จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 19 – 23 กุมภาพันธ์ 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
ไทยติดอันดับ 63 ดัชนีประชาธิปไตยปี 2566 ถูกจัดเป็นระบอบที่ยังคงบกพร่อง
The Economist Intelligence หรือ EIU เผยแพร่รายงานการจัดอันดับประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ ในปี 2566 โดยธีมหลักของเนื้อหารายงานรอบปีที่ผ่านมา คือสถานการณ์ประชาธิปไตยท่ามกลางยุคแห่งความขัดแย้ง โดยสถานการณ์ประชาธิปไตยในโลกดูจะมีแต่แย่ลงเรื่อย ๆ ขณะที่ สถานการณ์ประชาธิปไตยของไทย EIU ยังไม่จัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งมีอยู่เพียง 24 ประเทศและส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในแทบยุโรปตะวันตก อเมริกาใต้บางประเทศ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันและทวีปออสเตรเลีย ส่วนของไทยยังคงถูกจัดเป็นระบอบประชาธิปไตยที่บกพร่อง โดยตกจากอันดับ 55 ในปี 2565 มาเป็นอันดับ 63 ในปี 2566 ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าเพราะเหตุใดแม้มีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่แล้วกลับตกมา 8 อันดับ
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.5 ลดการทุจริตและการรับสินบนทุกรูปแบบอย่างมีนัยสำคัญ และ 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
เข้าถึงได้ที่ : ปี 66 อันดับประชาธิปไตยไทยอยู่ตรงไหนของโลก? เลือกตั้งมาแล้วดีขึ้นหรือแย่ลง? – ประชาไท
ภาคประชาชน พอใจเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ – คนพิการ – เงินอุดหนุนเด็ก – สตรีมีครรภ์ แบบถ้วนหน้า
ภาคประชาชน ระบุพอใจเนื่องจากการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ ครั้งที่ 1/2567 ณ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีมติไฟเขียวหลายข้อเสนอ อาทิ ที่ประชุมมีมติให้ 1) เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0 – 6 ปี เริ่มต้น 600 บาท/คน/เดือน แบบถ้วนหน้า ใช้ในงบประมาณปี 2568 2) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาท/คน/เดือน 3) ปรับเพิ่มเบี้ยความพิการ 1,000 บาท/คน/เดือน และ 4) เงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์ตั้งแต่ 5 เดือน จนถึงคลอดแบบถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามต่อไปแต่เชื่อว่ามติที่ผ่านเหล่านี้ จะเป็นบันไดอีกขั้นที่นำสู่การยกระดับสวัสดิการประชาชนและรอลุ้นเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.8 บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ
เข้าถึงได้ที่ : ‘วราวุธ’ เคาะ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ-คนพิการ เงินอุดหนุนเด็ก-สตรีมีครรภ์ แบบถ้วนหน้า – The Active
แรงงานข้ามชาติโรงงานเสื้อผ้า ‘VK GARMENT’ 136 คน เดินหน้าฎีกา กรณีนายจ้างละเมิดสิทธิ
แรงงานข้ามชาติลูกจ้างโรงงานผลิตเสื้อผ้า วี. เค. การ์เมนท์ (VK Garment Factory หรือ VKG) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จำนวน 136 คน เดินหน้าฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีนายจ้างเจ้าของโรงงานละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ฯ ที่วินิจฉัยว่ากระบวนการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สาขาแม่สอด จังหวัดตาก นั้นชอบด้วยกฎหมาย โดยลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ มีความเห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลอุทธรณ์ฯ ยังคลาดเคลื่อนต่อหลักของความยุติธรรมและกฎหมายในหลายประเด็น อาทิ เรื่องกระบวนการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานและกระบวนการไต่สวนคดีของศาลแรงงานภาค 6 (ศาลชั้นต้น) และกรณีไม่รับวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของลูกจ้าง นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติทั้ง 136 คน ยังได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอังกฤษ ประเด็นการถูกใช้แรงงานบังคับในโรงงาน VK GARMENT ซึ่งเป็นฐานผลิตเสื้อผ้าให้แบรนด์ TESCO
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.7 ดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที เพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ ยุติความเป็นทาสสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
เข้าถึงได้ที่ : แรงงานข้ามชาติโรงงานเสื้อผ้า ‘VK GARMENT’ แม่สอด 136 คน สู้ต่อชั้นฎีกา กรณีนายจ้างละเมิดสิทธิ – ประชาไท
สภาฯ มีมติเอกฉันท์รับหลักการ ร่างกฎหมายประมงทั้ง 8 ฉบับ
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ และมีร่างในทำนองเดียวกันอีก 7 ฉบับ โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายว่า กฎหมายประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุม หรือ IUU ปี 2558 ที่ระบุชัดว่าเราต้องปฏิบัติตามหลักการใช้เขตอำนาจรัฐนอกดินแดน และหากประเทศไทยไม่ปฏิบัติตาม ก็จะไม่สามารถส่งสินค้าประมงไปขายสหภาพยุโรปได้นั้น ชาวบ้านทำได้แค่จับปลาโดนบีบจนไม่มีทางเลือก กลายเป็นคนส่งออกไม่ได้รับโทษ คนที่รับโทษไม่ได้ส่งออก จึงเป็นความอยุติธรรมตลอด 10 ปีที่ผ่าน
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2560 – 2566 ส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรมประมงมีการส่งออกลดลง 11% นอกนั้นยังมีปัญหาท่าเรือ สะพานปลา และการขนส่งที่ยังไม่ได้แก้ไข ด้วยเหตุนี้ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ประมงฯ ทั้ง 8 ฉบับ โดยจะใช้ร่างของครม. เป็นร่างหลักในการพิจารณา
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.2 บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ และ 14.4 ภายในปี พ.ศ. 2563 ให้กำกับการทำการประมงอย่างมีประสิทธิผล และยุติการประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม
เข้าถึงได้ที่ : มติเอกฉันท์ สภาฯ รับหลักการ ร่างกฎหมายประมง ทั้ง 8 ฉบับ – workpointtoday
จีนปล่อย CO2 เพิ่มสูงขึ้น ยังคงไม่อาจบรรลุเป้าหมายด้าน ‘สภาพภูมิอากาศ’ ในปี 2568
จากการวิเคราะห์พบว่าจีนยังไม่อาจบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่ให้คำมั่นสัญญาไว้หลายประการในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ภายในปี 2568 รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนของแหล่งพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลให้ได้ 20 % และลดความเข้มข้นของคาร์บอนในระบบเศรษฐกิจลง 18 % ซึ่งหมายถึงจำนวนกรัมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ถูกปล่อยออกมาหนึ่งหน่วยการผลิตกระแสไฟฟ้า กิโลวัตต์-ชั่วโมง อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้เร่งผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และได้ทุ่มเงินทุนกระตุ้นเศรษฐกิจในการก่อสร้างและการผลิตไปพร้อม ๆ กัน รวมถึงยังคงอนุมัติการดำเนินการด้านพลังงานจากถ่านหินต่อไป ซึ่งการใช้พลังงานทั้งหมดของจีนเพิ่มขึ้น 5.7% ในปี 2566 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2548 ที่ความต้องการด้านพลังงานเติบโตเร็วกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ดังนั้น จากแนวโน้มความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน การผลิตพลังงานจากแหล่งที่ไม่ใช่ฟอสซิลจะต้องเติบโตมากกว่า 11% ต่อปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ภายในปี 2568 ปัจจุบันการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.2 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.c ทำให้การอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไร้ประสิทธิภาพและนำไปสู่การบริโภคที่สิ้นเปลืองมีความสมเหตุสมผล และ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
เข้าถึงได้ที่ : Growth in CO2 emissions leaves China likely to miss climate targets – The Guardian
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
Last Updated on กุมภาพันธ์ 27, 2024