รายงานข้อมูลประชากรโลกปี 2566 ชี้ ‘Climate Change’ มีผลต่ออัตราการตายทั่วโลก  – ขณะที่ไทยจะมีประชากรในปี 2593 น้อยกว่าปัจจุบัน 8 ล้านคน

ข้อมูลจากเอกสารข้อมูลประชากรโลก ฉบับปี 2566  (World Population Data Sheet 2023) โดยสำนักงานอ้างอิงประชากร (Population Reference Bureau: PRB) เผยว่าลักษณะประชากร เช่น อายุ เพศ สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนบางกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น น้ำท่วมซ้ำซาก การหยุดชะงักของกระบวนการผลิตอาหาร และโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดความเสียหาย ที่ล้วนเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงานฉบับดังกล่าวระบุข้อค้นพบสำคัญว่าในปัจจุบัน มีประชากรโลกมากกว่า 8 พันล้านคน แต่ภายในปี 2593 คาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 9.8 พันล้านคน ขณะที่ ประชากรของยุโรปตะวันออก คาดว่าจะลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2593 ขณะเดียวกันคาดว่าในแอฟริกาจะมีส่วนในการเพิ่มขึ้นหรือการเติบโตของจำนวนประชากรโลก นับตั้งแต่ปัจจุบันถึงปี 2593 อยู่ที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ 

นอกจากนี้ ยังเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจในปีนี้ว่าพบผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons: IDPs) จำนวนกว่า 8.7 ล้านคน เหตุจากภัยพิบัติตามที่คาดการณ์ไว้ ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นประชากรประเทศปากีสถานมากกว่า 1 ล้านคน ไนจีเรีย 854,000 คน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก 283,000 คน ขณะที่ ผลสำรวจทั่วโลกพบว่าร้อยละ 69 ของผู้ที่อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ (LICs) ต้องเผชิญกับผลกระทบจากความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับปานกลางถึงรุนแรง ซึ่งคิดเป็นสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน 89 % อัฟกานิสถาน  79 % เบนิน 74 % และเยเมน 67 % 

รวมถึงยังได้ระบุว่าค่าเฉลี่ยที่แสดงถึงการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของอัตราการเสียชีวิตต่อปี ระหว่างปี 2583 ถึง 2602 พบว่าการเสียชีวิตต่อ 100,000 คน นั้นเกิดจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องด้วยอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละประเทศ 

เอกสารข้อมูลปีนี้มีข้อค้นพบสำคัญเพิ่มเติม ได้แก่

  • ภายในปี 2593 คาดว่าประเทศรัสเซีย จะมีประชากรลดลงเหลือ 133 ล้านคน จากปัจจุบันที่มีประชากรถึง 147 ล้านคน
  • ประเทศไนเจอร์ คาดว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นจาก 27 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 67 ล้านคน ภายในปี 2593 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 146 เปอร์เซ็นต์
  • สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ประชากรอาจเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า ภายในปี 2593 จากปัจจุบันที่มีประชากรมากกว่า 102 ล้านคน เป็น 217 กว่าล้านคน
  • ในปัจจุบันประเทศจีน มีประชากรจำนวน 1.4 พันล้านคน แต่คาดว่า ภายในปี 2593 ประชากรจะลดลงเหลือ 1.3 พันล้านคน ซึ่งที่ผ่านมาจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกจนในปี 2566 ที่จำนวนประชากรของอินเดียได้เพิ่มขึ้นแซงหน้าประเทศจีนไป
  • ภูมิภาคที่มีผู้สูงวัยมากที่สุด คือยุโรปตะวันตกและยุโรปใต้ โดยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึง 21 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ภูมิภาคที่มีเด็กและเยาวชนมากที่สุด คือแอฟริกาใต้สะฮารา (sub-Saharan Africa) โดยประชากรอายุน้อยกว่า 15 ปีมีมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์
  • นอกจากนี้ รายงานยังได้แสดงข้อมูลอัตราการเจริญพันธุ์ (fertility rate) โดยรวมของทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 2.2 ลดลงจากในปี 2565 ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีอัตราการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในระดับภูมิภาค 

สำหรับประเทศไทย พบว่าในปี 2566 มีจำนวนประชากร อยู่ที่ 66.0 ล้านคน มีอัตราการเจริญพันธุ์และการตายอยู่ที่ 7 และ 9 ต่อประชากร 1,000 คน และเนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง อาจส่งผลให้ประชากรทั้งหมดในประเทศไทย ลดลงเหลือ 57.9 ล้านคน ภายในปี 2593

ดังนั้น เพื่อจัดการกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งภาวะโลกร้อน อุทกภัย หรือความไม่คงทางอาหาร ที่จะสร้างผลกระทบต่อจำนวนประชากรโลกในอนาคต จากการคาดการณ์ดังกล่าว อาจเป็นส่วนกระตุ้นให้ภาคส่วนต่าง ๆ สนับสนุนแนวทางการจัดการและการตั้งรับปรับตัว เพื่อรับมือและหาแนวทางลดอัตราการตาย เพิ่มอัตราการเกิด พร้อมรักษาสมดุลในการดำรงชีวิตให้แก่ทุกคนในโลกได้ต่อไป

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกําลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ จำแนกตามรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความพิการ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563

แหล่งที่มา : World Population Data Sheet 2023 Supports Climate Resilience – IISD 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น