จบไปแล้วกับคอนเสิร์ตMusic of the Spheres World Tour เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ราชมังคลากีฬาสถาน ของวง ‘Coldplay’ วงดนตรีระดับโลกจากประเทศอังกฤษ ตำนานเจ้าของ 7 รางวัลแกรมมี่ (Grammy Awards) และ 9 บริตอะวอดส์ (BRIT Awards)
ขณะที่แฟนเพลงส่วนใหญ่ต่างมีความสุขไปกับบทเพลงต่าง ๆ น้อยคนนักจะรู้ว่าคอนเสิร์ตและการแสดงสดเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน (global warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เป็นจำนวนมาก โดย Tyndall Centre for Climate Research ได้รายงานข้อมูลว่า คอนเสิร์ตและการแสดงสดก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 405,000 ตันต่อปี
แม้จะเป็นวงดนตรีที่มอบความสุขให้กับแฟน ๆ ผ่านเสียงเพลงแล้ว Coldplay ยังมีความตั้งใจที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำของวงการเพลงโลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดทัวร์คอนเสิร์ตที่ยั่งยืนและไม่เป็นภาระต่อโลก โดยในปี 2562 วง Coldplay ได้ตัดสินใจระงับการทัวร์คอนเสิร์ตและโปรโมตอัลบั้ม Everyday Life เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งวง Coldplay ได้ให้เหตุผลว่าพวกเขาจะใช้เวลานี้ในการค้นหาวิธีที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการจัดทัวร์คอนเสิร์ต พร้อมทั้งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม
ดังนั้น เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 วง Coldplay ได้ประกาศ ว่าทางวงจะมีการจัดคอนเสิร์ตทั่วโลกเพื่อสนับสนุนอัลบั้ม Music of the Spheres ซึ่งเป็นอัลบั้มชุดที่เก้าของทางวง ในปี 2565 ถึง 2567 หลังมีการลดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
Coldplay จึงได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในทัวร์ Music of the Spheres อีกทั้งยังมีการร่วมมือกับบริษัทเอกชน เช่น บริษัทผลิตยานยนต์ของประเทศเยอรมนี (BMW) พัฒนาแบตเตอรี่สำหรับจัดแสดงแบบชาร์จไฟได้ ทำจากแบตเตอรี่ BMW i3 ที่รีไซเคิลได้ ขณะเดียวกันทางวงยังสนับสนุนองค์กรเพื่อสังคม อาทิ J Van Mars Foundation, ClientEarth และ Global Citizen นอกจากนี้ ทางวงยังได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการจาก Grantham Institute ของ Imperial College London ในการวัดผลกระทบของทัวร์ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หน้าเว็บไซต์ Coldplay’s Music of the Spheres World Tour
โดยในเว็บไซต์ของทางวงให้ข้อมูลว่า “Coldplay” กำลังทำให้ Music Of The Spheres Tour เป็นทัวร์ที่ยั่งยืนและปล่อยคาร์บอนต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยยึดตามหลักการสำคัญ 3 ข้อ ดังนี้
- ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ลง 50%
- สนับสนุนเทคโนโลยีสีเขียวใหม่ๆ และพัฒนาวิธีการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ยั่งยืนและคาร์บอนต่ำเป็นพิเศษ
- ทำให้การท่องเที่ยวเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยการระดมทุนสำหรับโครงการที่อิงกับธรรมชาติและเทคโนโลยี และโดยการลดปริมาณคาร์บอนมากกว่าที่ทัวร์สร้างขึ้น
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น Coldplay ได้จัดทำรายงานความยั่งยืนก่อนการทัวร์ รายงานเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดและอภิปรายการเป้าหมายที่จับต้องได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น รายงานความยั่งยืนของโคลด์เพลย์ให้ความสำคัญกับกระบวนการวัดผล และความสอดคล้องกับกรอบการทำงานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล Coldplay ได้นำกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) มาใช้ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบการทัวร์ปัจจุบันกับทัวร์ในอดีต โดยทางวงได้วางแผนกับผู้เชี่ยวชาญที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับการทัวร์คอนเสริต A Head Full of Dreams เมื่อ ปี 2016 ถึง 2017 รายงานความยั่งยืนของ Coldplay ได้รับการประเมินและตรวจสอบโดย John E. Fernandez ผู้อำนวยการ Environmental Solutions Initiative ที่ MIT
จากการทัวร์ในครั้งนี้ Coldplay จึงได้นำเสนอผลลัพธ์ที่น่าทึ่งจากความพยายามในการสร้างความยั่งยืนผ่านทัวร์ “Music Of The Spheres” ทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การปลูกต้นไม้ การจัดการขยะ การใช้พลังงานทดแทน และการบริจาคเพื่อการกุศล กิจกรรมเหล่านี้ได้สร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการจัดคอนเสิร์ตที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– Coldplay ประกาศว่า ทัวร์คอนเสิร์ตครั้งใหม่ในปี 2022 จะลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์
– THE OUTLAW OCEAN MUSIC PROJECT ดนตรีที่สร้างสรรค์จากเสียงของอาชญากรรมในท้องทะเล
– แบรนด์ค้าปลีกด้านแฟชั่นสัญชาติไอริช “Primark” ประกาศขยายการดำเนินงาน ‘โครงการฝ้ายเพื่อความยั่งยืน’
– เลขาธิการ UN แต่งตั้ง BLACKPINK ให้เป็นผู้สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Advocate)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.5) ลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดปริมาณ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
แหล่งที่มา :
– Tyndall Centre Manchester creates plans for zero carbon concerts – Tyndall
– Coldplay and Imperial to measure climate impact of touring – Imperial
– Sustainability (coldplay.com)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย