SDG Updates | สรุปประเด็นสำคัญ รายงานความก้าวหน้า SDGs ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific SDG Progress Report 2024)

รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2024 (Asia-Pacific SDG Progress Report 2024) โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) ซึ่งเผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2024 นำเสนอผลการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และเป็นรายงานอีกฉบับที่ย้ำเตือนว่าความเป็นไปได้ของภูมิภาคนี้ที่จะไปถึงเป้าหมายปลายทางให้ทันในปี 2030 นั้นยังอยู่ไกลเกินเอื้อม

SDG Updates ฉบับนี้สรุปข้อค้นพบที่สำคัญจากรายงาน Asia and the Pacific SDG Progress Report 2024: Showcasing Transformative Actions” เพื่อให้ผู้อ่านทุกคนพร้อมอัปเดตข้อมูลล่าสุดของความก้าวหน้าด้าน SDGs ในภูมิภาคของเราจากรายงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งประจำปีนี้


01 | ภาพรวมความก้าวหน้าของ SDGs ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

การประเมินความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน SDGs ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจากข้อมูลทั้งหมด 58 ประเทศ/เขตปกครอง ระบุว่าความก้าวหน้าในภูมิภาคนี้เชื่องช้าจนน่าเป็นห่วง และเป็นอีกปีที่รายงานชุดนี้ยืนยันการคาดการณ์ว่า จะไม่มี SDGs เป้าหมายใดที่บรรลุได้ทันภายในปี 2030 และหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับพลิกโฉม ด้วยแนวโน้มระดับนี้ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะสามารถบรรลุทั้ง 17 เป้าหมายนี้ได้ในปี 2062 ซึ่งช้ากว่าที่ประชาคมโลกกำหนดไว้ถึง 32 ปี หากคิดเป็นตัวเลขสถิติ ความก้าวหน้าในภาพรวมของภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย คือจาก 4.4% ในปี 2017 มาถึงแค่ 17% ในปี 2023

เมื่อพิจารณาระดับเป้าหมาย (Goal) เห็นได้ว่าภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีผลงานความก้าวหน้าเชิงบวกที่โดดเด่นในเป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน และเป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรมโดยปัจจัยความสำเร็จของเป้าหมายที่ 1 บางส่วนมาจากการบังคับใช้มาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ตกอยู่ภายใต้ความยากจนขั้นรุนแรงและลดสัดส่วนของประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนระดับชาติได้ สำหรับเป้าหมายที่ 9 มาจากการให้การสนับสนุนระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ในอีกด้าน แนวโน้มการถดถอย (regression) ของการพัฒนาของเป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องจัดการ แม้ว่าสถานการณ์สภาพอากาศเลวร้ายที่รุนแรงและคาดการณ์ไม่ได้ ตลอดจนภัยธรรมชาติทวีความรุนแรงและเกิดถี่ขึ้นในภูมิภาคนี้ แต่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกก็ยังคงเป็นต้นกำเนิดของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งของโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการใช้พลังงานถ่านหิน โดยจากการประเมินล่าสุดนี้ ตัวชี้วัดที่ต้องดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาคือ การบูรณาการมาตรการด้านการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเข้ากับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนของชาติ และเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวและศักยภาพในการปรับตัวเพื่อรับมือกับอันตรายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเป้าหมายที่ต้องการการจัดการอย่างเร่งด่วน ทั้งเป้าหมายที่ 8 เป้าหมายที่ 12 เป้าหมายที่ 14 เป้าหมายที่ 15 และเป้าหมายที่ 17 เพราะเป็นเหล่าเป้าหมายที่มีความก้าวหน้าน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 รวมถึงแนวโน้มของเป้าประสงค์ภายใต้เป้าหมายเหล่านี้ที่จะบรรลุได้ทันเวลาต่ำกว่า 10%

ขยับลงมาดูในระดับเป้าประสงค์ (target) เป้าประสงค์ที่มีข้อมูลเพียงพอนำมาประเมินได้มี 116 เป้าประสงค์จากทั้งหมด 169 เป้าประสงค์ ซึ่งในจำนวนเป้าประสงค์ที่วัดได้ มีแค่ 11% หรือ 13 เป้าประสงค์ เท่านั้นที่มีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุได้ทันภายในปี 2030 (สีเขียวในภาพด้านบน) และมี 20 เป้าประสงค์ที่มีแนวโน้มสวนทางการพัฒนา (reverse trend) (สีแดงในภาพด้านบน) ซึ่งเป้าประสงค์ที่เดินถอยหลังเหล่านี้กระจายตัวอยู่ภายใต้เป้าหมาย SDGs ส่วนใหญ่เป็นจำนวนถึง 14 เป้าหมาย

ในระดับตัวชี้วัด (indicator)[1] บนฐานข้อมูล Asia-Pacific SDG Gateway แสดงผลการประเมินแนวโน้มของตัวชี้วัดที่มีแนวโน้มเดินถอยหลังพบว่ามีถึง 27 ตัวชี้วัด ในที่นี้จะขอหยิบยกตัวชี้วัด 10 ตัวที่มีสถานะปัจจุบันถอยหลังจากเป้าหมายที่ควรจะเป็นในปีนี้

10 ตัวชี้วัดที่ออกนอกเส้นทาง ไกลที่สุด

เป้าหมายตัวชี้วัดคำอธิบาย
SDG 1414.7.1การทำประมงยั่งยืน
SDG 1111.5.2ความสูญเสียทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานและบริการอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ
SDG 88.4.2รอยเท้าวัสดุ (Material Footprint: MF) (ตัวชี้วัด 12.2.1)
SDG 11.5.2ความสูญเสียทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ
SDG 33.8.2ค่าใช้จ่ายครัวเรือนด้านสุขภาพ
SDG 22.1.2ความไม่มั่นคงทางอาหารระดับปานกลางถึงรุนแรงในประชากร
SDG 11.5.1การเสียชีวิต/สูญหาย/ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ (ตัวชี้วัด 11.5.1, 13.1.1)
SDG 1616.b.P1ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ
SDG 66.6.1ขอบเขตของแหล่งน้ำถาวร
SDG 1313.2.2การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG)

02 | ความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาเกิดขึ้นไม่เท่ากัน ในกลุ่มประชากร

แม้ว่าเป้าหมาย SDGs มุ่งหมายเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทุกคน (universal) แต่ผลลัพธ์การดำเนินการที่ปรากฏต่อแต่ละกลุ่มประชากรที่จำแนกตามเพศ อายุ และถิ่นที่อยู่ ล้วนส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านพัฒนาที่มีอยู่และดูจะทำให้แย่กว่าเดิม

รายงานฉบับนี้ให้ข้อมูลจากการประเมินว่า ผู้หญิงและเด็กหญิงเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงการศึกษาและโอกาสทางการจ้างงาน ขณะที่ผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย และอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่า

นอกจากประเด็นด้านเพศแล้ว สภาพความเป็นเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระดับความยากจนและความเหลื่อมล้ำของคนในพื้นที่ คนในชนบทมีแนวโน้มเข้าถึงน้ำสะอาดและเชื้อเพลิงสะอาดสำหรับทำอาหารได้ยากกว่า ซึ่งล้วนส่งผลต่อทั้งโรคระบาดและโรคทางเดินระบบหายใจตามมา และแม้ว่าประชากรที่อาศัยในเขตเมืองมีแนวโน้มความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดีกว่า แต่เด็กชายและเด็กหญิงในกลุ่มคนยากจนที่สุดในเขตเมืองมีโอกาสจบมัธยมปลายต่ำกว่า

