สืบเนื่องจากวันที่ 8 มีนาคม 2567 เป็นวันสตรีสากล องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ได้เรียกร้องให้โลกเร่งความก้าวหน้าการลงทุนเพื่อสตรี หรือ ภายใต้ธีม “Invest in Women, Accelerate Progress” ซึ่งเป็นประเด็นหลักของการถกสนทนา โดยระบุว่าการลงทุนเพื่อสตรีเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างความเจริญ และสังคมที่เท่าเทียม
ปัจจุบันทั้งสงครามและวิกฤติต่าง ๆ กำลังทำลายหนทางในการบรรลุเป้าหมายการลงทุนด้านความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งดำเนินมาหลายทศวรรษ ทั้งในแถบตะวันออกกลางไปจนถึงเฮติ ซูดาน เมียนมา ยูเครน อัฟกานิสถาน และอีกหลายประเทศ จากวิกฤตเหล่านั้นผู้หญิงมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมากสำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากพวกเขาเอง ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีการดำเนินสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดช่องว่างความยากจนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการแข่งขันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่ขาดแคลนทวีความรุนแรง การดำรงชีวิตถูกคุกคาม สังคมเกิดการแบ่งแยก และผู้หญิงแบกภาระหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น
- ทุก 1 ใน 10 ของผู้หญิงในโลกตกอยู่ในความยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty)
- จำนวนผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งเพิ่มขึ้นสองเท่า ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งปัจจุบันมีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมากกว่า 614 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีชีวิตอยู่ในความยากจนขั้นรุนแรงถึง 7.7 เท่า
- ภายในปี 2573 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงกว่า 236 ล้านคน ตกอยู่ในความหิวโหยมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า ซึ่งผู้ชายอยู่ที่ 131 ล้านคน
- ในช่วงวัยทำงานมีผู้หญิงเพียงร้อยละ 61 เท่านั้นที่อยู่ในกำลังแรงงาน เทียบกับผู้ชายอยู่ที่ร้อยละ 90
อย่างไรก็ดี ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมากกว่า 100 ล้านคนสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษา การวางแผนครอบครัว การจ่ายค่าจ้างอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน รวมถึงการขยายผลประโยชน์ทางสังคม เช่น จากการคาดการณ์จะสามารถสร้างงานได้เกือบ 300 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2578 ผ่านการลงทุนในงานด้านการบริการดูแล เช่น การดูแลรับเลี้ยงเด็ก และการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งการปิดช่องว่างระหว่างเพศที่เกี่ยวกับการจ้างงาน อาจช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ต่อหัวได้ร้อยละ 20 ในทุกภูมิภาค
ความเป็นจริงการดำเนินการดังกล่าว ยังคงห่างไกลจากที่ระบุไว้ซึ่งในประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นจะต้องมีการสนับสนุนเงินเพิ่มอีก 360 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อให้บรรลุความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมอำนาจของสตรี นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนที่จำเป็นในด้านอื่น ๆ เช่น กฎหมายและนโยบายที่ส่งเสริมสิทธิผู้หญิงและเด็กผู้หญิง การเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคมที่เป็นอุปสรรคต่อความเท่าเทียมทางเพศ รับประกันการเข้าถึงที่ดิน ทรัพย์สิน การดูแลสุขภาพ การศึกษา และงานที่มีคุณค่าของผู้หญิง รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินแก่เครือข่ายกลุ่มสตรีในทุกระดับ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเร่งความคืบหน้าในการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั่วโลก
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– 8 มีนาคม 2564 วันสตรีสากลปีนี้ ผู้หญิงจะเป็นผู้นำสร้างอนาคตที่เท่าเทียมในยุคโควิด-19
– ญี่ปุ่นพิจารณาให้บริษัทระบุข้อมูลรายได้เฉลี่ยตามเพศในรายงานประจำปี เพื่อลดช่องว่าง – สร้างความเท่าเทียม
– รายงานของ UNODC และ UN Women เผย ‘บ้าน’ คือสถานที่สร้างความรุนแรง ต่อผู้หญิงและเด็กหญิงหลายคนทั่วโลก
– ASEAN Gender Outlook แสดงให้เห็นว่า การสนับสนุนผู้หญิงและเด็กหญิงที่เปราะบาง เป็นกุญแจสำคัญไปสู่การบรรลุ SDGs
– ผู้หญิงยังคงเผชิญกับ ‘ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ’ (GBV) ในแต่ละวัน แต่รัฐบาลและงานด้านมนุษยธรรมยังให้ความสำคัญน้อยเกินไป
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.5) ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมทั้งลดความเสี่ยงและความล่อแหลมต่อภาวะสภาพอากาศผันผวนรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล และมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณะ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
แหล่งที่มา: 1 in every 10 women in the world lives in extreme poverty – unwomen
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย