได้ที่: ญี่ปุ่นสูญเสียแค่ไหนจากแผ่นดินไหวตอนกลางของประเทศ (The Standard) และ สุดปัง! แผ่นดินไหว-สึนามิญี่ปุ่น แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวเป็นภาษาไทย (PPTV Online)

สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews ชวนสำรวจสถานการณ์และแนวโน้มปัญหา “อาคารสูงในซอยแคบ” ในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านกรณี “ชุมชนประดิพัทธ์ 21 และ 23” พบบ้านเรือนประชาชนมีรอยร้าว เผชิญกับฝุ่นและมลภาวะทางเสียง การจราจรเป็นไปอย่างลำบาก ขณะที่การดับเพลิงแทบทำไม่ได้เนื่องจากมีพื้นที่น้อย แม้จะมีกฎหมายควบคุมแต่ก็ยังมีการฝ่าฝืน เช่น สร้างตึกสูงในซอยกว้างไม่ถึง 6 เมตร ได้ใบอนุญาตก่อสร้างชั่วคราวแม้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ยังไม่ผ่าน และแม้จะมีการร้องเรียนหรือฟ้องร้องก็ยังหวังผลได้ เช่น ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ เปิดเผยประสบการณ์ตรงของตนว่า “หลังจากได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเนื่องจากโครงการไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่ระบุไว้ในอีไอเอ ตนได้ร้องเรียนไปยัง ศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ กรุงเทพมหานคร 1555 แต่ไม่ได้รับการตอบรับ จนต้องยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการไปยังสำนักงานเขตพญาไท เจ้าหน้าที่ถึงจะเข้ามาดูแลให้โครงการฯ ปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบตามที่ระบุไว้” 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.1 สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่เพียงพอ ปลอดภัย และ 11.3 ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน   

เข้าถึงได้ที่: ส่องสถานการณ์วิกฤต “อาคารสูง–ซอยแคบ” กทม. ที่ส่อพุ่งหลังผังเมืองใหม่ (GreenNews) 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

Exit mobile version