จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
สส.ก้าวไกล หนุนเบี้ยผู้สูงอายุ 1,200 บาท ให้เสร็จในปีนี้
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ เขต 27 พรรคก้าวไกล ประธาน กมธ.สวัสดิการสังคม กล่าวในการนำเสนอรายงานผลการพิจารณาเรื่องสิทธิบำนาญพื้นฐานประชาชน ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ 1) การปรับเกณฑ์บำนาญประชาชนเป็น 3,000 บาทถ้วนหน้า มีการเสนอมาตั้งแต่ก่อนยุบสภา แต่หลังยุบสภาพบว่าเรื่องกลับไม่คืบหน้า 2) เสนอให้ดำเนินการปรับบำนาญประชาชน เบื้องต้นเริ่มที่ 1,200 บาท และ 3) ฝาก สส. ท่านอื่นสร้างการรับรู้ว่าบำนาญพื้นฐานประชาชนคือก้าวแรกในการเพิ่มขึ้นของรายได้ผู้สูงอายุ
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG1 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.3 ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมระดับประเทศที่เหมาะสม และ SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.4 นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้
เข้าถึงได้ที่: “สส.ณัฐชา” ขอทุกพรรค หนุนเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าเป็นหลักพันให้เสร็จในปีนี้ (ไทยรัฐออนไลน์)
ถกร่างข้อบังคับฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดีต่อสุขภาพผู้บริโภคเเต่กระทบรายเล็ก
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างข้อบังคับฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่ายังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากว่าอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผู้ผลิตสุรารายเล็กในประเทศ เนื่องจากจะมีภาระค่าใช้จ่ายจากค่าออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ที่อาจเพิ่มเป็นเท่าตัว ขณะที่ รศ. ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และอาจารย์ประจำสาขาวิชาระบาด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มองในมุมสุขภาพ ซึ่งเห็นด้วยกับการให้มีคำเตือนและภาพบนฉลาก และเห็นด้วยว่าควรปรับให้เป็นรูปแบบตัวอักษรที่อ่านได้ง่ายและชัดเจนขึ้น พร้อมกับมีรูปภาพประกอบ
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.5 เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิด
เข้าถึงได้ที่: มองรอบด้าน ร่างข้อบังคับฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปกป้องสุขภาพหรือบั่นทอนผู้ประกอบการสุรา (BBC Thai)
ร่าง พ.ร.บ. สันติภาพ คืบหน้า หวังพึ่งเจตนารมณ์ทางการเมืองที่เข้มแข็งทุกฝ่ายขับเคลื่อน
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สมาคมร่วมสร้างชุมชนศรัทธา กัมปงตกวา Minority Rights Group สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป (EU) จัดเสวนาเรื่อง ชุดกฎหมายสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ทบทวน ท้าทาย ที่ทาง ณ โรงแรมซีเอส อ.เมือง จ.ปัตตานี สาระสำคัญจากงานข้างต้น เช่น 1) คณะกรรมาธิการฯ กำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่มีผู้เสนอมาจำนวน 2 ฉบับ โดยจะรวมให้เป็นร่างฉบับเดียวกัน คือ ร่าง พ.ร.บ.สันติภาพในภาพรวม และ ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ และ 2) ปัญหาสำคัญที่ทำให้การพูดคุยสันติภาพไม่เกิดผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนคือยังขาดเจตจำนงทางการเมืองที่เข้มแข็งของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional: BRN)
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เข้าถึงได้ที่: กมธ.เตรียมร่างกฎหมายดัน สันติภาพดับไฟใต้ ชี้มีปมสำคัญ ที่ไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน (ประชาไท)
กสศ. ชี้ เยาวชนและผู้ใหญ่เกือบ 1 ใน 5 ไม่สามารถพึ่งตนเองได้
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก (World Bank) และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเวทีการขับเคลื่อนทักษะทุนชีวิตทั้งระดับโลกและระดับประเทศ โดยมีการเปิดเผยข้อค้นพบผลสำรวจทักษะทุนชีวิต หรือ Foundational Skills คน เยาวชน และแรงงานไทยครั้งแรก เช่น 1) ประชากร ช่วงอายุ 15-64 ปี จำนวน 7,300 คนทั่วประเทศทุกภูมิภาค พบว่า 64.7% มีทักษะด้านการรู้หนังสือที่ต่ำกว่าเกณฑ์ 2) 74.1% มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์ และ 3) เยาวชนและผู้ใหญ่เกือบ 1 ใน 5 หรือ 18.7% ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG4 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 4.4 เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่เกี่ยวข้องจำเป็น และ 4.6 สร้างหลักประกันว่าเยาวชนทุกคนและผู้ใหญ่ทั้งชายและหญิงในสัดส่วนสูง สามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้
เข้าถึงได้ที่: วิกฤตทักษะคนไทย ‘การอ่าน-ดิจิทัล-อารมณ์’ ต่ำกว่าเกณฑ์ (The Active)
Human Rights Watch เรียกร้องนายกฯ ออสเตรเลีย เน้นย้ำประเด็นสิทธิมนุษยชนในการประชุมสุดยอดผู้นำออสเตรเลีย-อาเซียน
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 Human Rights Watch เผยแพร่จดหมายข่าวรายงานเรียกร้องให้ Anthony Albanese นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ให้ความสำคัญต่อความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเสื่อมถอยของประชาธิปไตยของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการประชุม ASEAN-Australia Special Summit ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 4 มีนาคม 2567
รายงาน “Human Rights in Southeast Asia” มีเนื้อหาทั้งสิ้น 60 หน้า โดยสรุปรวบรวมประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง Anthony Albanese ควรจะหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในการประชุมสุดยอดข้างต้น
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 และ SDG17
เข้าถึงได้ที่: Australia: Spotlight Rights at Summit with ASEAN (Human Rights Watch)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย