Director’s Note: 31: ทำธุรกิจอย่างมีหัวใจ เพื่อสร้างกำไรและดูแลโลกไปพร้อมกัน

สวัสดีครับทุกท่าน

ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา SDG Move ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับสื่อออนไลน์ด้านข้อมูลข่าวสาร Future Trends กับโปรเจกต์งาน Future Trends Ahead & Awards 2024 – Knowing The Future, Be The Winners of Tomorrow โดยได้รับโอกาสให้ร่วมแชร์เทรนด์ในอนาคตด้านความยั่งยืนผ่านหนังสือ Future Trends Ahead 2024 และดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี รองผู้อำนวยการ SDG Move ได้ร่วมงานเปิดตัวหนังสือและแชร์ “เทรนด์ความยั่งยืน 2024: คน สังคม สิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจยุคใหม่ไปต่อได้อย่างไร” ในงานเมื่อเดือนธันวาคม 2566

อีกอีเวนต์สำคัญของโปรเจกต์ดังกล่าว คือ งานเสวนา ‘Future Trends Ahead Summit 2024’ ซึ่งผมได้มีโอกาสเป็นหนึ่งใน 12 วิทยากร เพื่ออัปเดตเทรนด์แห่งอนาคต โดยเฉพาะกับในภาคธุรกิจที่มีความสอดคล้องกับหลักความยั่งยืน ผ่านหัวข้อ “ทำธุรกิจอย่างมีหัวใจ เพื่อสร้างกำไรและดูแลโลกไปพร้อมกัน (Sustainability Trend)” จึงขอเรียบเรียงเนื้อหาที่ได้นำเสนอในงานดังกล่าวเอาไว้ในคอลัมน์ Director’s note วันนี้ครับ


01 – ทำไมภาคธุรกิจต้องทำธุรกิจอย่างมีหัวใจความยั่งยืน

หัวใจความยั่งยืนของภาคธุรกิจนั้น เป็นทั้งความรับผิดชอบ และ ความจำเป็นในการอยู่รอดของธุรกิจ

มันเป็นความรับผิดชอบเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ซึ่งส่วนหลักมาจากภาคธุรกิจตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวดของเรา ได้สร้างวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมสำคัญให้กับโลก ซึ่งปัจจุบันเราเรียกว่า Triple Planetary Crisis คือ วิกฤติซ้อนด้านสิ่งแวดล้อมของโลก 3 ประการ ประกอบด้วย (1) ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ภาวะโลกรวนอันเกิดจากภาวะโลกร้อน (2) ปัญหามลพิษในทุกด้าน และ (3) ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ปัญหาเหล่านี้มีความรุนแรงและกระทบชีวิตของผู้คนทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ประเทศต่าง ๆ ในโลกจึงเห็นตรงกันว่าเราต้องร่วมมือกันเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ และร่วมลงนามรับรองความตกลงสำคัญหลายประการในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้ง วาระการพัฒนา 2030 หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ ความตกลงปารีสด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งสองความตกลงนี้ ทุกประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 190 กว่าประเทศให้การรับรอง

เพื่อบรรลุความตกลงเหล่านี้ หลายประเทศเริ่มมีการออกมาตรการหลายอย่างเพื่อบังคับให้ภาคธุรกิจที่จะส่งสินค้าเข้าไปในประเทศเหล่านั้นต้องดำเนินการตามมาตรการสิ่งแวดล้อมของประเทศ ทั้งเพื่อขยายผลของการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายที่ขายสินค้าและบริการในตลาดของประเทศนั้น เช่น กลไกการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism – CBAM) ที่สหภาพยุโรปเริ่มดำเนินการแล้ว และจะกระทบ 6 ภาคเศรษฐกิจ คือ เหล็ก อลูมิเนียม ซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ย และไฮโดรเจน และน่าจะขยายไปครอบคลุมสินค้าอื่น ๆ ในอนาคต

ในเบื้องต้น CBAM กำหนดให้ทุกปริษัทที่จะส่งสินค้าเหล่านี้เข้า EU จะต้องประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานของ EU และในสามปีข้างหน้าจะเริ่มบังคับให้บริษัทที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบ Carbon pricing, ระบบจัดสรรและการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (European Union Emissions Trading System – EU ETS) จะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนหรือซื้อ CBAM Certificate ก่อนขายสินค้าบริการในตลาด EU

