องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer: IARC) เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสำรวจและคาดการณ์โรคมะเร็ง พบว่าในปี 2593 จะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลกกว่า 35 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้นกว่า 20 ล้านราย หากนับจากปี 2565 ที่มีผู้ป่วยโรคมะเร็งประมาณ 15 ล้านราย ซึ่งการเพิ่มขึ้นสะท้อนถึงการสูงวัยขึ้นของประชากรโลก รวมถึงการมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุให้ประชากรโลกเป็นมะเร็งมากขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ แอลกอฮอล์ โรคอ้วน และมลพิษทางอากาศ
ข้อค้นพบที่น่าสนใจอื่น ๆ จากการเปิดเผยของ IARC เช่น
- ประเทศที่ร่ำรวยจะมีอัตราการเกิดมะเร็งเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 4.8 ล้านรายภายในปี 2593
- ประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางน่าจะมีสัดส่วนของโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการเสียชีวิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า
- คนส่วนใหญ่ไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการรักษาโรคมะเร็งและการดูแลแบบประคับประคอง
- มะเร็งปอด เป็นมะเร็งชนิดที่พบมากที่สุดในผู้ป่วยมะเร็ง โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ 2.5 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 12 ของผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมด รองลงมา คือมะเร็งเต้านม โดยพบว่ามีผู้ป่วย 2.3 ล้านรายทั่วโลก
- มะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม และมะเร็งกระเพาะอาหาร ตามลำดับ
- ผู้หญิงในประเทศร่ำรวย 1 ใน 12 คน จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านม โดย 1 ใน 71 คน จะเสียชีวิตด้วยโรคนี้ ขณะที่ผู้หญิงในประเทศยากจนจะป่วยด้วยโรคนี้ในอัตรา 1 ใน 27 คน แต่อัตราการเสียชีวิตกลับมีความเสี่ยงสูงกว่าอยู่ที่ 1 ใน 48 คน
สำหรับประเทศไทย หากพิจารณาข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งรายใหม่วันละ 381 คน หรือ 139,206 คนต่อปี ขณะที่สถิติสาธารณสุข พ.ศ.2562 ซึ่งจัดทำโดยกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปี โดยโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– WHO เผยแพร่คำแนะนำล่าสุดในการฉีดวัคซีน HPV พร้อมเน้นย้ำเด็กหญิงอายุ 9 – 14 ปี ควรได้รับก่อนเริ่มมีกิจกรรมทางเพศครั้งแรก
– สารก่อมะเร็ง PAHs มากกว่า 100 ชนิดถูกปล่อยสู่อากาศในทุกวัน แต่ส่วนมากยังไม่มีการกำกับดูแล – นับเป็นความเสี่ยงต่อโรค
– แก้ปัญหาแบบ “2-in-1” : การวิจัยยาที่สามารถป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และการติดเชื้อ HIV
– SDG Updates | Immunization Agenda 2030 กับ SDGs ความเชื่อมโยงของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคกับเป้าหมายกับพัฒนาที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมมากไปกว่าเรื่องสุขภาพ
– WHO เสนอยุทธศาสตร์การกำจัด ‘มะเร็งปากมดลูก’ – พร้อมทบทวนความมุ่งมั่น การลดผลกระทบด้านสุขภาพในทั่วโลก
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี พ.ศ. 2573
– (3.5) เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิด ซึ่งรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
แหล่งที่มา
– Cancer rates set to rise 77 per cent by 2050 (UN News)
– 10 ธันวาคม วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ (กรมการแพทย์)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย