จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 13 – 19 มกราคม 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
ผู้เชี่ยวชาญชี้โรงไฟฟ้า – โรงกลั่น – อุตสาหกรรม แหล่งมลพิษสำคัญปัญหาฝุ่นกรุงเทพฯ
วันที่ 18 มกราคม 2567 ในเวทีเสวนา “ปัญหาฝุ่น กทม.มีสาเหตุใหญ่กว่าที่คาด” ซึ่งจัดโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) Thai Climate Justice for ALL (TCJA) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และกรีนพีซประเทศไทย (Greenpeace Thailand) เผยข้อมูลว่า โรงไฟฟ้า 3 แห่ง และโรงกลั่น ปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์สู่ชั้นบรรยากาศกว่า 9 แสนตัน และกำลังจะขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งฝุ่นอุตสาหกรรมเป็นอีกแหล่งกำเนิดหลักที่เกิดจากการเผาไหม้ในกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ความร้อน โดยจะเกี่ยวข้องกับวัตถุดิบที่ใช้และส่วนมากเป็นสารเคมีอันตราย เสี่ยงต่อสุขภาพ จึงให้ข้อเสนอ 5 มาตรการระยะสั้นและ 6 มาตรการระยะยาว เพื่อจัดการกับปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้น
ขณะที่สถานการณฺ์ฝุ่นค่าฝุ่นในพื้นที่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ยังอยู่ระดับเริ่มมีผลต่อสุขภาพและแนวโน้มแย่มาติดต่อกันหลายสัปดาห์ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ว่าทิศลมจะหอบมลพิษขึ้นเหนือก่อนลมหนาวจะกลับมาแรงอีกระลอกและลดฝุ่นลงอีกครั้ง
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน และ SDG9 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.4 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
เข้าถึงได้ที่ : เผย “โรงไฟฟ้า-โรงกลั่น-อุตสาหกรรม แหล่งมลพิษสำคัญฝุ่นกรุง” – greennews
สส. ก้าวไกล ยื่นร่าง พ.ร.บ.คุกคามทางเพศ เข้าสภาเพิ่มนิยามและมาตรการความปลอดภัย
สส.พรรคก้าวไกล นำโดย ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ เอกราช อุดมอำนวย สส.กรุงเทพฯ เขต 10 และ ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ แถลงข่าวยื่นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ.คุกคามทางเพศ เข้าสภาซึ่งแต่เดิมมีการบัญญัติบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดเป็นลหุโทษหรือโทษเล็กน้อย จึงเสนอเพิ่มนิยามคำว่า ‘คุกคามทางเพศ’ ว่าหมายถึงอะไร และกำหนดมาตรการเพิ่มความปลอดภัยของประชาชน ‘คำสั่งงดเว้นกระทำการ’ หมายความว่าถ้าบุคคลใดถูกศาลฟ้องร้อง ศาลมีอำนาจสั่งให้บุคคลที่คุกคามหรือผู้ถูกฟ้อง ต้องแยกพื้นที่ออกจากผู้ถูกคุกคาม และงดเว้นการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมาย หวังเป็นจุดเริ่มต้นใช้กระบวนการกฎหมายที่มีมาตรฐานแก้ปัญหาคุกคามทางเพศ
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุหรือสถานะอื่น ๆ และ 10.3 สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมาย
เข้าถึงได้ที่ : ‘ก้าวไกล’ ยื่นร่าง พ.ร.บ.คุกคามทางเพศ เข้าสภา เพิ่มนิยาม-กำหนดมาตรการเพิ่มความปลอดภัย – ประชาไท
เครือข่ายฯ เสนอ สธ. แก้นิยาม “สันทนาการ” ในร่าง พ.ร.บ.กัญชา ให้มีความชัดเจน
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดรับฟังความเห็น ร่าง พระราชบัญญัติกัญชา ครั้งแรก โดยเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ขอแก้นิยามการใช้แบบสันทนาการ เนื่องจากนิยามคำว่าสันทนาการระบุในกฎหมายว่า ‘การกระทำเพื่อความบันเทิง รื่นรมย์ไม่ว่ากระทำคนเดียวหรือหลายคน’ นิยามนี้มีปัญหาอย่างยิ่งเพราะว่าการนำสารกัญชาเข้าร่างกายประกอบด้วย การหยดน้ำมัน การกิน การสูบ และยังมีวิธีอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าหากสูบกัญชาอยู่มวนหนึ่ง ใครจะเป็นผู้วินิจฉัยว่า มวนนั้นคือยารักษาท้องอืด ซึ่งกระทบต่อผู้บริโภค แนะเขียนมาตรการคุ้มครองผู้ไม่ใช้กัญชาออกมาให้ชัด ต่างจากพระราชบัญญัติกัญชารอบที่แล้ว ที่ระบุชัดเจนว่า การสูบนั้นมีควันอันเป็นเหตุก่อความรำคาญแก่ผู้อื่น จึงห้ามสูบในสถานที่สาธารณะ อย่างไรก็ดี การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวมีทั้งในรูปแบบ On site และ On Line ซึ่งจะมีการแสดงความคิดเห็นตามรายมาตราเพื่อสรุปเป็นประเด็น โดยสามารถเข้าแสดงความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.dtam.moph.go.th
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.5 เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิดรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย
เข้าถึงได้ที่ : จี้ สธ. แก้นิยาม “สันทนาการ” ในร่าง พ.ร.บ.กัญชา ก่อน ชง ครม. – The Active
UNICEF รายงานเด็กมากกว่า 450,000 คน ในยุโรปและเอเชียกลางอาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์
องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund : UNICEF) หรือยูนิเซฟ รายงานว่าเด็กมากกว่า 450,000 คนอาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์ทั่วยุโรปและเอเชียกลาง ซึ่งเด็กเหล่านั้นที่ต้องอาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์ ต้องประสบกับปัญหามากมาย ทั้งการต่อสู้และดิ้นรนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับนับตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ และโดยเฉพาะเด็กที่มาอาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์ตั้งแต่อายุยังน้อย ยังประสบกับความบกพร่องทางสติปัญญา ความล่าช้าทางภาษาและพัฒนาการอื่น ๆ หรือต้องเผชิญกับความรู้สึกโดดเดี่ยว ดังนั้น ยูนิเซฟ จึงได้เรียกร้องให้เพิ่มทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการระบุตัวตนและการแทรกแซงเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะต้องมาอยู่ในสถานสงเคราะห์ตั้งแต่เนิ่น ๆ พร้อมให้บริการสนับสนุนครอบครัว เพื่อป้องกันการแยกจากครอบครัวโดยไม่จำเป็น รวมถึงสนับสนุนการอุปถัมภ์อย่างมีคุณภาพมากขึ้น สำหรับเด็กที่ต้องการการคุ้มครอง
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 4 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 4.2 สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย ที่มีคุณภาพ SDG 10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย และ SDG 17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.3 ระดมทรัพยากรทางการเงินสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มเติม จากแหล่งที่หลากหลาย
เข้าถึงได้ที่ : Over 450,000 children institutionalized across Europe, Central Asia – UN News
UNEP ร่วมกับ โรตารีสากล ดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู แหล่งน้ำจืด
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และโรตารีสากล (Rotary International) ได้ตกลงทำงานร่วมกันเพื่อป้องกัน ทำความสะอาด และฟื้นฟูแหล่งน้ำจืด ซึ่งโรตารีสากลเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่ร่วมดำเนินการสอดคล้องกับเป้าหมายของ SDG 6 น้ำสะอาดและสุขาภิบาล ตลอดจนพันธกิจด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน สภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนประเทศและชุมชนในการติดตาม ปกป้อง ฟื้นฟู และจัดการระบบนิเวศน้ำจืดให้ดีขึ้น รวมถึงทะเลสาบ แม่น้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดิน (ground water aquifers) ซึ่งเป็นการนำแนวทางการแก้ปัญหาตามชุมชนของโรตารีและความเชี่ยวชาญทางเทคนิคของ UNEP มาร่วมกันเพื่อปกป้อง ฟื้นฟู และรักษาระบบนิเวศน้ำจืด อย่างไรก็ดี โรตารีสากลเป็นเครือข่ายระดับโลกที่มีสมาชิก 1.4 ล้านคน และสโมสรอินเทอร์แรคท์ในชุมชน 45,000 แห่ง ซึ่งเป็นองค์กรที่มีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในเจ็ดประเด็นที่มุ่งเน้นสำคัญ จึงนับว่าความร่วมมือครั้งนี้เป็นความร่วมมือด้านน้ำครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 6 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 6.6 ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ รวมถึงภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำ และทะเลสาบ ภายในปี พ.ศ. 2563 และ 6.b สนับสนุนและเพิ่มความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาการจัดการน้ำและสุขาภิบาล
เข้าถึงได้ที่ : UNEP, Rotary International Partner to Conserve, Restore Freshwater Bodies – IISD
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย