Site icon SDG Move

ILO เผยมาตรการ ‘ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย’  สำคัญต่อการป้องกันความรุนแรง และการคุกคามในการทำงาน

ปัจจุบัน ในแต่ละปีมีคนทำงานเกือบ 3 ล้านคนทั่วโลก เสียชีวิตจากอุบัติเหตุและโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนความท้าทายในการปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน รายงานฉบับใหม่ Preventing and addressing violence and harassment in the world of work through occupational safety and health measuresโดย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ออกมาเน้นย้ำถึงการใช้กรอบงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Occupational Safety and Health : OSH) ในการทำงาน สำหรับแก้ไขรากของปัญหาความรุนแรงและการคุกคาม รวมถึงส่งเสริมการดำเนินการร่วมกันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น

มาตรการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความครอบคลุม แนวทางบูรณาการและตอบสนองต่อบทบาททางเพศในการป้องกัน ขจัดความรุนแรง และการคุกคามในโลกการทำงาน ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าว พบว่ามากกว่า 1 ใน 5 คน เคยเผชิญกับความรุนแรงและการคุกคามในการจ้างงาน ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นในสถานที่ทำงานทุกประเภท รวมถึงอาจเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง การเดินทางที่เกี่ยวข้องกับงาน การทำกิจกรรม การสื่อสารทางดิจิทัล กิจกรรมทางสังคม หรือแม้แต่ในโฮมออฟฟิศที่เป็นพื้นที่ภายในบ้าน 

รายงานเน้นย้ำต่อว่ากรอบงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ช่วยให้จัดการกับสาเหตุหลักของความรุนแรงและการคุกคามในการทำงาน โดยจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการทำงาน เช่น การจัดการงานที่ไม่เพียงพอ ทำให้ต้องทำคนเดียว หรือแม้แต่สภาพการทำงานที่ทำให้เกิดความเครียดสูงจนนำไปสู่การสร้างความรุนแรงและการคุกคามในการทำงาน ซึ่งกรอบงานดังกล่าว ได้ดำเนินการบนฐานของความร่วมมือในสถานที่ทำงานและการเจรจาทางสังคม ซึ่งได้ระดมนายจ้างและคนงานร่วมมือกันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปราศจากความรุนแรงและการคุกคาม 

นอกจากนี้ จากการศึกษาใน 25 ประเทศ พบว่าประมาณ 2 ใน 3 ของบทบัญญัติกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวกับความรุนแรงและการคุกคามในสถานที่ทำงานนั้น มีอยู่ในกฎหมายและข้อบังคับด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ส่วนนโยบายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ก็มีรายละเอียดมากขึ้นในการวางโครงร่างกลยุทธ์ด้านการป้องกันและการกำหนดความรับผิดชอบของนายจ้างและลูกจ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับกฎระเบียบอื่น ๆ โดยในอเมริกา ยุโรป และเอเชียกลาง พบว่าบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความรุนแรงและการคุกคามส่วนใหญ่รวมอยู่ในกฎหมายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ถูกบังคับใช้ ขณะที่ ในเอเชียแปซิฟิกและรัฐอาหรับ มุ่งเน้นไปที่การจัดการกับการคุกคามทางเพศ (sexual harassment) ผ่านกรอบกฎหมายที่ได้กำหนดเป้าหมายไว้

อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการดำเนินการเพื่อรับมือกับความรุนแรงและการคุกคาม รวมถึงการดำเนินการเพื่อประเมินความเสี่ยงในสถานที่ทำงานที่จะเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของความมุ่งมั่นระหว่างประเทศในการรับรองสิทธิในสถานที่ทำงานโดยปราศจากความรุนแรงและการคุกคาม เพราะสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับแรงงานทุกคน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย

แหล่งที่มา: 
OSH measures key to prevent violence and harassment in the world of work, says ILO report – International Labour Organization (ILO)
ILO เผยคนทำงานเกือบ 3 ล้านคน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุและโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน –  Prachatai

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืน

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version