วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แถลงในการประชุมเตรียมการเพื่อการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA’s plenary meeting) ถึงลำดับประเด็นสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2567 โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพในฐานะเป้าหมายลำดับแรกของปีนี้
ประเด็นสำคัญจากการแถลงของ António Guterres อาทิ
- สันติภาพของโลกกำลังถูกคุกคามมากขึ้นโดยสาเหตุจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งขั้วทางอำนาจ และความไม่เท่าเทียม
- ครอบครัวที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังมีเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศมีหนี้สินท่วมท้น และผู้คนจำนวนมากสูญเสียความไว้วางใจต่อสถาบัน เช่นนั้นสันติภาพจึงเป็นเรื่องที่เราต้องเรียกร้องเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริง
- มีเหตุจุดประกายความหวังมากมายในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรับรองของนานาประเทศในการประชุมสุดยอดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) ต่อแรงกระตุ้นในการบรรลุ SDGs และความจำเป็นในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินของโลก รวมถึงการได้ข้อสรุปสนธิสัญญาทะเลหลวง (high seas treaty) และการจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (operationalization of the loss and damage fund)
- มุ่งมองไปข้างหน้าต่อ “การประชุมสุดยอดแห่งอนาคต” (Summit of the Future) ในฐานะโอกาสสำหรับกำหนดวิถีทางความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพและมีความครอบคลุมมากขึ้น ท่ามกลางโลกที่มีหลายขั้วมากขึ้น รวมถึงความจำเป็นในการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และสร้างแพลตฟอร์มฉุกเฉิน (emergency platform) เพื่อตอบโต้สถานการณ์ไม่คาดฝันอันซับซ้อน
- เรียกร้องรัฐสมาชิกขององค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญกับการถกสนทนาถึงความขัดแย้งและผลักดันสันติภาพไปทั่วโลก รวมถึงกาซา ยูเครน ซาเฮล ซูดาน ลิเบีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เยเมน เมียนมา และเฮติ
- เน้นย้ำถึงความสำคัญของความจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งแก่สันติภาพโลกและกรอบความมั่นคงผ่านวาระเพื่อสันติภาพฉบับใหม่ (new agenda for peace)
- คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จำเป็นต้องสามารถแสดงออกและทำให้การตัดสินใจเกิดผลสำเร็จ โดยจำนวนสมาชิกจำเป็นที่จะต้องขยายเพิ่ม และวิธีการดำเนินการที่อัปเดตแล้ว รวมถึงต้องสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง แม้รัฐสมาชิกจะแบ่งขั้วข้างกันชัดเจน
- เตือนเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของข้อมูลเท็จและความไม่เท่าเทียม และเรียกร้องให้มีสัญญาประชาคมฉบับใหม่ โดยวางอยู่บนฐานความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเป็นธรรม ความครอบคลุม สิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในภาคส่วนของสังคม
น่าจับตาว่าการลำดับความสำคัญของเลขาธิการสหประชาชาติในปีนี้ซึ่งมุ่งและพุ่งเป้าไปที่ “สันติภาพโลก” เป็นลำดับแรก จะสามารถขับเคลื่อนให้บรรลุผลได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการจัดการสงครามและความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ขบวนการฮามาส และความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งล้วนยืดเยื้อและสร้างความเสียหายมาอย่างต่อเนื่อง
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– เลขาธิการ UN แถลงประเด็น SDGs ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปี 2566 พร้อมเรียกร้องทั่วโลกยุติการก่อสงครามทำลายล้างธรรมชาติ
– 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีคือเงินที่จะต้องระดมไปยังประเทศเปราะบางสู้ Climate Change แต่ประเทศร่ำรวยจะทำสำเร็จหรือไม่?
– เลขาธิการ UN แถลง 10 ประเด็น ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปี 2021
– เลขาธิการ UN ย้ำ โลกจะต่อสู้กับ climate change ได้ เมื่อประเทศ G20 เห็นตรงกัน – แสดงบทบาทนำ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล และมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณะ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
– (16.8) ขยายและเสริมความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาบันที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลโลก
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
– (16.b) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา : “Peace is the Missing Piece”: UN Secretary-General on Priorities for 2024 (IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย