Editor’s pick 05 | ส่งท้ายปี 2566 – ต้อนรับปี 2567 โลกเเละไทยยังคงเน้นหนักเเก้ปัญหา ‘Climate Change’ เเละ ‘ฝุ่นพิษ’

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับปี 2566  ปีที่หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นปีแห่งความสับสนอลหม่าน เมื่อมองไปยังสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งระดับโลกเเละประเทศไทย ซึ่งหลายสถานการณ์ต่างกระทบถึงความยั่งยืนอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ปี 2567 สถานการณ์หลาย ๆ อย่างยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง ทว่าการก้าวเข้าสู่ปีใหม่เป็นเหมือนสัญญาณแห่งการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง หลายคนมีเป้าหมายที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น พร้อมผลักดันความยั่งยืนให้กับประเทศและโลกของเรา

จดหมายข่าวฉบับนี้ จึงได้รวบรวมสถานการณ์ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในรอบ 1 เดือนนี้แบบกระชับ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข่าวสารหรือบทความ พร้อมอัปเดตเรื่องราวสำคัญและแนะนำสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาให้ทุกท่านรอติดตาม 

เช่นเคย จดหมายข่าวฉบับนี้ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 4 ส่วน

  • Editor’s note: ข้อความจากบรรณาธิการ หยิบยกประเด็นและข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อน SDGs 
  • Highlight issues: อัปเดตข่าวสาร ความเคลื่อนไหวสำคัญ แนะนำคอลัมน์คัดสรรที่อยากให้ทุกคนอ่าน
  • Our Activities: แนะนำกิจกรรมสำคัญที่ SDG Move และเครือข่ายได้ดำเนินการในรอบเดือนที่ผ่านมา
  • Upcoming event: แนะนำกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นและอยากชวนทุกคนติดตามกิจกรรมน่าสนใจในแวดวง SDGs ที่กำลังจะเกิดขึ้น


Editor’s note

เมื่อสภาพอากาศกลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ :
เปิดตัวชุดซีรีส์ใหม่ ‘One Health and Climate Change’

ปีที่ผ่านมานับเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตามข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization WMO) ที่ได้ออกมาประกาศว่า ปี 2566 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิโลกสูงขึ้นประมาณ 1.4 องศาเซลเซียส เหนือระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งสูงกว่าสถิติเดิมในปี 2559 ซึ่งโลกมีอุณหภูมิอุ่นกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส ทำให้บรรดาผู้นำโลกที่ร่วมการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศประจำปีขององค์การสหประชาชาติ หรือ COP28 ที่ได้ปรึกษาหารือเพื่อจัดการกับความท้าทายที่ต้องเผชิญในการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไม่เพียงมีการสนทนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เท่านั้น แต่การประชุม COP28 ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ประเด็นสุขภาพได้ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อถกสนทนาถึงปัญหาที่ไปไกลเกินกว่าประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศเพียงเท่านั้น แต่ยังยึดโยงและส่งผลกระทบไปสู่ประเด็นทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

จากที่กล่าวข้างต้น ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ปัจจุบันปัญหาสภาพภูมิอากาศ ได้คร่าชีวิตผู้คนและคุกคามสุขภาพของผู้คนเป็นจำนวนมาก ตามที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น รวมถึงทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีตกอยู่ในความเสี่ยง ระหว่างปี 2573 ถึงปี 2593 คาดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นประมาณ 250,000 รายต่อปี เนื่องจากภาวะทุพโภชนาการ โรคมาลาเรีย โรคท้องร่วง และความเครียดจากความร้อน ขณะที่ วัณโรค ซึ่งเป็นโรคที่ไวต่อสภาพอากาศ ก็เป็นหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะต้อง ยุติการแพร่ระบาดให้ได้ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่กำหนดไว้ ภายในปี 2573 

ในปี 2567 นี้ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ในฐานะศูนย์วิจัยที่มีภารกิจเพื่อติดตามและสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยเฉพาะในประเทศไทย จึงได้จัดทำเนื้อหาที่จะนําเสนอภายใต้ธีม ‘One Health and Climate Change’ หรือ ‘สุขภาพหนึ่งเดียวและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ด้วยเล็งเห็นความสำคัญว่า ณ เวลานี้เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จะต้องมีการหันมาทบทวนผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยบนเวทีโลกมานานแล้ว โดยนำมาทบทวนผ่านมุมมองของ ‘One Health’ เพราะไม่อาจพิจารณาเพียงมิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น แต่ทบทวนผ่านวิธีการแก้ปัญหาสุขภาพที่รวมเอาแนวทางปฏิบัติด้านสุขภาพทั้งของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งได้พิจารณาโดยตระหนักถึงความสัมพันธ์และความทับซ้อนระหว่างที่เกิดจากผลกระทบร่วมกันระหว่างมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่ล้วนเกิดขึ้นมานานแล้ว หยิบยกขึ้นมาทบทวนและพูดคุยอย่างจริงจังในปีนี้ ด้วยธรรมชาติก็ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันที่ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นรุนแรงมากกว่าในอดีต

ดังนั้น เดือนธันวาคมที่ผ่านมา จึงได้มีการเผยแพร่บทความภายใต้ธีม ‘One Health and Climate Change’ ในหัวข้อ “โลกรวนป่วนโรค: สำรวจความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กับโรคระบาด” เพื่อเน้นย้ำว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สร้างผลกระทบต่อเส้นทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะ SDG 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ SDG 13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลกระทบที่เชื่อมโยงต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเป้าหมายอื่น ๆ อย่างไรบ้าง

อ่านบทความฉบับเต็ม และอินโฟกราฟิกเข้าใจง่ายได้ที่นี่

SDG Insights | โลกรวนป่วนโรค: สำรวจความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กับโรคระบาด

หนังสือชวนอ่าน “How Bad Are Bananas?: The Carbon Footprint of Everything

นอกจากที่กล่าวข้างต้น อยากชวนผู้อ่านไปติดตามเนื้อหาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ไปชีวิตประจำวัน ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขอนำเสนอหนังสือ How Bad Are Bananas?: The Carbon Footprint of Everything เขียนโดย Mike Berners-Lee ซึ่งเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ที่ให้มุมมองเกี่ยวกับรอยเท้าคาร์บอนของกิจกรรมในแต่ละวันของเรา โดยผู้เขียนได้แจกแจงแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนเเละบรรยายออกมาเป็นเนื้อหาที่เข้าใจง่าย ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจถึงผลกระทบของตนที่มีต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ โดยหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจในการทำความเข้าใจและบรรเทาผลกระทบส่วนบุคคลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ผู้อ่านทุกคนได้รับข้อมูลนและมีทางเลือกในการตัดสินใจที่ยั่งยืนในการดำรงชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

และด้วยในปัจจุบัน อีกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คงไม่พ้นประเด็นเรื่องสถานการณ์ของฝุ่น PM2.5  ซึ่งตอนนี้กลายเป็นประเด็นร้อนอันเนื่องมาจากการร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน จึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านชมสารคดีสั้นที่ให้ความรู้ เรื่อง How megacities around the world are tackling their air pollutionซึ่งเป็นสารคดีสั้นของ DW ช่องข่าว online จากประเทศเยอรมัน โดยได้ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 และความสำคัญของอากาศสะอาดที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ 


Highlight issues

จากการติดตามข่าวสารและประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs ทั้งระดับนานาชาติ และประเทศไทย ภายใต้โครงการ SDG Watch ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 จนถึง มกราคม 2567 พบว่ามีข่าวสารที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs อย่างมีนัยยะสำคัญ ดังสรุปได้ ดังนี้

  1. ปิดฉากการประชุม COP28 ชวนสำรวจบทสรุป ข้อตกลงลดการใช้ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ ที่ต้องจับตามอง เน้นย้ำถึงเป้าหมายการรักษาระดับไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และตระหนักว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 43 ภายในปี 2573 และร้อยละ 60 ภายในปี 2578 ซึ่งปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้น พร้อมเรียกร้องให้เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็น 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 2 เท่า ภายในปี 2573 
  2. สหภาพแรงงานพยาบาล เรียกร้องทุกประเทศแก้ ‘ปัญหาสุขภาพ’ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สืบเนื่องจากการประชุม COP28 สหภาพแรงงานพยาบาล (Global Nurses United :GNU) เรียกร้องรัฐบาลทุกประเทศแก้ปัญหาสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและบริการฉุกเฉินทางการแพทย์ โดยรับประกันว่าโรงพยาบาลจะยังคงดำเนินการได้แม้จะเกิดภัยพิบัติทางภูมิอากาศ  เนื่องจากปัจจุบัน สภาพอากาศเลวร้าย ส่งผลเร่งให้เกิดการแพร่กระจายของโรค มลพิษทางอากาศ พืชผลเสียหาย และการโยกย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากบางพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของมนุษย์
  3. QS Sustainability Rankings 2024 มหาวิทยาลัยไทย 13 แห่ง ได้รับการจัดอันดับ ด้าน University of Toronto คว้าอันดับ 1 ของโลก วันที่ 5 ธันวาคม 2566 Quacquarelli Symonds หรือ QS ซึ่งเป็นสถาบันวิเคราะห์และจัดอันดับการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยด้านความยั่งยืน (QS Sustainability Rankings 2024) โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือช่วยให้นักศึกษาได้สำรวจถึงความมุ่งมั่นที่จะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัยทั่วโลก มหาวิทยาลัยที่ได้อันดับ Top 5 ระดับโลก ได้แก่อันดับที่ 1 University of Toronto (แคนาดา) อันดับที่ 2 University of California, Berkeley (UCB) (สหรัฐอเมริกา) อันดับที่ 3 The University of Manchester (สหราชอาณาจักร) อันดับที่ 4 University of British Columbia (แคนาดา) เเละ อันดับที่ 5 The University of Auckland (นิวซีแลนด์)
  4. เผยแพร่แล้ว! รายงานสิทธิมนุษยชนประจำปี 2567 – Human Rights Watch ชี้การปราบปรามโดยรัฐในเอเชียเพิ่มขึ้น กังวลระบอบประชาธิปไตยยังคงถูกทำลาย วันที่ 11 มกราคม 2566 Human Rights Watch เผยแพร่ รายงานการทบทวนสิทธิมนุษยชนระดับโลกประจำปี 2567 (World Report 2024: Our Annual Review Of Human Rights Around The Globe) นับเป็นฉบับที่ 34 มีความยาวทั้งสิ้น 740 หน้า รายงานข้างต้นชี้ว่าการปราบปรามที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลในเอเชียกำลังส่งผลเสียต่อสิทธิมนุษยชนทั้งระดับท้องถิ่นและระหว่างประเทศ โดยเอเชียนั้นมีความแตกต่างจากยุโรป แอฟริกา และอเมริกา เนื่องจากไม่มีกฎบัตรสิทธิมนุษยชนหรือสถาบันที่เข้มแข็งระดับภูมิภาคในการป้องมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ดังเห็นได้ว่าสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนได้รับการพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าไม่สามารถจัดการกับวิกฤติสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคได้ โดยเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากวิกฤติในเมียนมา
  5. WBA เผยผลสำรวจความเท่าเทียมทางเพศในบริษัทชั้นนำ ชี้ผู้หญิงจำนวนมากเผชิญความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงาน องค์กรสมาพันธ์เกณฑ์มาตรฐานโลก (World Benchmarking Alliance : WBA) เผยแพร่รายงานผลสำรวจความเท่าเทียมทางเพศในบริษัทขนาดใหญ่ โดยชี้ว่าแม้ปัจจุบันผู้หญิงจะเข้าถึงบทบาทการเป็นผู้นำมากขึ้น แต่บริษัทจำนวนมากยังมีหนทางอีกยาวไกลในการสร้างหลักประกันความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน รายงานดังกล่าวชี้ว่าบริษัททรงอิทธิพลของโลกมากกว่า 1,000 บริษัท มีภาพลักษณ์ที่น่าห่วงกังวลเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ โดยพบว่าผู้หญิงไม่มีบทบาทในตำแหน่งผู้นำและข้อกังวลของพวกเธอมักถูกมองข้ามและไม่ได้รับการรับฟัง นอกจากนี้มีบริษัทจำนวนไม่มากที่ดำเนินการเพื่อป้องกันความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงาน

อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ

WBA เผยผลสำรวจความเท่าเทียมทางเพศในบริษัทชั้นนำ ชี้ผู้หญิงจำนวนมากเผชิญความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงาน

ประเทศไทย

  1. ผลสำรวจ PISA พบเด็กไทย 1 ใน 4 ต้องอดมื้อกินมื้อ สาเหตุจากความยากจน เหตุไม่มีเงินซื้อข้าวกิน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก ข้อมูลระบุว่ามีเด็กไทยอย่างน้อย 1 ใน 4 หรือร้อยละ 27.6 ต้องอดมื้อกินมื้ออย่างน้อย 1 มื้อต่อสัปดาห์ และกว่าร้อยละ 5 ต้องอดมื้อกินมื้อแทบทุกวัน ขณะที่ ผลการศึกษาระดับนานาชาติจาก 83 ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ พบว่า ในปี 2566 มีผู้คนราว ๆ 1.14 พันล้านคนที่ตกอยู่ในภาวะไม่มั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้ยังระบุว่า ทั้งรายได้ส่วนบุคคล ราคาอาหาร และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าถึงแหล่งอาหาร และความไม่มั่นคงทางอาหารส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้ของเด็กและระดับการศึกษาโดยรวมของชาติ
  2. กรมการแพทย์ จัดตั้ง ‘คลินิกมลพิษ’ แห่งแรกในประเทศไทย โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ได้จัดตั้งคลินิกมลพิษเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนและตอบสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นคลินิกเฉพาะทางที่เน้นการทำงานด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม มีบทบาทสำคัญ เช่น 1) ประเมินสถานการณ์มลพิษ และประเมินจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคจากมลพิษทางอากาศ 2) การให้ข้อมูล และประเมินสภาวะสุขภาพ และ 3) การรักษาและดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับการรักษาและกลับไปใช้ชีวิตปกติ  
  3. สภาฯ พิจารณา 7 ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด หวังลดมลพิษฝุ่น PM2.5 จับตาการลงมติต่อในการประชุมครั้งหน้า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมวาระการพิจารณาเรื่องด่วน “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารจัดการอากาศสะอาดเพื่อประชาชน” โดยมี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธาน ซึ่งร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด มีทั้งสิ้น 7 ฉบับ โดย 6 ฉบับเสนอโดยรัฐบาลและพรรคการเมือง ได้แก่ เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และก้าวไกล ส่วนอีก 1 ฉบับ เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาด
  4. ก้าวไกล ยื่นร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อม 4 ฉบับ เข้าสภา หวังผลักดันแก้ปัญหา PM2.5 และ Climate Change ในเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืน  วันที่ 13 ธันวาคม 2566 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล นำโดย พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ และ ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส. เชียงใหม่ เดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อแถลงข่าวยื่นกฎหมายสิ่งแวดล้อมต่อสภา 4 ฉบับ ประกอบด้วย (1) ร่าง พ.ร.บ.การจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร (2) ร่าง พ.ร.บ. การรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) (3) ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (4) ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน
  5. เผยเเพร่แล้ว “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ.2566” ชวนสำรวจตัวอย่างการขับเคลื่อน SDGs ระดับท้องถิ่น เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2566 เปิดตัว  รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 รายงานข้างต้นจัดทำโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยความร่วมมือจากองค์กรหุ้นส่วน โดยปีนี้จุดเน้นสำคัญคือการขับเคลื่อน SDGs ระดับพื้นที่ตัวอย่าง 5 พื้นที่ ได้เเก่ 1) อาศรมวงศ์สนิท จังหวัดนครนายก 2) บ้านมั่นคงชุมแพ จังหวัดขอนแก่น 3) ข้าวเม่านายอ จังหวัดสกลนคร 4) รักษ์ยั่งยืนเชียงของ จังหวัดเชียงราย 5) ธนาคารปูม้าบ้านหาดสมบูรณ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ

เผยเเพร่แล้ว “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ.2566” ชวนสำรวจตัวอย่างการขับเคลื่อน SDGs ระดับท้องถิ่น

Our Activities

SDG Move ร่วมงาน FUTURE TRENDS AHEAD PRESS & PURPOSES แชร์เทรนด์ความยั่งยืน ปี 2024

Upcoming event

กุมภาพันธ์นี้ ! พบกับสุดยอดงานสัมนาแห่งปี  ‘Future Trends Ahead  Summit 2024’ ให้คุณรู้เทรนด์อนาคต เพื่อเป็นผู้ชนะของวันพรุ่งนี้

โดยภายในงาน คุณจะได้พบกับเวทีเสวนา ที่จะพาคุณไปได้รู้จักเทรนด์แห่งอนาคตในหัวข้อต่างๆ ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด ผู้บริโภค การลงทุน เทคโนโลยี ความยั่งยืน การวางกลยุทธ์ การเรียนรู้ และทรัพยากรบุคคล เพื่อให้คุณไม่พลาดโอกาสที่จะเป็นผู้ชนะในวันพรุ่งนี้ จากบรรดาสปีกเกอร์ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ โดยผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ได้เข้าร่วมร่วมเสวนาในหัวข้อ “ทำธุรกิจอย่างมีหัวใจ เพื่อสร้างกำไรและดูแลโลกไปพร้อมกัน”

นอกเหนือจากการได้เข้าร่วมงานเสวนา งานนี้ยังเป็นโอกาสอันดี ที่จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้เพื่อพบปะตัวจริง จากหลากหลายแวดวงในเมืองไทย ในการทำความรู้จัก เพื่อต่อยอดธุรกิจของเราให้ไกลขึ้นกว่าเดิม และสำหรับผู้ที่ได้รับ Invitation ทาง Future Trends ขอแสดงความยินดีและเรียนเชิญมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสุดยอดงานสัมนาเทรนด์อนาคต เพื่อเป็นผู้ชนะของวันพรุ่งนี้ร่วมกัน กับงาน Future Trends Ahead Summit 2024 

จัดขึ้นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 12.30 – 17.30 ณ ภิรัชฮอลล์ 2-3 ไบเทคบางนา (Bhiraj Hall 2-3, Bitec Bangna)

ติดตามไฮไลต์ของงานและข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Future Trends


ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี  – เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ และ อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Last Updated on กุมภาพันธ์ 6, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น