Editor’s pick 06 | “ฤดูร้อน-ฝุ่น” ยังป่วนไทย ขณะที่โลกวุ่น เหตุ “สงคราม-ความขัดแย้ง” ที่ยังไม่รู้วันจบ 

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

เดินทางเข้าสู่เดือนที่สามของปีกันแล้วพร้อมกับต้อนรับ “ฤดูร้อน” และ “ฤดูฝุ่น” ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่าย ๆ ตอกย้ำว่าปัญหามลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นสองเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งคิด-เร่งแก้ กันชนิดด่วนจี้ ขณะที่เวทีโลกยังถกสนทนาหาทางยุติสงครามและความขัดแย้ง โดยเฉพาะระหว่างอิสราเอลและขบวนการฮามาส ซึ่งทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อชีวิตพลเรือนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ช่วงสองเดือนแรกของปียังเป็นห้วงเวลาของการเผยแพร่รายงานที่เกี่ยวข้องกับ SDGs จำนวนมาก

จดหมายข่าวฉบับนี้ จึงได้รวบรวมสถานการณ์ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในรอบหนึ่งเดือนนี้แบบกระชับ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข่าวสารหรือบทความ พร้อมอัปเดตเรื่องราวสำคัญและแนะนำสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาให้ทุกท่านรอติดตาม 

เช่นเคย จดหมายข่าวฉบับนี้ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 4 ส่วน

  • Editor’s note: ข้อความจากบรรณาธิการ หยิบยกประเด็นและข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อน SDGs 
  • Highlight issues: อัปเดตข่าวสาร ความเคลื่อนไหวสำคัญ แนะนำคอลัมน์คัดสรรที่อยากให้ทุกคนอ่าน
  • Our Activities: แนะนำกิจกรรมสำคัญที่ SDG Move และเครือข่ายได้ดำเนินการในรอบเดือนที่ผ่านมา
  • Upcoming event: แนะนำกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นและอยากชวนทุกคนติดตามกิจกรรมน่าสนใจในแวดวง SDGs ที่กำลังจะเกิดขึ้น


Editor’s note

เริ่มต้นปี 2567 มาได้สองเดือนอย่างรวดเร็ว แต่ดูเหมือนปัญหาคาราคาซังอย่าง “ฝุ่น PM2.5” ในไทย จะยังแก้ไม่ตก หลายวันค่าฝุ่นพุ่งแตะระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนหลายภาคส่วนตื่นตัวออกมาแจ้งเตือนเคลื่อนไหวกันถ้วนหน้า โดยความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่น้อย คือการที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติเป็นเอกฉันท์ 443 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ให้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ ซึ่งมีทั้งที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และหลักการร่างกฎหมายอากาศสะอาด ที่ภาคประชาชนกว่า 22,000 รายชื่อ และพรรคการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์เสนออีกด้วย ซึ่งนับเป็นอีกหมุดหมายของความพยายามหยุดยั้งมลพิษทางอากาศในไทย

นอกจากนี้ อีกปัญหาที่เชื่อมโยงกันคือ “สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว” ซึ่งมีส่วนทำให้ฝุ่น PM2.5 ยังคงอยู่ โดยนับว่าเป็นหนึ่งในความเสี่ยงโลกประจำปี 2567 จากรายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2567 (Global Risks Report 2024) โดย สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ซึ่งประเด็นนี้เป็นความเสี่ยงมิติสิ่งแวดล้อม โดยติดอันดับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะรุนแรงในระยะยาว 10 ปี ได้แก่ อันดับ 1 ความเสี่ยงจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว 

ขณะที่ประเด็นระดับโลกซึ่งถกสนทนากันมานานและยังตั้งโต๊ะดึงนานาประเทศมาพูดคุยกันต่อไปคือ “สงคราม ความขัดแย้ง และสันติภาพ” โดยเฉพาะสงครามระหว่างอิสราเอลกับขบวนการฮามาสครั้งล่าสุด ซึ่งขณะนี้ผ่านมาแล้ว 5 เดือน ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของกาซาเผยว่ามีชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารแล้วกว่า 30,000 ราย จากจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กและผู้หญิงไม่น้อยกว่า 70% ขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุด เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2567 สหรัฐอเมริกา อียิปต์ และกาตาร์ ได้จัดการหารือเพื่อยุติการหยุดยิงระหว่างทั้งสองฝ่ายขึ้นที่ประเทศอียิปต์ อย่างไรก็ดียังไม่มีข้อสรุปร่วมว่าสงครามจะจบลงในเร็ววัน 

ชวน Updates กระแสโลก

SDG Updates: ‘พิษ-แพร่-พัง’ หายนะจากสงครามต่อการล่มสลายของระบบสุขภาพ

การสู้รบครั้งล่าสุดระหว่างอิสราเอลกับขบวนการฮามาสล่วงเลยเข้าสู่เดือนที่ห้าแล้ว โดยข้อมูลจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 พบว่าความขัดแย้งและความรุนแรงดังกล่าวส่งผลให้โรงพยาบาลในพื้นที่กาซากว่า 16 แห่งจาก 35 แห่ง และศูนย์การแพทย์ 51 แห่งจาก 76 แห่งในฉนวนกาซา ไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากอาคารเสียหายและขาดแคลนเชื้อเพลิง นอกจากนี้ยังมีรถพยาบาลอีกกว่า 50 คันที่ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถใช้การได้ 

ความรุนแรง การสู้รบ และสงคราม มีความเกี่ยวโยงกับการทำลายระบบสุขภาพของประเทศต่าง ๆ ไม่น้อย อีกทั้งปลายทางของวิกฤติการณ์ข้างต้นคือการพังทลาย ‘สันติภาพและสังคมสงบสุข’ อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ SDGs ไม่ให้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน SDG Updates ฉบับนี้จึงชวนสำรวจผลกระทบของสงครามต่อสุขภาพของผู้คน พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าเป็นอุปสรรคท้าทายต่อการบรรลุ SDGs โดยเฉพาะ SDG3 และ SDG16 อย่างไร 

อ่านบทความฉบับเต็ม และอินโฟกราฟิกเข้าใจง่ายได้ที่นี่

SDG Updates: ‘พิษ-แพร่-พัง’ หายนะจากสงครามต่อการล่มสลายของระบบสุขภาพ

Director’s Note: 31: ทำธุรกิจอย่างมีหัวใจ เพื่อสร้างกำไรและดูแลโลกไปพร้อมกัน

ผศ. ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move อัปเดตเทรนด์แห่งอนาคต โดยเฉพาะกับในภาคธุรกิจที่มีความสอดคล้องกับหลักความยั่งยืน ผ่านหัวข้อ “ทำธุรกิจอย่างมีหัวใจ เพื่อสร้างกำไรและดูแลโลกไปพร้อมกัน (Sustainability Trend)” 

Director’s Note: 31: ทำธุรกิจอย่างมีหัวใจ เพื่อสร้างกำไรและดูแลโลกไปพร้อมกัน

ชวนอ่านรายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปี 2567
(Asia and the Pacific SDG Progress Report 2024) 

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UN Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปี 2567 (Asia and the Pacific SDG Progress Report 2024) ซึ่งให้ภาพรวมเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเป้าหมายระดับโลกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และประเด็นสำคัญมุ่งไปที่การเตือนว่าภูมิภาคนี้จะไม่สามารถบรรลุ SDG17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ได้ก่อนปี พ.ศ. 2605  โดยเรื่องเพศและพื้นที่ถูกยกเป็นปัจจัยสำคัญในระดับการตัดสินใจเกี่ยวกับความยากจนและความไม่เท่าเทียม

ประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่ปรากฏในรายงานข้างต้น เช่น 1) มีการอภิปรายเรื่องราวความสำเร็จและแนวโน้มต่าง ๆ โดยเน้นไปที่ความท้าทายที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งต้องเผชิญในภาคส่วนต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมถึงเรื่องเพศ การขยายตัวของเมือง ระดับการศึกษา อายุ และรายได้ ซึ่งล้วนมีส่วนหนุนเสริมให้ความไม่เสมอภาคต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่เดิมมีความรุนแรงมากขึ้น 2) ค้นพบว่า SDGs ที่มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ SDG1 (ขจัดความยากจน) และ SDG9 (โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม) อย่างไรก็ตามอาจยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุได้ ภายในปี 2573 นอกจากนี้ยังมีความพยายามขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ก้าวหน้าขึ้น สำหรับ SDG2 (ขจัดความหิวโหย) SDG3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) SDG6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล) SDG7 (พลังสะอาดที่เข้าถึงได้ ) และ SDG11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) และ 3) ตัวอย่างกรณีศึกษาระดับประเทศที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อน SDGs เช่น โครงการฝึกอบรมด้านดิจิทัลในประเทศเวียดนาม ซึ่งเน้นบทบาทที่ก่อให้เกิดผลอย่างจริงจังของภาครัฐและเอกชนในการเร่งรัดการพลิกโฉมทางดิจิทัล การเป็นสะพานแห่งทักษะ และการปิดช่องว่างในการจ้างงานในหมู่เยาวชนและแรงงานอพยพ

ชวนชมภาพยนตร์

Tudum เว็บไซต์เผยแพร่ข่าวสาร บทความ และเนื้อหาเบื้องหลังภาพยนตร์ ของ Netflix คัดสรรภาพยนต์ 10 เรื่อง เพื่อความเข้าใจและสร้างการตื่นตัวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งมีทั้งภาพยนตร์ตลก แนวสืบสวนสอบสวน ไปจนถึงสารคดี โดยชวนรู้จักภาพยนตร์ 3 เรื่องจาก 10 เรื่องที่น่าสนใจ ดังนี้

01 – Don’t Look Up
กำกับโดย : Adam McKay

02 – Captain Nova
กำกับโดย : Maurice Trouwborst

03 – Youth v Gov
กำกับโดย : Christi Cooper


Highlight Issues

จากการติดตามข่าวสารและประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs ทั้งระดับนานาชาติ และประเทศไทย ภายใต้โครงการ SDG Watch ในช่วงเดือนมกราคม จนถึง กุมภาพันธ์ 2567 พบว่ามีข่าวสารที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs อย่างมีนัยยะสำคัญ ดังสรุปได้ ดังนี้


ระดับนานาชาติ

  1. ประเด็นสำคัญสำหรับขับเคลื่อน SDGs ปี 2567 เลขาธิการ UN เน้นย้ำ “สันติภาพ ความร่วมมือ และการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงิน” 
    วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แถลงในการประชุมเตรียมการเพื่อการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA’s plenary meeting) ถึงลำดับประเด็นสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2567 โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพในฐานะเป้าหมายลำดับแรกของปีนี้ ประเด็นสำคัญจากการแถลงของ António Guterres เช่น 1) สันติภาพของโลกกำลังถูกคุกคามมากขึ้นโดยสาเหตุจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งขั้วทางอำนาจ และความไม่เท่าเทียม และ 2) ครอบครัวที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังมีเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศมีหนี้สินท่วมท้น และผู้คนจำนวนมากสูญเสียความไว้วางใจต่อสถาบัน เช่นนั้นสันติภาพจึงเป็นเรื่องที่เราต้องเรียกร้องเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริง
  2. รายงานข้อมูลประชากรโลกปี 2566 ชี้ ‘Climate Change’ มีผลต่ออัตราการตายทั่วโลก – ขณะที่ไทยจะมีประชากรในปี 2593 น้อยกว่าปัจจุบัน 8 ล้านคน
    ข้อมูลจากเอกสารข้อมูลประชากรโลก ฉบับปี 2566  (World Population Data Sheet 2023) โดยสำนักงานอ้างอิงประชากร (Population Reference Bureau: PRB) เผยว่าลักษณะประชากร เช่น อายุ เพศ สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนบางกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น น้ำท่วมซ้ำซาก การหยุดชะงักของกระบวนการผลิตอาหาร และโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดความเสียหาย ที่ล้วนเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    รายงานฉบับดังกล่าวระบุข้อค้นพบสำคัญว่าในปัจจุบัน มีประชากรโลกมากกว่า 8 พันล้านคน แต่ภายในปี 2593 คาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 9.8 พันล้านคน ขณะที่ ประชากรของยุโรปตะวันออก คาดว่าจะลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2593 ขณะเดียวกันคาดว่าในแอฟริกาจะมีส่วนในการเพิ่มขึ้นหรือการเติบโตของจำนวนประชากรโลก นับตั้งแต่ปัจจุบันถึงปี 2593 อยู่ที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์
  3. World Economic Forum เผยเหตุการณ์ ‘สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว’ ติดอันดับหนึ่ง ความเสี่ยงโลกในทศวรรษหน้า
    เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เผยแพร่ รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2567 (Global Risks Report 2024) ได้ระบุถึง ความเสี่ยงจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วในทศวรรษหน้า และการแบ่งขั้วทางสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโลก ขณะที่เรื่อง ‘ข้อมูลที่ผิดและข้อมูลบิดเบือน’ (misinformation and disinformation) ก็ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในระยะสั้นหรือช่วง 2 ปีข้างหน้า รวมถึงประเด็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

    รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2567 นำเสนอผลจากการเก็บข้อมูลผ่านการสำรวจ Global Risks Perception Survey (GRPS) ปี 2566 – 2567  โดยได้สำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนที่มีต่อความเสี่ยงโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น (2 ปี) และความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในระยะยาว (10 ปี) และเพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงโลก World Economic Forum จึงได้วิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงผ่าน 5 มิติ ประกอบด้วย มิติเศรษฐกิจ (economic) มิติสังคม (societal) มิติสิ่งแวดล้อม (environmental) มิติภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical) และมิติเทคโนโลยี (technological)
  4. ILO เผยมาตรการ ‘ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย’ สำคัญต่อการป้องกันความรุนแรง และการคุกคามในการทำงาน
    รายงานฉบับใหม่ ‘Preventing and addressing violence and harassment in the world of work through occupational safety and health measures’ โดย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ออกมาเน้นย้ำถึงการใช้กรอบงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Occupational Safety and Health : OSH) ในการทำงาน สำหรับแก้ไขรากของปัญหาความรุนแรงและการคุกคาม รวมถึงส่งเสริมการดำเนินการร่วมกันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น

    มาตรการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความครอบคลุม แนวทางบูรณาการและตอบสนองต่อบทบาททางเพศในการป้องกัน ขจัดความรุนแรง และการคุกคามในโลกการทำงาน ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าว พบว่ามากกว่า 1 ใน 5 คน เคยเผชิญกับความรุนแรงและการคุกคามในการจ้างงาน ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นในสถานที่ทำงานทุกประเภท รวมถึงอาจเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง การเดินทางที่เกี่ยวข้องกับงาน การทำกิจกรรม การสื่อสารทางดิจิทัล กิจกรรมทางสังคม หรือแม้แต่ในโฮมออฟฟิศที่เป็นพื้นที่ภายในบ้าน
  5. Coldplay – วงดนตรีระดับโลกวงเเรก ที่พยายามผลักดันเเละเผยเเพร่ด้านความยั่งยืน
    Coldplay กำลังทำให้ Music Of The Spheres Tour เป็นทัวร์ที่ยั่งยืนและปล่อยคาร์บอนต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยยึดตามหลักการสำคัญ 3 ข้อ ดังนี้ 1) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลง 50% 2) สนับสนุนเทคโนโลยีสีเขียวใหม่ๆ และพัฒนาวิธีการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ยั่งยืนและคาร์บอนต่ำเป็นพิเศษ และ 3) ทำให้การท่องเที่ยวเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยการระดมทุนสำหรับโครงการที่อิงกับธรรมชาติและเทคโนโลยี และโดยการลดปริมาณคาร์บอนมากกว่าที่ทัวร์สร้างขึ้น ที่น่าสนใจไปกว่านั้น Coldplay ได้จัดทำรายงานความยั่งยืนก่อนการทัวร์ รายงานเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดและอภิปรายการเป้าหมายที่จับต้องได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น

อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ

ประเทศไทย

  1. เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะฯ เข้าพบนายกฯ เสนอ 4 ข้อให้ทบทวนและปรับเปลี่ยนแนวทางโครงการแลนด์บริดจ์ หวังความครอบคลุม เป็นธรรม และยั่งยืนมากขึ้น
    วันที่ 23 มกราคม 2567 เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ–กลุ่มคัดค้านแลนด์บริดจ์ ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ ศูนย์ดำรงธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง เพื่อยื่นเรื่องและเรียกร้องให้รับฟังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ข้อสังเกตหลักต่อโครงการแลนบริดจ์โดยสรุปของกลุ่มข้างต้น เช่น กระบวนการศึกษาที่ผ่านมา ถือว่าด้อยมาตรฐานทางวิชาการและไม่เคารพการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับขั้นตอนการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลได้รับข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจดำเนินโครงการอย่างถูกต้อง
  2. ฝุ่น PM2.5 คุกคามสุขภาพประชาชนอย่างหนัก ผลตัวชี้วัดแผนวาระฝุ่นแห่งชาติ พุ่งสูงขึ้นในปี 2566
    ข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่าฝุ่นมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่าในปี 2566 กรุงเทพมหานคร มีวันที่อากาศดีอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเพียง 31 วัน คิดเป็นร้อยละ 8.52 ของทั้งปี นับว่าลดน้อยลงจากปีก่อนหน้า ที่มีอากาศดี 49 วัน ซึ่งฝุ่นละออง PM 2.5 กระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันปัจจุบันก็ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการจัดการ แม้มีมาตรการ จากคณะรัฐมนตรีเป็นข้อสั่งการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 และกลไกการบริหารจัดการ
  3. ไทยติดอันดับ 63 ดัชนีประชาธิปไตยปี 2566 ถูกจัดเป็นระบอบที่ยังคงบกพร่อง
    The Economist Intelligence หรือ EIU เผยแพร่รายงานการจัดอันดับประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ ในปี 2566 โดยธีมหลักของเนื้อหารายงานรอบปีที่ผ่านมา คือสถานการณ์ประชาธิปไตยท่ามกลางยุคแห่งความขัดแย้ง โดยสถานการณ์ประชาธิปไตยในโลกมีแนวโน้มแย่ลงเรื่อย ๆ ขณะที่ สถานการณ์ประชาธิปไตยของไทย EIU ยังไม่จัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งมีอยู่เพียง 24 ประเทศและส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในแทบยุโรปตะวันตก อเมริกาใต้บางประเทศ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันและทวีปออสเตรเลีย ส่วนไทยยังคงถูกจัดเป็นระบอบประชาธิปไตยที่บกพร่อง โดยตกจากอันดับ 55 ในปี 2565 มาเป็นอันดับ 63 ในปี 2566 ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าเพราะเหตุใดแม้มีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่แล้วแต่กลับตกมาถึง 8 อันดับ
  4. สภาฯ มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่างกฎหมายประมงทั้ง 8 ฉบับ
    วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ และมีร่างในทำนองเดียวกันอีก 7 ฉบับ โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายว่า กฎหมายประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุม หรือ IUU ปี 2558 ที่ระบุชัดว่าเราต้องปฏิบัติตามหลักการใช้เขตอำนาจรัฐนอกดินแดน และหากประเทศไทยไม่ปฏิบัติตาม ก็จะไม่สามารถส่งสินค้าประมงไปขายสหภาพยุโรปได้นั้น ชาวบ้านทำได้แค่จับปลาโดนบีบจนไม่มีทางเลือก กลายเป็นคนส่งออกไม่ได้รับโทษ คนที่รับโทษไม่ได้ส่งออก จึงเป็นความอยุติธรรมตลอด 10 ปีที่ผ่าน 
  5. ในช่วง 2 ปี อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียนไทย เพิ่มขึ้น 10 เท่า 
    สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุม การพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เรื่อง การสร้างการรับรู้การสื่อสารและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อตอกย้ำความสำคัญของการสื่อสาร สร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง หลังพบเด็ก เยาวชน จำนวนมากยังขาดความเข้าใจถึงโทษภัย เนื่องจากห่วงการเสพติด ‘นิโคตินสังเคราะห์’ เพราะเติมได้ไม่จำกัด เตรียมผลักดันรัฐสื่อสารความเข้าใจ เนื่องจากพบสถิติว่าในช่วง 2 ปี ระหว่างปี 2564-2566 การสูบในกลุ่มคนทั่วไปอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก 7.8 หมื่นคน ในปี 2564 เป็น 7 แสนคน ในปี 2565 หรือเพิ่มถึง 10 เท่า และที่น่าเป็นห่วง คือ อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียนไทย อายุ 13-15 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.1% ในปี 2564 เป็น 17.6% ในปี 2565 จึงต้องลบมายาคติว่าปลอดภัย ช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้ พร้อมย้ำว่าบุหรี่ไฟฟ้า รุนแรงเทียบยาเสพติดและผลักดัน 8 ข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การแก้ไขปัญหา

อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ


Our Activities


Upcoming event

เวทีเสวนาสาธารณะ SDGs แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา ตลอดเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2567 

เวทีเสวนาสาธารณะ โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 1.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2.เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) 3.ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 4.คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5.หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Futures & Policy) 6.ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดึแห่งชาติ (MTEC) 7.คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 8.คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 9.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI)

กำหนดการจัดเวทีเสวนา ประกอบด้วย 6 เวทีเสวนา ดังนี้

สำหรับเดือนมีนาคม สามาถติดตามการเสวนาได้อีก 2 เวที ดังนี้

  • หัวข้อเสวนาที่ 5 “การวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของกลุ่มการจัดการของเสียและมลพิษ” (โครงการย่อยที่ 2)
    วันพุธ ที่ 20 มีนาคม 2567
    เวลา 09.00 – 12.00 น. (ระบบเปิดตั้งแต่ 08.30 น.)
  • หัวข้อเสวนาที่ 6 “โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา”
    วันพุธ ที่ 20 มีนาคม 2567
    เวลา 13.00 – 16.00 น. (ระบบเปิดตั้งแต่ 12.30 น.)

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานและรับกำหนดการณ์เพิ่มเติม ได้ที่นี่ หรือ สามารถสแกนผ่าน QR Code ด้านมุมขวาล่างของโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์
และสามารถรับฟังผ่านระบบ Facebook Live : SDG Move TH


อติรุจ ดือเระ – เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น