มาตรการเหล่านี้อาจมีการดำเนินการในสหรัฐอเมริกาในอนาคต ในรูปแบบของ US Clean Competition Act เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ นอกจากนี้มาตรการทางการค้าอาจไม่ได้มีแค่เรื่องก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่อาจขยายไปยังเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและมลพิษด้วย

ดังนั้น การปรับธุรกิจให้มีหัวใจ ทำกำไรและดูแลโลกไปพร้อมกัน จึงกลายเป็นความจำเป็นเพื่อการอยู่รอดของหลายธุรกิจ และ supply chain ที่เกี่ยวข้องด้วย


02 – กระดุมสามเม็ด เพื่อการทำธุรกิจที่มีหัวใจ

แต่เราจะเป็นธุรกิจที่มีหัวใจได้อย่างไร ไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะมีเงินเหลือมาทำกิจกรรม CSR 

ขอนำเสนอกระดุมสามเม็ด เพื่อการทำธุรกิจที่มีหัวใจ

กระดุมเม็ดแรก | A – Act to Reduce Harm 

การทำธุรกิจอย่างมีหัวใจขั้นแรกคือการตรวจสอบตนเองว่าเราสร้างผลลบอะไรให้สังคมและโลกบ้าง โดยการลองดูว่าในแต่ละขั้นตอนตลอดห่วงโซ่คุณค่าของเราได้สร้างผลกระทบทางบวกและทางลบ ทั้งทั้งใจและไม่ตั้งใจ อะไรไปบ้าง 

ผลกระทบทางลบเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็พันผูกต้นทุนของเรา ไม่ก็สร้างความเสี่ยงในการถูกฟัองร้องดำเนินคดี ไม่ก็เสียโอกาสทางธุรกิจที่เคยมี หากจัดการผลลบเหล่านี้ก่อนได้จะลดความเสี่ยงลงได้มาก

ผลลบปัจจุบันที่สำคัญคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และของเสีย/มลพิษจากการผลิตและกากอุตสาหกรรม หากจัดการประเด็นเหล่านี้ได้จะลดความเสี่ยงจากมาตรการการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง (เช่น CBAM) และการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ 

ของเสียจากการผลิตบางอย่างถ้าเรานำไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น ขายต่อ หรือพัฒนาไปเป็นสินค้าอื่น ก็ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจของเราด้วย 

ผลลบอื่น ๆ เช่น การใช้น้ำและไฟฟ้าที่ไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ หากเราจัดการในส่วนนี้ได้ต้นทุนก็จะลดลงไปได้อีกมาก ซึ่งดีต่อธุรกิจของเรา

ดังนั้นการจัดการผลกระทบทางลบ นอกจากจะยั่งยืนแล้ว ยังช่วยลดต้นทุน และอาจเพิ่มกำไร ให้กับธุรกิจได้ด้วย

กระดุมเม็ดที่สอง | B – Benefit Stakeholders

หากเราจัดการผลกระทบทางลบแล้ว และมีกำลังพอที่จะสร้างประโยชน์ได้มากกว่านั้น เราอาจจะเริ่มสำรวจดูว่า ตลอดห่วงโซ่คุณค่าเราทำงานกับใครบ้าง และเราจะสร้างประโยชน์ร่วมกับคนเหล่านั้นได้อย่างไร

เช่น หากธุรกิจของท่านเกี่ยวข้องกับอาหาร เราจะทำให้ธุรกิจของเราเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่ส่งวัตถุดิบให้เราได้อย่างไร เราจะสร้างประโยชน์เพิ่มเติมให้กับชุมชนรอบ ๆ โรงงานหรือบริษัทของเราได้อย่างไร เราจะเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการที่ยั่งยืนให้กับลูกค้าของเราได้อย่างไร เราจะจัดการของเสียอาหารจากธุรกิจของเราอย่างไร จะร่วมมือกับใครในการนำอาหารไปทำปุ๋ยย้อนกลับไปที่เกษตรกร หรือจะร่วมมือกับองค์กรใดทำให้อาหารเราได้มีส่วนช่วยคนไร้บ้านที่อาจเข้าถึงอาหารได้ยากได้ เป็นต้น 

ในส่วนนี้อาจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมประเภท CSR หรือ Corporate Social Responsibility ด้วย 

กระดุมเม็ดที่สาม | C – Contribute to Solutions

นอกจากทำสิ่งที่รับผิดชอบ คือ ไม่สร้างผลกระทบให้คนอื่นและยังมีหัวใจสร้างประโยชน์ให้กับคนที่เกี่ยวข้องแล้ว หากจะไปให้สุด เราต้องมีหัวใจสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและโลกด้วย 

ประเทศไทยยังมีปัญหาด้านความยั่งยืนอีกหลายประการ หากพิจารณาจากสถานะตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศไทย อาจสรุปได้เป็น 6 ประเด็นดังนี้

  1. ระบบอาหารที่ยังไม่ยั่งยืน – แม้จะผลิตได้มาก แต่การผลิตกระทบสิ่งแวดล้อมมาก การบริโภคอาหารยังนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการและโรคภัยไข้เจ็บ
  2. ระบบเศรษฐกิจที่ยังไม่เป็นธรรมและไม่ยั่งยืน – เศรษฐกิจยังคงสร้างของเสียจำนวนมาก ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางยังมีโอกาสน้อยในการเข้าถึงแหล่งทุน
  3. คุณภาพและความเหลื่อมล้ำของการศึกษาและบริการสาธารณสุข – แม้ว่าการเข้าถึงบริการเหล่านี้จะมีมากขึ้น แต่การเข้าถึงบริการที่มีสุขภาพยังเป็นข้อจำกัดของระบบการศึกษาและสุขภาพของไทย
  4. ธรรมภิบาลและกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน – การคอรัปชันยังคงมีอยู่อย่างแพร่หลาย การระดมทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและกลไกอื่น ๆ ยังต้องการการเร่งเครื่อง
  5. การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งบนบกและในทะเล 
  6. การตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โจทย์ของการมีหัวใจในระดับนี้ก็คือ เราจะสามารถทำให้ธุรกิจของเรา สินค้าบริการของเรา มีส่วนในการแก้ไขปัญหาความยังยืนอย่างไรได้บ้าง  

แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่ามีโอกาสทางธุรกิจอะไรอีกบ้าง 

ในปี 2022 ทาง UNDP ร่วมกับ กลต. และองค์กรภาคีได้ออกเอกสารที่ชื่อว่า SDG Investor Map Thailand 2022 หรือ แผนที่การลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ปี 2565 และได้นำเสนอ 15 โจทย์ด้านการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่น่าสนใจของประเทศไทยเอาไว้ 

โอกาสเหล่านี้ครอบคลุมหลายด้านทั้ง 

  • ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนและสุขภาพที่ดี 
  • ธุรกิจการศึกษาที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างทักษะที่จำเป็น 
  • ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเชิงนิเวศ 
  • ธุรกิจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการขยะ 
  • ธุรกิจด้านการเงินและสินเชื่อสำหรับรายย่อย 
  • ธุรกิจด้านคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ บริการสุขภาพการแพทย์ทางกไล 
  • และธุรกิจด้านทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทดแทน 

ด้วยโอกาสเหล่านี้ เราอาจปรับธุรกิจของเราให้มีสินค้าหรือบริการบางตัวที่มาตอบโจทย์ความยั่งยืนเหล่านี้ หรือตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมมาเพื่อขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ก็ยังได้

นอกจากนี้ หากบริษัทมีการเก็บข้อมูลผลกระทบ (impact) ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมที่ยั่งยืนเหล่านี้เอาไว้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำรายงานความยั่งยืน (sustainability report) ของบริษัทอีกด้วย ซึ่งรายงานนี้จะช่วยให้ข้อมูลกับนักลงทุนทั้งในประเทศไทยและในโลกเกี่ยวกับการขับเคลื่อนความยั่งยืนของบริษัทและอาจดึงดูดให้มีนักลงทุนมาลงทุนเพิ่มเติมกับบริษัทของเราได้อีกด้วย


หวังว่าทุกท่านจะเห็นแล้วว่า การทำธุรกิจอย่างมีหัวใจ เป็นทั้งความรับผิดชอบและเป็นความจำเป็นในการอยู่รอดทางธุรกิจของบริษัท และการขับเคลื่อนธุรกิจที่มีหัวใจไม่ได้ยากอย่างที่คิด หากท่านไม่มีทรัพยากรมาก ท่านอาจจะเริ่มที่ A- Act to Reduce Harm ก่อน แล้วหากท่านมีทรัพยากรมากขึ้นหรืออยากขับเคลื่อนประเด็นความยั่งยืนโดยตรงผ่านธุรกิจของท่าน ท่านก็สามารถขยับมาสู่ B และ C ได้ 

เพื่อให้ธุรกิจของเราเติบโตอย่างยั่งยืน และดูแลโลกไปพร้อมกันครับ

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2024

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น