Site icon SDG Move

SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  19 – 23 กุมภาพันธ์ 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

The Economist Intelligence หรือ EIU เผยแพร่รายงานการจัดอันดับประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ ในปี 2566 โดยธีมหลักของเนื้อหารายงานรอบปีที่ผ่านมา คือสถานการณ์ประชาธิปไตยท่ามกลางยุคแห่งความขัดแย้ง โดยสถานการณ์ประชาธิปไตยในโลกดูจะมีแต่แย่ลงเรื่อย ๆ ขณะที่ สถานการณ์ประชาธิปไตยของไทย EIU ยังไม่จัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งมีอยู่เพียง 24 ประเทศและส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในแทบยุโรปตะวันตก อเมริกาใต้บางประเทศ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันและทวีปออสเตรเลีย ส่วนของไทยยังคงถูกจัดเป็นระบอบประชาธิปไตยที่บกพร่อง โดยตกจากอันดับ 55 ในปี 2565 มาเป็นอันดับ 63 ในปี 2566 ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าเพราะเหตุใดแม้มีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่แล้วกลับตกมา 8 อันดับ 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.5 ลดการทุจริตและการรับสินบนทุกรูปแบบอย่างมีนัยสำคัญ และ 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส

เข้าถึงได้ที่ : ปี 66 อันดับประชาธิปไตยไทยอยู่ตรงไหนของโลก? เลือกตั้งมาแล้วดีขึ้นหรือแย่ลง? – ประชาไท 

ภาคประชาชน ระบุพอใจเนื่องจากการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ ครั้งที่ 1/2567 ณ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีมติไฟเขียวหลายข้อเสนอ อาทิ ที่ประชุมมีมติให้ 1) เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0 – 6 ปี เริ่มต้น 600 บาท/คน/เดือน แบบถ้วนหน้า ใช้ในงบประมาณปี 2568  2) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาท/คน/เดือน 3) ปรับเพิ่มเบี้ยความพิการ 1,000 บาท/คน/เดือน และ 4) เงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์ตั้งแต่ 5 เดือน จนถึงคลอดแบบถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามต่อไปแต่เชื่อว่ามติที่ผ่านเหล่านี้ จะเป็นบันไดอีกขั้นที่นำสู่การยกระดับสวัสดิการประชาชนและรอลุ้นเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.8 บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ

เข้าถึงได้ที่ : ‘วราวุธ’ เคาะ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ-คนพิการ เงินอุดหนุนเด็ก-สตรีมีครรภ์ แบบถ้วนหน้า – The Active

แรงงานข้ามชาติลูกจ้างโรงงานผลิตเสื้อผ้า วี. เค. การ์เมนท์ (VK Garment Factory หรือ VKG) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จำนวน 136 คน เดินหน้าฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีนายจ้างเจ้าของโรงงานละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ฯ ที่วินิจฉัยว่ากระบวนการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สาขาแม่สอด จังหวัดตาก นั้นชอบด้วยกฎหมาย โดยลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ มีความเห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลอุทธรณ์ฯ ยังคลาดเคลื่อนต่อหลักของความยุติธรรมและกฎหมายในหลายประเด็น อาทิ เรื่องกระบวนการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานและกระบวนการไต่สวนคดีของศาลแรงงานภาค 6  (ศาลชั้นต้น) และกรณีไม่รับวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของลูกจ้าง นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติทั้ง 136 คน ยังได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอังกฤษ ประเด็นการถูกใช้แรงงานบังคับในโรงงาน VK GARMENT ซึ่งเป็นฐานผลิตเสื้อผ้าให้แบรนด์ TESCO

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.7 ดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที เพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ ยุติความเป็นทาสสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่ : แรงงานข้ามชาติโรงงานเสื้อผ้า ‘VK GARMENT’ แม่สอด 136 คน สู้ต่อชั้นฎีกา กรณีนายจ้างละเมิดสิทธิ  – ประชาไท 

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ และมีร่างในทำนองเดียวกันอีก 7 ฉบับ โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายว่า กฎหมายประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุม หรือ IUU ปี 2558 ที่ระบุชัดว่าเราต้องปฏิบัติตามหลักการใช้เขตอำนาจรัฐนอกดินแดน และหากประเทศไทยไม่ปฏิบัติตาม ก็จะไม่สามารถส่งสินค้าประมงไปขายสหภาพยุโรปได้นั้น ชาวบ้านทำได้แค่จับปลาโดนบีบจนไม่มีทางเลือก กลายเป็นคนส่งออกไม่ได้รับโทษ คนที่รับโทษไม่ได้ส่งออก จึงเป็นความอยุติธรรมตลอด 10 ปีที่ผ่าน 

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2560 – 2566 ส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรมประมงมีการส่งออกลดลง 11% นอกนั้นยังมีปัญหาท่าเรือ สะพานปลา และการขนส่งที่ยังไม่ได้แก้ไข ด้วยเหตุนี้ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ประมงฯ ทั้ง 8 ฉบับ โดยจะใช้ร่างของครม. เป็นร่างหลักในการพิจารณา

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 14  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  14.2 บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ และ 14.4 ภายในปี พ.ศ. 2563 ให้กำกับการทำการประมงอย่างมีประสิทธิผล และยุติการประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และ SDG 16  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม 

เข้าถึงได้ที่ : มติเอกฉันท์ สภาฯ รับหลักการ ร่างกฎหมายประมง ทั้ง 8 ฉบับ – workpointtoday

จากการวิเคราะห์พบว่าจีนยังไม่อาจบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่ให้คำมั่นสัญญาไว้หลายประการในความตกลงปารีส (Paris Agreement)  ภายในปี 2568 รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนของแหล่งพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลให้ได้ 20 % และลดความเข้มข้นของคาร์บอนในระบบเศรษฐกิจลง 18 % ซึ่งหมายถึงจำนวนกรัมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ถูกปล่อยออกมาหนึ่งหน่วยการผลิตกระแสไฟฟ้า กิโลวัตต์-ชั่วโมง อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้เร่งผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และได้ทุ่มเงินทุนกระตุ้นเศรษฐกิจในการก่อสร้างและการผลิตไปพร้อม ๆ กัน รวมถึงยังคงอนุมัติการดำเนินการด้านพลังงานจากถ่านหินต่อไป ซึ่งการใช้พลังงานทั้งหมดของจีนเพิ่มขึ้น 5.7% ในปี 2566 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2548 ที่ความต้องการด้านพลังงานเติบโตเร็วกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ดังนั้น จากแนวโน้มความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน การผลิตพลังงานจากแหล่งที่ไม่ใช่ฟอสซิลจะต้องเติบโตมากกว่า 11% ต่อปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ภายในปี 2568 ปัจจุบันการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.2 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.c ทำให้การอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไร้ประสิทธิภาพและนำไปสู่การบริโภคที่สิ้นเปลืองมีความสมเหตุสมผล และ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.2  บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

เข้าถึงได้ที่ : Growth in CO2 emissions leaves China likely to miss climate targets – The Guardian

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version