แพรวพรรณ ศิริเลิศ
‘แก่ก่อนรวย’ วลีคุ้นหูในสังคมไทย แม้จะผ่านมาแล้วหลายยุคสมัย แต่คำนี้ก็ยังสะท้อนภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี โดยประเทศไทย ได้ก้าวเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์’ (complete aged society) ตั้งแต่ปี 2565 [1] หลังจากเป็นประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) มาระยะหนึ่ง จากการมีประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากการติดตามสถิติผู้สูงอายุไทย ปี 2565 พบว่าประเทศไทย มีจำนวนผู้สูงอายุ ประมาณ 12.7 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดกว่า 66 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.21 ของประชากรทั้งหมด [2] และด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น นำมาสู่การตั้งคำถามว่า “ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน ? กับสังคมสูงวัย และมีทิศทางอย่างไรในการรับมือ” เพราะปัจจุบันแม้เราจะอยู่ในสังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่สถานะคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในสังคมไทย ยังไม่อาจสะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีนัก สวนทางกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น
SDG Updates ฉบับนี้ ชวนผู้อ่านสำรวจแนวโน้มการสูงอายุของประชากรไทยในทศวรรษนี้เป็นเช่นไร อะไรคือความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุของไทย และรายได้เป็นความ (ไม่) ยั่งยืนหลักที่ขัดขวางการสร้างสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพจริงหรือไม่ พร้อมหาคำตอบไปด้วยกันในบทความนี้
01 – สำรวจแนวโน้มการสูงอายุของประชากรไทย
ประชากรโลกกำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ จากเอกสารข้อมูลประชากรโลก ฉบับปี 2566 (World Population Data Sheet 2023) โดย สำนักงานอ้างอิงประชากร (Population Reference Bureau: PRB) ได้ระบุว่าปัจจุบัน ประชากรโลกมีมากกว่า 8 พันล้านคน แต่ภายในปี 2593 คาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 9.8 พันล้านคน ขณะที่การเพิ่มขึ้นของประชากรนั้นช้าลง แต่จำนวนประชากรสูงอายุกลับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ขณะที่ ประเทศไทยเป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึง 14 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ที่ 17 เปอร์เซ็นต์ [3]
โดยประเทศไทย มีแนวโน้มของโครงสร้างประชากรมนุษย์ (population structure) อยู่ในลักษณะพีระมิดทรงกรวยปากแคบ หรือ พีระมิดแบบคงที่ (stationary pyramid) ซึ่งแสดงถึงอัตราเพิ่มขึ้นของแต่ละช่วงอายุอย่างช้า ๆ มีรูปแบบของอัตราการเกิดและอัตราการตายประชากรที่ค่อนข้างต่ำ (แสดงดังรูปที่ 1) ทำให้ประเทศไทยถูกปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และคาดว่าในปี 2576 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super-aged society) โดยประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 28 หรือ ประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากประชากรวัยแรงงานจะลดลงกว่า 3 ล้านคนในทุก ๆ 10 ปี [4]
รูปที่ 1 ภาพเปรียบเทียบแนวโน้มจำนวนประชากรระหว่างปี 2566 และ 2576
ที่มา: Population Reference Bureau
เป็นเหตุให้ภาครัฐ จึงต้องเพิ่มการใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สอดคล้องตามที่รายงานของธนาคารโลก (World Bank) ได้ระบุว่าการที่ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น อาจทำให้จำกัดศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งจากการคาดการณ์ในระยะยาวเศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวลดลงในช่วงปี 2563 ถึง 2593 เนื่องจากจำนวนประชากรและสัดส่วนวัยทำงานที่ลดลง [5]
ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจะเสียกำลังแรงงานไปพร้อมกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะพึ่งพิงหรือไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้ นั่นจึงเป็นโจทย์สำคัญว่าอะไรคือความท้าทายในสังคมผู้สูงอายุ และประเทศไทยจะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศได้อย่างไร ซึ่งจะลงรายละเอียดในหัวข้อถัดไป
02 – ความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุไทย กับรายได้ที่ยัง (ไม่) ยั่งยืน
แม้ว่าผู้สูงอายุในประเทศจะมีรายได้ส่วนที่ถูกจัดการโดยภาครัฐอยู่หลายระบบ ทั้งระบบประกันสังคม ระบบบัญชีเงินออมเพื่อเกษียณอายุ และระบบเงินช่วยเหลือ แต่ในสภาพความเป็นจริงนั้น พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังประสบกับปัญหารายได้ที่ไม่เพียงพอในการเกษียณ ขาดเงินจับจ่ายใช้สอยในการยังชีพช่วงบั้นปลายชีวิต ทำให้ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากลูกหลาน [6] และที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้นคือในบางกรณีเช่น ลูกอายุ 60 ปี ต้องเป็นผู้ดูแลพ่อแม่ที่อายุ 80 ปี กลายเป็นสภาวะที่ผู้สูงอายุต้องมาดูแลผู้สูงอายุด้วยกันเอง เกิดเป็นภาระที่หนักมากในการแบกรับ โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งจากการสำรวจภาวะสังคมและเศรษฐกิจ คนไทย มีรายได้ค่าเฉลี่ยประมาณ 8,400 บาทต่อคน/ต่อเดือน นั่นหมายความว่าคนไทยส่วนใหญ่นั้นมีเงินออมไม่เพียงพอในวัยเกษียณ ทำให้ผู้สูงอายุตลอดจนผู้ที่กำลังจะเป็นผู้สูงอายุจำเป็นต้องพึ่งพาสวัสดิการของรัฐในการดูแลรักษา และการดำรงชีวิตในวัยเกษียณ [7]
ไม่เพียงเท่านั้น ตามข้อมูลของศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) จากการคำนวณอัตราส่วนการพึ่งพิง (age dependency ratio) ของไทย ยังพบอีกว่าวัยแรงงานจะมีภาระรัดตัวมากขึ้น ทำให้การเพิ่มจำนวนประชากรวัยเด็ก การยกระดับเศรษฐกิจ และการเพิ่มภาษีเป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งหากย้อนหลังไป 10 ปี ประชากรวัยแรงงาน 100 คน จะต้องดูแลเด็กและผู้สูงอายุ อยู่ที่ประมาณ 47 คน แต่ในปัจจุบัน อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 56 คน [8] (แสดงดังรูปที่ 2) ทำให้ประเทศไทย จึงมีความท้าทายอย่างมากต่อการยกระดับทางเศรษฐกิจ และภาระทางการคลังที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต
รูปที่ 2 อัตราส่วนการพึ่งพิงของไทย
ที่มา: Think Forward Center คำนวณจาก United Nations (2019)
World Population Prospects
| ระบบรายได้ยามชราภาพของไทยในปัจจุบัน
จากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ชีวิตเมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน หรือหลังอายุ 60 ปีของคนไทย กลายเป็นโจทย์สำคัญ เนื่องจากสัดส่วนของผู้สูงอายุไทยนั้น พึ่งพาแหล่งรายได้หลักจากการทำงาน และสวัสดิการจากภาครัฐ โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพที่มีแนวโน้มพึ่งพาสูงขึ้น ขณะเดียวกันในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนของผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยังทำงานและมีรายได้จากการทำงานนั้นลดลง รวมถึงการทำงานของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคนอกระบบ ซึ่งอาจขาดการคุ้มครองแรงงานที่เหมาะสมและมีระดับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่ต่ำ
และแม้หลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่จัดการโดยภาครัฐจะมีอยู่หลายประเภท ซึ่งหากแบ่งตามนิยามของกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) สามารถแบ่งระบบรายได้ยามชราภาพของไทย ได้เป็นระบบบำนาญหลายชั้น (multi-tier system) อ้างอิงตามลักษณะของกลุ่มอาชีพ สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ แรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ โดยผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงหลักประกันรายได้ยามชราภาพอย่างน้อย 1 ชั้น [9] (แสดงดังรูปที่ 3)
รูปที่ 3 ระบบบำนาญที่จัดการโดยภาครัฐในประเทศไทย
ที่มา: สภาพัฒน์ ปรับปรุงจาก คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้เทนราษฎร, 2564
อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันหลักประกันรายได้จะมีความครอบคลุมต่อประชากรทุกกลุ่มวัยทำงาน ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ แต่ยังเกิด ความ (ไม่) ยั่งยืนทางรายได้ ของผู้สูงอายุ เนื่องจากระบบบำนาญที่จัดการโดยรัฐ ถูกออกแบบเสมือนว่าคนทำงานจะอยู่ในกลุ่มงานนั้นตลอดชีวิตการทำงาน เช่นแรงงานในระบบจะอยู่ในระบบตลอด ทั้งที่แท้จริงแล้วแรงงานส่วนใหญ่มีการโยกย้ายข้ามระบบ ซึ่งอาจทำให้เงินส่งสมทบของแต่ละระบบอาจไม่มากนัก และอาจไม่เพียงพอในการดำรงชีวิตที่เหลือหลังเกษียณ นอกจากนี้ ระบบบำนาญต่าง ๆ ยังมีการบริหารจัดการที่ค่อนข้างแยกส่วน (fragmented systems) เนื่องจากมีหลายระบบและแต่ละระบบอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐคนละหน่วยงานในการจัดการดูแล [10]
ดังนั้น การลงทุนในระบบบำนาญ จึงเป็นวิธีสำคัญในการสร้างความมั่นใจว่าผู้สูงอายุ จะพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจและลดความยากจนเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ [11] และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศ ภาครัฐจำเป็นต้องกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สำหรับเตรียมรับมือกับแนวโน้มการใช้จ่ายที่อาจสูงขึ้น สำหรับการดูแลผู้อายุในอนาคต
03 – แนวทางสร้าง ‘สังคมผู้สูงอายุ’ อย่างมีคุณภาพและนโยบายที่เกี่ยวข้อง
การสร้างความมั่นคงให้สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ อาจนำมาซึ่งความท้าทายสำหรับรัฐบาลและสังคม ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทย จะมีนโยบายเพื่อการเตรียมพร้อมและสร้างความมั่นคงแก่ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พ.ศ. 2565 – 2569 แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2580) และแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะกลาง 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และแม้ภาครัฐจะมีแนวทางในการเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงอายุในทุกระดับ แต่จนถึงปัจจุบันแนวทางเหล่านั้น ก็ยังไม่อาจสะท้อนความก้าวหน้าในทางปฏิบัติมากนัก
เพื่อสร้างสังคมผู้สูงอายุให้มีทิศทางไปต่อได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการทบทวนและปรับปรุงแนวทางการดำเนินการหลักให้สามารถรองรับสังคมสูงวัย เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ส่งเสริม และสนับสนุนผู้สูงอายุอย่างมีความเหมาะสมมากขึ้น เช่น มีการกำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุทั้งด้านการเสริมทักษะอาชีพใหม่ อาชีพทางเลือก เพื่อขยายอายุการทำงานให้ยาวนานขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ ดังนั้น เพื่อสร้างสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพและเกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม จึงสามารถวิเคราะห์ ผ่านมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุทั้ง 4 มิติ [12] ดังนี้
- มิติเศรษฐกิจ ควรมีการบูรณาการระบบบำนาญ และระบบการออมเพื่อยามสูงอายุ พร้อมกับปฏิรูประบบการเงิน การคลังให้เหมาะสมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย นอกจากนี้ ต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนประชากรวัยทำงานทั้งกลุ่มที่เป็นลูกจ้างและไม่ใช่ลูกจ้าง เพื่อเตรียมพร้อมเพิ่มพูนทักษะสู่การขยายอายุงานในยามอายุมากขึ้น พร้อมกระจายแหล่งการจ้างงานในชุมชนและชนบทเป็นการกระจายรายได้ผ่านการจ้างงาน
- มิติสุขภาพ ควรมีการบูรณาการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ และสร้างการบริการสุขภาพของผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ไม่แพง รวมถึงมีข้อมูลการดูแลสุขภาพ และบริการที่จำเป็น เพื่อป้องกัน รักษา และการดูแลในระยะยาว ซึ่งการมีสุขภาพที่ดี จะส่งผลให้เพิ่มโอกาสและลดค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุ ครอบครัว และสังคม
- มิติสังคม เพิ่มบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้มีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงการขับเคลื่อนส่วนกลางเข้ากับระดับพื้นที่ สำหรับสร้างสภาพแวดล้อม และมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ [13] เพื่อสร้างสังคมที่เหมาะสมต่อผู้สูงอายุ
- มิติสภาพแวดล้อม สร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ พร้อมส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับสนับสนุนสูงวัยอย่างเหมาะสม ผ่านการปรับปรุงด้านกฎหมาย เช่น กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2564 ครอบคลุมถึงการจัดหาแและดูแลด้านที่อยู่อาศัยในราคาที่จ่ายได้ พร้อมพัฒนาให้มีระบบขนส่งสาธารณะที่มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก และให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงได้
อย่างไรก็ดี การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีความท้าทายและซับซ้อนในหลายมิติ การวิเคราะห์โดยมองผ่านมาตรการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยใน 4 มิติ เป็นเพียงการช่วยให้เห็นถึงภาพรวมของช่องว่างที่เกิดขึ้นในบางประเด็น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและต่อยอดได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้นพร้อมสู่การปฏิบัติจริงอย่างรอบด้าน
04 – บทสรุป
เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ สำหรับผู้สูงอายุบางคน คงอาจไม่ใช่จุดสุดท้ายของปลายทางที่จะได้หยุดพัก ดังนั้น การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้สูงอายุในปัจจุบันและอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจากภาพรวมความก้าวหน้า และความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ข้างต้น ทั้งเรื่องของรายได้ สวัสดิการ นโยบาย และงบประมาณในการดูแล หรือแม้แต่การเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน (employability) ในวัยสูงอายุนั้น ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่รอการแก้ไขปรับปรุง ซึ่งการแก้ไขปรับปรุงนั้น ไม่อาจอาศัยภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งในการจัดการได้ แต่ต้องยอมรับว่าจากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น “ภาครัฐ” คือรากฐานสำคัญในการระดมทรัพยากรและวางมาตราการที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
ดังนั้น เพื่อสร้างสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ภาครัฐ ควรมีการขยายขอบเขตการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มเติม เช่น ควรออกแบบระบบการจัดการรายได้ยามชราภาพแบบบูรณาการ สำหรับแก้ปัญหาเรื่องรายได้ผู้สูงอายุที่ไม่พอเพียง โดยมองรายได้รวมในทุกระบบ พร้อมผลักดันระบบบำนาญแบบมีส่วนร่วม เพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคงให้กับผู้สูงอายุในอนาคต ตลอดจนสร้างมุมมองว่าผู้สูงอายุยังสามารถช่วยเหลือตนเองและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขไม่ต่างจากคนหนุ่มสาว ซึ่งอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงช่วงชีวิตหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้น และเมื่อทุกอย่างในสังคมทั้งทัศนคติของผู้คน งบประมาณที่เพียงพอ ระบบสุขภาพที่รองรับ และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย พร้อมรองรับต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ เมื่อนั้นการสร้างสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพคงเกิดขึ้นได้จริงและเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– สำรวจนโยบาย ‘บำนาญ’ ของแต่ละประเทศ ในวันที่โลกเผชิญสู่สังคมผู้สูงอายุ
– รายงานของธนาคารโลก ชี้ไทยจำเป็นต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ เตรียมรับมือการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น
– ก่อนไปสู่ ‘Healthy Ageing’ ต้องเข้าใจ 10 ความจริงของ ‘การสูงวัย และ สุขภาพ’
– ผู้สูงวัยที่รู้สึกโดดเดี่ยวบ่อยครั้งมีแนวโน้มมีอายุที่เหลือ และมีช่วงชีวิตที่สุขภาพดีในบั้นปลายสั้นลง
– UN เผยแพร่ The Global Report on Ageism พบว่า ‘การเหยียดอายุ’ ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ
– WHO เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าฉบับแรกของทศวรรษแห่งการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ ชี้ประเทศทั่วโลกต้องมีฟอรัมด้านสุขภาพผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
– (10.4) นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
เอกสารอ้างอิง
[1] สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). ปี 65 ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ สสส.ผนึกภาคี ผลักดันนโยบายเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้สูงอายุทั่วประเทศ. https://www.thaihealth.or.th/?p=219952
[2] กรมกิจการผู้สูงอายุ. (2565). สถิติผู้สูงอายุไทย ปี 2565. https://www.dop.go.th/th/know/side/1/1/1962
[3] Population Reference Bureau. (2023). 2023 World Population Data Sheet. https://2023-wpds.prb.org/wp-content/uploads/2023/12/2023-World-Population-Data-Sheet-Booklet.pdf
[4][9] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2023). การประเมินผลกระทบและความยั่งยืนของการบริโภคของผู้สูงอายุภายใต้ระบบบำนาญของประเทศไทย. https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=14368&filename=PageSocial
[5] ธนาคารโลก. (2566). รายงานการประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทยการส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน. https://www.worldbank.org/th/country/thailand/publication/th-prsa
[6][10] ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2564). ระบบรายได้ยามชราภาพที่จัดการโดยภาครัฐทำไมต้องปฏิรูปและเราจะปฏิรูปอย่างไร. https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-64-2/the-knowledge-64-2-1.html
[7][8] ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต. (2565). รากฐานความมั่นคงทางการเงินและการดูแลผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า. https://think.moveforwardparty.org/paper/silvereconomy/
[11] UNFPA Thailand. (2021). สูงวัยในศตวรรษที่ 21: การเฉลิมฉลองและความท้าทาย. https://www.unfpa.org/sites/default/files/pub-pdf/Thai%20summary_Ageing%20in%20the%2021st%20Century_0.pdf
[12] จารุวรรณ ศรีภักดี. (ม.ป.ป). การขับเคลื่อนมาตรการรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืนของประเทศไทยไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ. https://www.dop.go.th/download/knowledge/th1658208320-1649_0.pdf
[13] การเงินธนาคาร. (2023). ผู้สูงอายุไทย 45.7% ไม่มีเงินออม 1 ใน 3 พึ่งพาตัวเองไม่ได้ ต้องแก้อย่างไรให้คนไทย “แก่” แต่ยัง “เก๋า”. https://moneyandbanking.co.th/2023/78132/
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
Last Updated on มีนาคม 20, 2024