สพญ.ดร. อังคณา เลขะกุล
รู้ไหมว่า สงครามรัสเซีย – ยูเครน ทำให้พวกเราต้องซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคาสูงขึ้น
รู้ไหมว่า การระบาดของโรคกว่า 70% เกิดขึ้นภายใต้พื้นที่ขัดแย้งทางการเมือง
รู้ไหมว่า ทุกวันนี้มีผู้คนมากกว่า 114 ล้านคนทั่วโลกต้องอพยพออกจากบ้านเกิดเพื่อหนีจากสงคราม
มีคนเคยบอกว่าโลกไม่เคยปลอดจากสงคราม เพราะสงครามในโลกยุคใหม่ ไม่ใช่แค่การต่อสู้ทางอาวุธ แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างขั้วอำนาจของพญามังกรกับพญาอินทรีบนภูมิศาสตร์การเมือง ดังที่ Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายนปี 2566 ว่า
“สงครามยังคงดำเนินต่อไป วิกฤตสภาพภูมิอากาศยังลุกลาม ความยากจนข้นแค้นขยายวงกว้าง การแบ่งแยกทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังบ่อนทำลายความสามัคคีและความไว้วางใจของมนุษยชาติ…”
SDG Updates ฉบับนี้ ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ พร้อมกับคำถามสำคัญที่ชวนขบคิดว่า “ภูมิรัฐศาสตร์มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างไร” ทั้งประเด็นโรคระบาด การอพยพของผู้คน หรือแม้แต่ผลพวงของบริษัทข้ามชาติ บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจอำนาจของประเทศในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อสุขภาพได้ดีขึ้น
01 – ท่ามกลางสมรภูมิอำนาจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร
ความขัดแย้งระหว่างประเทศมีผลต่อสุขภาพในหลายมิติ ตั้งแต่ผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ การเสียชีวิต ความพิการทางร่างกาย บาดแผลทางจิตใจ และยังทำให้การบริการทางการแพทย์ถูกขัดขวางจากความไม่สงบในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการชะงักงันของการให้วัคซีน หรือการบริการป้องกันโรคไม่ติดต่อและการดูแลแม่และเด็ก ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในภาวะสงคราม เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่สามารถทำงานควบคุมโรคได้ พบว่าการระบาดของโรคมากกว่า 70% ทั่วโลกเกิดขึ้นในพื้นที่เปราะบางและได้รับผลกระทบจากสงคราม [1] เช่น โปลิโอกลับมาระบาดอีกครั้งในประเทศปากีสถานและอัฟกานิสถาน [2] ขณะที่ในประเทศเยเมนพบกับการระบาดของอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ มีผู้คนมากกว่า 114 ล้านคนทั่วโลกต้องอพยพจากบ้านเกิด เนื่องจากสงครามและความขัดแย้ง [3] ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของคนเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างมาก อีกทั้งยังก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในค่ายผู้ลี้ภัยและชุมชนที่แออัดเนื่องจากการขาดสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังทำให้เกิดความท้าทายในการเข้าถึงการศึกษาและโอกาสในการพัฒนาอาชีพ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพระยะยาวอีกด้วย
02 – ผีเสื้อขยับปีก — การเมืองที่ยูเครนทำให้อาหารแพงที่ไทย
เมื่อพูดถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน คนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ แล้วมีผลต่อราคาอาหารของไทย การที่คนไทยต้องรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคาแพงขึ้นโดยมีการปรับราคาขึ้นเป็นซองละ 7 บาท เมื่อกลางปี 2565 หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเกิดขึ้นไม่กี่เดือน เนื่องจากทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเป็นแหล่งผลิตข้าวสาลี และผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก (ลำดับที่ 1 และ 4) [4] ก่อนที่จะเกิดสงครามขึ้น ทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์มากถึง 30% จากความต้องการทั่วโลก [5] แต่ธัญพืชที่มาจากรัสเซียและยูเครน ไม่ได้นำมาผลิตอาหารให้คนเท่านั้น ยังเป็นอาหารให้สัตว์อีกด้วย อาหารของปศุสัตว์นั้นประกอบด้วยข้าวสาลีและข้าวโพด ซึ่งทั้งสองประเทศก็ส่งออกข้าวโพดเป็นรายใหญ่ของโลกเช่นกัน [6] นอกจากธัญพืชแล้ว ทั้งสองประเทศยังเป็นผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยเคมีที่ใช้ในเกษตรกรรมอีกด้วย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจากผลพวงของสงครามที่ทำให้การส่งออกวัตถุดิบต่าง ๆ หยุดชะงัก ทำให้ต้นทุนในการผลิตอาหารและอาหารที่เรารับประทานมีราคาสูงขึ้น
03 – กลไกระดับโลกที่ขาดประสิทธิภาพ
จากอดีตที่กลไกอภิบาลระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (global governance for health) มีความเข้มแข็ง กฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศมีความศักดิ์สิทธิ์ แต่ปัจจุบัน ความเชื่อมั่นต่อกลไกอภิบาลระดับโลกเหล่านี้เริ่มถูกตั้งคำถาม สถาบันพหุภาคี เช่น หน่วยงานของสหประชาชาติ (United Nations) หรือธนาคารโลก (World Bank) ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนประเทศจากชาติตะวันตก เช่น งบประมาณส่วนใหญ่ขององค์กรอนามัยโลกที่มาจากค่าสมาชิกของแต่ประเทศ ถือเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินสนับสนุนที่เป็นแบบจำเพาะเจาะจง (earmarked) ที่เป็นการระบุว่าเงินเหล่านี้จะต้องทำในกิจกรรมหรืองานใด ในจำนวนที่สูงเกือบ 90% ทำให้องค์การอนามัยโลกเสียความเป็นอิสระด้านการเงิน และไม่สามารถกำหนดทิศทางการทำงานขององค์กรได้ [7] นอกจากนี้ จากการระบาดของโควิด-19 เห็นได้ว่าองค์การอนามัยโลกไม่ได้มีบทบาทมากนักที่จะทำให้เกิดการกระจายวัคซีนให้กับประเทศรายได้น้อย จึงเกิดคำถามที่ว่า “องค์การอนามัยโลกควรถูกปฏิรูปหรือไม่”
04 – บริษัทข้ามชาติที่มองแต่กำไรนั้นมิได้สนใจสุขภาพของผู้คน
ไม่เพียงแต่ความขัดแย้งระหว่างประเทศเท่านั้น แต่อิทธิพลของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติก็ส่งผลต่อสุขภาพคนทั่วโลกไม่น้อยกว่ากัน อย่างเช่นการทำตลาดเชิงรุกของบริษัทบุหรี่ หรืออุตสาหกรรมอาหารข้ามชาติที่ทำลายสุขภาพแฝง หรือการล็อบบี้นักการเมือง ไปจนถึงการกีดกันกลไกภาษี ดังกรณีเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ที่เมื่อมีนโยบายการเพิ่มการจัดเก็บภาษีการบริโภคจากอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่มีบริษัทข้ามชาติออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านและพยายามใช้อิทธิพลในกลไกเจรจาการค้าเพื่อพยายามเข้ามาแทรกแซงการกำหนดนโยบายและทางเลือกของผู้บริโภค โดยบริษัทเหล่านี้มักจะให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าสาธารณสุข กลไกกลางที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มความรับผิดชอบและกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
05 – เราต่างยังอยู่ภายใต้อาณานิคมทางการศึกษา
เมื่อพูดถึงอาณานิคม (colonisation) หลายคนคงคิดถึงการที่มหาอำนาจหลายชาติเข้าครอบครองดินแดนในบางประเทศ แต่ในปัจจุบัน ยังคงมีอาณานิคมในรูปแบบอื่น ที่ไม่ใช่การยึดครองพื้นที่หรือฉกฉวยทรัพยากรจากอีกประเทศเหมือนในอดีต แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากรากเหง้าของอำนาจอาณานิคม โดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมกันทางโครงสร้างในการศึกษาด้านสุขภาพทั่วโลก ที่ตั้งของสถาบันชั้นนำด้านการวิจัยและการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในประเทศมหาอำนาจ ผู้เขียนที่ตีพิมพ์ผลงานลงในวารสารวิชาการระดับโลกล้วนมาจากประเทศตะวันตก การตีพิมพ์งานวิชาการที่ต้องแลกมากับค่าตีพิมพ์ที่สูงลิ่วที่เป็นปัญหาใหญ่ ๆ พอ ๆ กับการจัดหางบประมาณมาทำงานวิจัยของนักวิจัยที่มาจากประเทศรายได้น้อย หรือการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยทั่วโลก ที่ไม่ได้นำประเด็นการทำงานเพื่อแก้ปัญหาสังคมหรือพัฒนาชุมชนมาอยู่ในการจัดลำดับด้วย [8]
จากความซับซ้อนของประเด็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์และผลกระทบต่อสุขภาพ จึงทำให้นักวิชาการจากหลากหลายประเทศทั่วโลกมาหารือร่วมกัน ในการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (Prince Mahidol Award Conference: PMAC) ที่จัดขึ้นทุกปี โดยปีนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม “ภูมิรัฐศาสตร์และความเป็นธรรมทางสุขภาพในยุคแห่งความขัดแย้ง” (Geopolitics and Health Equity in an Era of Polycrises) เมื่อวันที่ 25 – 27 มกราคม 2567 ในการประชุมได้มีบทสนทนาที่ผู้คนจะมาร่วมหาทางออกท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ที่กำลังรุนแรงเช่นนี้ และได้มีข้อสรุปเพื่อให้ทุกคนร่วมกันลงมือทำเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสุขภาพ ดังนี้
- จัดการกับความไม่สมดุลทางอำนาจ: เปลี่ยนมุมมองของแต่ละประเทศจากการแก่งแย่งแข่งขันเพื่อเอาเพียงชาติของตนเองรอดเป็นการสร้างความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับปัญหาทางสุขภาพที่ส่งผลกระทบคนทุกคนผ่านกลไกอภิบาลระดับโลกเพื่อสุขภาพที่เป็นธรรม
- จัดการกับความไม่สมดุลทางความรู้: ส่งเสริมการปลดปล่อยอาณานิคม (decolonisation) ทางความรู้ สนับสนุนงานวิจัยที่สร้างความรู้ให้เกิดประโยชน์กับทุกประเทศ ให้ความสำคัญกับความรู้ท้องถิ่น รวมทั้งเปลี่ยนแปลงการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสังคม
- จัดการกับความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ: ให้การจัดสรรทรัพยากรทางการเงินมีความยั่งยืนและเท่าเทียมทั่วโลก โดยเน้นเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสุขภาพของคนทุกคนบนโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
สิ่งสำคัญคงเป็นการมองเห็นคนชาติอื่นเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์เช่นเดียวกัน คิดถึงผู้คนในฐานะเพื่อนร่วมโลกที่ต้องอยู่อาศัยและร่วมต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ไปด้วยกัน จากที่คิดว่าเราทั้ง 8 พันล้านคนบนโลกนี้ อยู่บนเรือ 193 ลำ แต่เรากำลังอยู่บนเรือลำเดียวกันที่มี 193 เคบิน หากมีบางเคบินที่เสียหาย เรือก็คงล่ม แต่หากเราจะรอด ก็จะรอดไปด้วยกัน
แนวความคิดเช่นนี้ทำให้เรายังมีความหวังว่าความขัดแย้งบนโลกใบนี้จะลดลง และชีวิตของคนทุกคนบนโลกจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ‘สงครามคร่าชีวิตพลเรือนเพิ่มขึ้น 17,000 ราย – เด็กตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพิ่มกว่า 35%’ ชวนสำรวจผ่าน ‘รายงาน SDG 16’ ฉบับใหม่ของ UN
– เด็กหลักล้านคนในโลกตกเป็นทาสสมัยใหม่ โดยรูปแบบหนึ่งคือการค้ามนุษย์ที่มีสถานสงเคราะห์เด็กบังหน้า
– ผู้อพยพเด็กที่เดินทางโดยลำพังอย่างน้อย 18,000 คน หายตัวไปในยุโรปตั้งแต่ปี 2018 เสี่ยงตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์
– เลขาธิการ UN แถลงประเด็น SDGs ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปี 2566 พร้อมเรียกร้องทั่วโลกยุติการก่อสงครามทำลายล้างธรรมชาติ
– การลักพาตัวเด็กจากเหตุสงครามเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ชวนอ่าน Guidance Note on Abduction – บันทึกแนวทางป้องกันเเละยุติการลักพาตัวเด็กฉบับใหม่ของ UN
– OHCHR ระบุปี 2565 เป็นปีที่ชาวปาเลสไตน์ถูกคร่าชีวิตในเขตเวสต์แบงก์มากที่สุดในรอบ 17 ปี พร้อมประณามอิสราเอลใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
– SDG Updates: ‘พิษ-แพร่-พัง’ หายนะจากสงครามต่อการล่มสลายของระบบสุขภาพ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี พ.ศ. 2573
– (3.d) เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม เเละสถาบันเข้มเเข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
อ้างอิง:
[1] WHO. WHO’s work in emergencies: prepare, prevent, detect and respond. Annual report 2018. https://www.who.int/emergencies/who-work-in-emergencies/en/
[2] https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC9159959/
[3] United Nation. UN News. Over 114 million displaced by war, violence worldwide. 2023. https://news.un.org/en/story/2023/10/1142827
[4] FAOSTAT (2022b). Trade: Crops and livestock products [WWW document]. Food agric. Organ. United nations. Available at: https://www.fao.org/faostat/en/#data
[5] Filho, W.L. et. al. Foods 2023, 12(21), 3996; https://doi.org/10.3390/foods12213996
[6] Mottaleb, K.A. Govindan, V. 2023 Front. Food. Sci. Technol. Food Modeling Volume 3. https://doi.org/10.3389/frfst.2023.1072872
[7] https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC10083790/pdf/bmjgh-2022-011232.pdf
[8] Penny E., Nicki H., Decolonizing higher education: the university in the new age of Empire, Journal of Philosophy of Education, 2023;, qhad052, https://doi.org/10.1093/jopedu/qhad052
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
Last Updated on เมษายน 9, 2024