โลกจะเผชิญกับความแตกแยกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการแบ่งขั้วทางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งการแข่งขันกันของฝ่ายอำนาจปานกลางและมหาอำนาจ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เผยแพร่ รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2567 (Global Risks Report 2024) ได้ระบุถึง ความเสี่ยงจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วในทศวรรษหน้า และการแบ่งขั้วทางสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโลก ขณะที่เรื่อง ‘ข้อมูลที่ผิดและข้อมูลบิดเบือน’ (misinformation and disinformation) ก็ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในระยะสั้นหรือช่วง 2 ปีข้างหน้า รวมถึงประเด็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2567 นำเสนอผลจากการเก็บข้อมูลผ่านการสำรวจ Global Risks Perception Survey (GRPS) ปี 2566 – 2567 โดยได้สำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนที่มีต่อความเสี่ยงโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น (2 ปี) และความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในระยะยาว (10 ปี) และเพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงโลก World Economic Forum จึงได้วิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงผ่าน 5 มิติ ประกอบด้วย มิติเศรษฐกิจ (economic) มิติสังคม (societal) มิติสิ่งแวดล้อม (environmental) มิติภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical) และมิติเทคโนโลยี (technological)
เนื้อหารายงานการสำรวจในปี 2566 – 2567 มีประเด็นสำคัญโดยสรุป ดังนี้
- ความเสี่ยงมิติเทคโนโลยี “ข้อมูลที่ผิดและข้อมูลบิดเบือน” จัดเป็นอันดับ 1 ของความเสี่ยงโลกที่มีโอกาสเกิดความเสี่ยงรุนแรงที่สุดในอีก 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งใหม่ในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในบังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ปากีสถาน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ทำให้อาจมีการนำข้อมูลเท็จหรือการบิดเบือนข้อมูล มาใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีรัฐบาลใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้ง การก่อความไม่สงบ และการประท้วง เป็นต้น
- ความเสี่ยงมิติสิ่งแวดล้อม ถูกจัดอันดับเป็นความเสี่ยงโลกที่มีแนวโน้มจะรุนแรงในระยะยาว อีก 10 ปีข้างหน้า ถึง 5 อันดับ จาก 10 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1 ความเสี่ยงจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว อันดับ 2 การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อระบบโลก ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ถูกจัดอันดับเข้ามาใหม่ในปีนี้ อันดับ 3 ความเสี่ยงจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ (biodiversity loss and ecosystem collapse) อันดับ 4 การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ และ อันดับ 10 มลพิษในอากาศ น้ำ ดิน
- วิกฤตค่าครองชีพยังคงเป็นความเสี่ยงในมิติเศรษฐกิจที่น่ากังวลในปี 2567 ซึ่งมีแนวโน้มความเสี่ยงจะรุนแรงในอีก 2 ปี โดยถูกจัดอยู่ในความเสี่ยง อันดับ 7 ประเด็นเงินเฟ้อ และอันดับ 9 การตกต่ำทางเศรษฐกิจ ขณะที่ ความเสี่ยงในมิติภูมิรัฐศาสตร์ เรื่อง ความขัดแย้งระหว่างประเทศระดับที่ใช้กำลังทหาร อาจส่งผลให้เกิดปัญหาอันใกล้อย่างการแทรกแซงระหว่างประเทศ เช่น สงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงความขัดแย้งภายในรัฐที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากการแบ่งขั้วทางสังคมและการเมืองในปัจจุบัน
- ความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber insecurity) ถูกจัดเป็นความเสี่ยงโลกในมิติเทคโนโลยี ทั้งในระยะสั้น (อันดับ 4) และระยะยาว (อันดับ 8) เนื่องจากการผนวกกันระหว่างอาชญากรรมทางไซเบอร์และอาชญากรรมรุนแรง (violent crime) ที่เกิดขึ้นในบางภูมิภาค ตามข้อมูลองค์การสหประชาชาติ ที่ได้รายงานในปี 2566 ว่ามีผู้คนอย่างน้อย 220,000 ราย ถูกค้ามนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถูกบังคับให้ทำงานเพื่อหลอกลวงผู้คนผ่านโลกออนไลน์
จากรายงานข้างต้น ความเสี่ยงในประเด็นต่าง ๆ ทั้งความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคม ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น รวมถึงปัจจุบันเทคโนโลยีก็ได้เข้ามามีผลในชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจของโลกมากยิ่งขึ้นขณะเดียวกันความเสี่ยงจากเทคโนโลยีก็กลับสะท้อนความน่ากังวลอย่างชัดเจนผ่านรายงานแนวโน้มในปัจจุบัน ดังนั้น จากความเสี่ยงโลกที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องกลับมาทบทวนและมองหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและปลอดภัยในระยะยาว
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– World Economic Forum เผยเเพร่รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 ชี้วิกฤตค่าครองชีพมีความเสี่ยงอันดับหนึ่ง
– SDG Updates | เปิดรายงานความเสี่ยง 2020 – โลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
– SDG Updates | เมื่อความเสี่ยงหลักของทศวรรษคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – สรุปประเด็นสำคัญในรายงาน Global Risks Report 2022
– SDG Updates | เสริมภูมิคุ้มกันให้ประเทศไทย ผ่านกลไกการประกันและการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยง
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ภายในปี 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งในปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
– (8.10) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันทางการเงินภายในประเทศเพื่อส่งเสริมและขยายการเข้าถึงการธนาคาร การประกัน และบริการทางการเงินแก่ทุกคน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงการกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา:
– Global Risks Report 2024: Risks are growing, but there’s hope – World Economic Forum
– Global Risks 2024: At a turning point – Global Risks Report 2024 – World Economic Forum
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย