จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 21 – 26 มกราคม 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
Rocket Media Lab เผยแพร่ข้อมูลการประท้วงของไรเดอร์ในรอบ 5 ปี
Rocket Media Lab เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการประท้วงของไรเดอร์ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผ่านการรวบรวมข้อมูลในช่วงปี 2562 – 2566 เพื่อดูว่าไรเดอร์ประท้วงเรื่องอะไร แพลตฟอร์มไหนมีการประท้วงมากที่สุด และการประท้วงสำเร็จหรือไม่
ผลสำรวจที่น่าสนใจ เช่น 1) ระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2566 พบว่ามีการประท้วงของไรเดอร์เกิดขึ้นทั้งหมด 113 ครั้ง แบ่งเป็นปี 2562 จำนวน 4 ครั้ง ปี 2563 จำนวน 6 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 45 ครั้ง ปี 2565 จำนวน 42 ครั้ง และปี 2566 จำนวน 16 ครั้ง 2) ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ของไรเดอร์จากการประท้วง ทั้ง 113 ครั้ง เป็นเรื่องค่ารอบและค่าตอบแทนมากที่สุด จำนวน 93 ครั้ง รองลงมาคือระบบรับงานและการจ่ายงาน จำนวน 42 ครั้ง ตามมาด้วยสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน จำนวน 15 ครั้ง และ 3) 5 ปีที่ผ่านมามีการปรับค่ารอบถึง 17 ครั้ง แบ่งออกเป็น ปี 2562 จำนวน 2 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 5 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 4 ครั้ง และปี 2566 จำนวน 6 ครั้ง โดยเป็นการลดค่ารอบถึง 15 ครั้ง พบว่าแกร็บฟู้ดเป็นแพลตฟอร์มที่มีการปรับลดค่ารอบมากที่สุดถึง 6 ครั้ง
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่า และ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย
เข้าถึงได้ที่: Rocket Media Lab : 5 ปีไรเดอร์ไทย ต้องต่อสู้กับแพลตฟอร์มเรื่องใดบ้าง (ประชาไท)
แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมฯ เผยผลประเมินธนาคารไทย
วันที่ 25 มกราคม 2567 แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท ป่าสาละ จำกัด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และ International Rivers จัดทำการประเมินนโยบายของธนาคารไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) ได้เผยแพร่ผลประเมินธนาคารไทยประจำปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ 6 ชี้ธนาคารไทยให้ความสำคัญกับการประเมินมากขึ้น
ผลการประเมินธนาคาร ปี 2566 ธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (39.20%) ธนาคารกสิกรไทย (33.14%) ธนาคารกรุงไทย (30.79%) ธนาคารไทยพาณิชย์ (29.85%) และ ธนาคารกรุงเทพ (29.49%) โดยธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 4 อันดับแรก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากผลการประเมินปี 2565 ขณะที่ธนาคารกรุงเทพขยับจากอันดับ 6 มาเป็นอันดับ 5 แทนที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (27.64%)
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.10 เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันทางการเงินภายในประเทศ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
เข้าถึงได้ที่: Fair Finance Thailand เปิดผลการประเมิน ESG ปี 66 จ่อจัดวงคุยธนาคารไทยเกี่ยวอะไรกับเรื่องสิทธิมนุษยชน (ประชาไท)
องค์การอนามัยโลกแนะควรให้ทารกดื่มนมแม่ใน 6 เดือนแรก
องค์การอนามัยโลกเผยแพร่คำแนะนำเกี่ยวกับการให้นมทารก ชี้ว่าทารกควรรับประทานนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ควรให้การสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคมที่จำเป็นเพื่อให้คุณแม่มือใหม่สามารถให้นมลูกเพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกได้ และหลังจากพ้นช่วงเวลา 6 เดือนดังกล่าวไปแล้ว ก็สามารถให้นมวัว นมแพะ หรือนมอื่น ๆ แก่ทารกได้
นอกจากนี้ยังเปิดเผยอีกว่า “สารทดแทนนมแม่” หรือที่เรียกกันอีกในชื่อหนึ่งว่า “นมผงสำหรับทารก” กำลังถูกใช้ในการรณรงค์เพื่อการตลาดในลักษณะ “แสวงหาผลประโยชน์”
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG2 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 2.1 ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ เเละ SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.2 ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
เข้าถึงได้ที่: องค์การอนามัยโลกเผย ทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือน ควรทานนมแม่เท่านั้น (BBC Thai)
UNEP เผยแพร่ร่างข้อตกลงพลาสติกโลกร่างฉบับแก้ไข
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme: UNEP) ได้เผยแพร่ร่างเอกสารฉบับแก้ไขเกี่ยวกับข้อตกลที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยมลพิษจากขยะพลาสติก รวมถึงสภาพแวดล้อมทางทะเล
ร่างเอกสารดังกล่าวประกอบด้วยเนื้อหาทั้งสิ้น 6 ส่วน ได้แก่ 1) ส่วนนำ 2) รายละเอียดเกี่ยวกับพลาสติกประเภทต่าง ๆ 3) การจัดหาเงินทุน การสร้างขีดความสามารถ และการช่วยเหลือทางเทคโนโลยี 4) การดำเนินการระดับชาติและแผนการปฏิบัติ ติดตามผล 5) หน่วยงานในอนาคตที่จะกำกับดูแลการปฏิบัติตามข้อตกลง และ 6)ภาคผนวก
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย และ SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.1 ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ เเละ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เเละ 17.16 ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เข้าถึงได้ที่: UNGA President Outlines Priorities for Resumed 78th Session (IISD)
Crea เปิดเผย สหภาพยุโรปปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำสุดในรอบ 60 ปี
สถาบันวิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด (Centre for Research on Energy and Clean Air: Crea) เปิดเผยว่าสหภาพยุโรปปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2566 น้อยลงถึง 8% เมื่อเทียบกับปี 2565 นับว่าเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระดับต่ำสุดในรอบ 60 ปี
นอกจากนี้ ยังชี้ว่าถึงสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงว่ามาจากการใช้ไฟฟ้าที่สะอาดมากขึ้น โดยพบว่าสหภาพยุโรปสร้างและใช้แผงโซลาร์เซลและกังหันลมในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 และสามารถผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้มากขึ้น
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ และ 13.3 พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เข้าถึงได้ที่: EU fossil fuel CO2 emissions hit 60-year low (The Guardian)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย