จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 3 – 9 กุมภาพันธ์ 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้จัดการบริการยุติการตั้งครรภ์ ตาม กม. ที่ประกาศใช้มาแล้ว 3 ปี
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 กลุ่มทำทางกับเครือข่ายขจัดการเลือกปฏิบัติฯ MovED และสถาบันวิจัยฯ IHRI ยื่นหนังสือถึง นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้ตรวจสอบ ติดตามการดำเนินงาน และให้ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงสาธารณสุข ในการเพิ่มจำนวนสถานบริการทำแท้งปลอดภัยที่รับงบประมาณสนับสนุนค่าบริการจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น 1) ขอให้ประกาศรายชื่อสถานบริการทำแท้งปลอดภัยตลอดจนให้ข้อมูลสิทธิสุขภาพในการได้รับการสนับสนุนค่าบริการทำแท้ง และ 2) ขอให้คณะ กมธ. การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าได้ดำเนินการบังคับใช้ พ.ร.บ. เพิ่มเติมแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2564) หรือไม่
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.1 ลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 คน 3.7 สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573 และ SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.6 สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า
เข้าถึงได้ที่: ร้องกมธ.สาธารณสุขตามความคืบหน้าจัดให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ครอบคลุม หลัง กม.ออกมาแล้ว 3 ปี (ประชาไท)
6 หน่วยงานภาครัฐ ร่วมมือแก้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน
6 หน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมมือกันภายใต้โครงการการพัฒนาความร่วมมือ ไทย-ลาว-เมียนมา เพื่อหวังลดการเผา-มลพิษฝุ่นข้ามพรมแดน โดยหน่วยงานทั้ง 6 หน่วยงานแบ่งบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน ได้แก่ 1) กรมควบคุมมลพิษ รับหน้าที่ประสานงานระหว่างประเทศ 2) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง รับหน้าที่สนับสนุนองค์ความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุทางการเกษตร 3) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร สนับสนุนเทคโนโลยีแก่ประเทศเพื่อนบ้าน 4) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 สนับสนุนการบรรลุเป้าลดพื้นที่เผาไหม้ 50% ของจังหวัดเชียงราย 5) จังหวัดเชียงราย รับหน้าที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย และ 6) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย รับหน้าที่เชื่อมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้ง 5 หน่วยงาน เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมาย
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม
เข้าถึงได้ที่: 6 หน่วยงานรัฐ-เอกชน ประกาศร่วมมือ หวังลดการเผา-ฝุ่นควันข้ามพรมแดน (GreenNews)
เครือข่ายแรงงานเก็บเบอรี่สวีเดน-ฟินแลนด์ ยื่นเรื่อง สส. ก้าวไกล ช่วยแก้ปัญหาจ้างงานเป็นธรรม
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่าที่สวีเดน และฟินแลนด์ เดินทางไปยังบริเวณหน้ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อยื่นจดหมายข้อเรียกร้องต่อ นายสุเทพ อู่อ้น และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลท่านอื่น ๆ ที่ทำงานดูแลด้านแรงงาน เพื่อขอให้รณรงค์หยุดขบวนการค้ามนุษย์แรงงานเก็บเบอร์รี่ป่า และเรียกร้องค่าชดเชยแก่คนงานที่เสียหาย
จรัส คุ้มไข่น้ำ สส.พรรคก้าวไกล จ.ชลบุรี ระบุว่าสิ่งที่ต้องนำไปผลักดัน คือการแก้ไขปัญหาเชิงระบบและทางโครงสร้าง เพื่อที่จะได้ร่วมกันผลักดันและแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องแรงงาน ไม่ให้แรงงานท่านอื่นถูกกระทำซ้ำดังเดิม และปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขโดยแท้จริงอย่างเป็นรูปธรรม
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.7 ดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที เพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ ยุติความเป็นทาสสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ และยับยั้งและกำจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด และ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
เข้าถึงได้ที่: ‘ก้าวไกล’ รับหนังสือร้องเรียน ‘แรงงานเก็บเบอร์รี่ป่า’ ดันเรื่องเข้า กมธ.การฟอกเงินฯ (The Reporter)
กรมควบคุมโรคเตือนไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าของปีที่ผ่านมา
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 8,197 ราย มากกว่าปี 2566 ถึง 1.9 เท่า ซึ่งมีผู้ป่วยอยู่ที่ 4,286 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบผู้ป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5-14 ปี พบมากทางภาคใต้ และภาคกลาง เสียชีวิตแล้ว 13 ราย กระจายใน 11 จังหวัด และเสียชีวิตมากสุดในกลุ่มที่อายุมากกว่า 65 ปี พร้อมทั้งระบุเพิ่มเติมว่า หากมีอาการ เช่น ไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง กระหายน้ำ หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว แขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด เพราะทำให้เลือดออกมากในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
เข้าถึงได้ที่: สถานการณ์ไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าของปีที่ผ่านมา (The Reporter)
ประธาน UNGA เน้นย้ำโลกกำลังออกนอกเส้นทางบรรลุ SDGs
ประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติและคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) จัดประชุมเตรียมการข้อมูลประจำปีเพื่ออัปเดตเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนทำงานสำหรับปีข้างหน้า โดยข้อสรุปเน้นย้ำถึงการหนุนเสริมเพื่อมุ่งสู่การประชุมสุดยอดแห่งอนาคต ( Summit of the Future) ในเดือนกันยายน 2567
เนื้อหาที่น่าสนใจจากการประชุมดังกล่าว เช่น 1) โลกกำลังออกนอกเส้นทางที่จะบรรลุ SDGs 2) สมเด็จพระสันตะปาปาเน้นย้ำให้มีความร่วมมือแบบพหุภาคีและคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเยาวชน และ 3) จะมีการจัดประชุมสัปดาห์ความยั่งยืนครั้งแรกในเดือนเมษายน 2567
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDGs ทุกเป้าหมาย
เข้าถึงได้ที่: ECOSOC, UNGA Presidents Look to Summit of the Future to Accelerate SDGs (IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2024