การวิเคราะห์จากรายงานยืนยันความจำเป็นในการมีข้อมูลที่ละเอียด เพื่อทำความเข้าใจว่ากลุ่มประชากรที่แตกต่างกันได้รับผลกระทบต่างกันอย่างไรได้ดียิ่งขึ้น และข้อมูลเหล่านี้ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลในการนำข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ไปใช้ในการกำหนดนโยบายที่มุ่งเป้าแก้ปัญหาที่ต้นตอสาเหตุได้


03 | ช่องว่างของข้อมูล: อุปสรรคต่อการประเมินความก้าวหน้า

ปัญหาด้านความพร้อมใช้ของข้อมูลในภูมิภาคนี้ เป็นปัญหาต่อเนื่อง รายงานฉบับนี้เปิดเผยว่า จำนวนตัวชี้วัด (indicator) ของ SDGs เกือบครึ่งยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการประเมินความก้าวหน้าได้อย่างเหมาะสม จากตัวชี้วัด SDGs ทั้งหมด 231 ตัว มีเพียง 133 ตัวเท่านั้นที่มีข้อมูลเพียงพอ และตัวชี้วัดมากกว่า 1ใน 3 ยังคงขาดข้อมูลโดยชิ้นเชิง

เป้าหมายที่ 5 และเป้าหมายที่ 16 ยังคงเป็นเป้าหมายที่มีข้อมูลพร้อมใช้น้อยที่สุด ในทางกลับกัน เป้าหมายที่ 3 เป้าหมายที่ 7 และเป้าหมายที่ 15 เป็นเป้าหมายที่มีข้อมูลพร้อมใช้มากกว่า 70%

ข้อมูลความพร้อมใช้ของตัวชี้วัด SDGs ยังแสดงให้เห็นผ่านความแตกต่างอย่างมากทั้งในระดับระหว่างประเทศและภูมิภาค โดยภูมิภาคย่อยที่มีข้อมูลพร้อมใช้มากที่สุดคือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกรั้งท้ายที่สุด

การปิดช่องว่างของข้อมูล ต้องอาศัยการลงทุนเพิ่มเติมในระบบข้อมูล รวมถึงการประสานงานที่ดีขึ้นเพื่อการแบ่งปันข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้ข้อมูลมากขึ้นภายในประเทศและโดยภาคีระหว่างประเทศ


04 | ความก้าวหน้า SDGs ของประเทศไทย

นอกจากรายงานฉบับเอกสารแล้ว พร้อมกันนี้ UN ESCAP ยังอัปเดตฐานข้อมูลความก้าวหน้าของแต่ละประเทศในภูมิภาคโดยละเอียดบนเว็บไซต์ Asia-Pacific SDG Gateway โดยผู้สนใจสามารถเข้าถึงหน้า National SDG Profiles เพื่อศึกษาข้อมูลโดยละเอียด

การใช้สีแสดงผลประเมินความก้าวหน้าของแต่ละตัวชี้วัดของเป้าหมาย SDGs ผ่าน 3 ระดับ คือ

Performer (สีเขียว) = มีความก้าวหน้าในทางที่ดี
Stagnant (สีเหลือง) = มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย
Regressing (สีแดง) = อยู่ในระดับที่ถดถอย และ
Insufficient data (สีเทา) = ข้อมูลไม่เพียงพอ

ภภาพรวมสถานะของประเทศไทยจากตัวชี้วัดที่วัดผลได้ ส่วนใหญ่นั้นเป็นสีเขียว คือมีระดับความก้าวหน้าในทางที่ดี จากตัวชี้วัดทั้งหมด 248 ตัว ประเทศไทยทำผลงานดีใน 86 ตัวชี้วัด ชะงักงันใน 32 ตัวชี้วัด และแย่ลงใน 35 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัดที่เหลืออีก 95 ตัวชี้วัด ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะนำมาประเมินได้

หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน นับจากจำนวนตัวชี้วัดที่ทำผลงานได้ (สีเขียว) ความก้าวหน้าของ SDGs ของไทยอยู่ในระดับ Top 3 รองจาก อินโดนีเซีย และเมียนมา อย่างไรก็ตาม ไม่มีประเทศใดที่มีตัวชี้วัดในระดับสีเขียวได้ถึง 50%

ในแง่ของความพร้อมใช้งานของข้อมูล ไทยมีจำนวนตัวชี้วัดที่สามารถประเมินผลได้มากเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รองจากมาเลเซียและฟิลิปปินส์ โดยมีจำนวนตัวชี้วัดที่มีข้อมูลเพียงพอในการประเมินถึง 151 ตัว หรือคิดเป็น 65% ของตัวชี้วัดทั้งหมด 231 ตัวชี้วัด

อีกการจัดกลุ่มการประเมินตัวชี้วัดที่น่าสนใจ คือจัดลำกับความสำคัญ(priorities) ของตัวชี้วัดว่าควรดำเนินการเร่งด่วนในด้านใดบ้าง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  • Worsening challenges (ประเด็นปัญหาที่เลวร้ายลง) หมายถึง ตัวชี้วัดที่มีสถานะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค และมีแนวโน้มถดถอยลง
  • Stagnant challenges (ประเด็นปัญหาที่ชะงักอยู่กับที่) หมายถึง ตัวชี้วัดที่มีสถานะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค และมีแนวโน้มชะงักงัน
  • Emerging issues (ประเด็นปัญหาอุบัติใหม่) หมายถึง ตัวชี้วัดที่มีสถานะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค แต่มีแนวโน้มถดถอยลง

โดยเฉพาะการจัดกลุ่ม Emerging issues นั้นเป็นการจัดกลุ่มที่น่าสนใจ กล่าวคือ เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าความสนใจในการแก้ปัญหามักมุ่งเป้าไปที่ประเด็นปัญหาที่ยังไม่ดีพอ หรือในที่หมายถึงประเด็นที่ยังมีความก้าวหน้าไม่ถึงค่าเฉลี่ยของภูมิภาค การชี้ให้เห็นประเด็นที่ ดีแล้วแต่ยังดีไม่พอเพราะมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหาในอนาคต จะทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือและตอบสนองให้ทันท่วงที

Emerging issues – ประเด็นปัญหาอุบัติใหม่ของประเทศไทย

เป้าหมายตัวชี้วัดคำอธิบาย
SDG 11.5.1จำนวนผู้เสียชีวิต สูญหาย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
 1.a.2ค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านการศึกษาและสุขภาพ
SDG 22.1.2ความไม่มั่นคงทางอาหารระดับปานกลางถึงรุนแรงในประชากร
 2.2.1ความชุกของภาวะเตี้ยแคระแกร็น
 2.2.3ความชุกของภาวะโลหิตจางในสตรีวัยตั้งครรภ์
 2.a.1ดัชนีทิศทางการลงทุนภาครัฐเพื่อการเกษตร (Agriculture Orientation Index – AOI)
SDG 33.4.2อัตราการฆ่าตัวตาย
 3.8.2ค่าใช้จ่ายครัวเรือนด้านสุขภาพ
 3.b.1ประชากรที่เข้าถึงวัคซีนพื้นฐานทุกชนิดที่บรรจุอยู่ในแผนงานของประเทศ
 3.d.1ศักยภาพและการเตรียมความพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
SDG 44.2.2อัตราการเข้าเรียน
SDG 77.2.1สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน
SDG 88.2.1อัตราการเติบโตของ GDP ที่แท้จริงต่อการจ้างงาน
 8.4.1ร่องรอยการใช้วัตถุดิบ (Material Footprint)
 8.5.2อัตราการว่างงาน
 8.6.1เยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงานหรือการฝึกอาชีพ
SDG 99.2.2การจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิต
SDG 1010.4.1สัดส่วนค่าตอบแทนแรงงานต่อ GDP
SDG 1111.5.1จำนวนผู้เสียชีวิต สูญหาย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
SDG 1212.2.1ร่องรอบการใช้วัตถุดิบ (Material Footprint)
 12.4.1การปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยของเสียอันตรายและสารเคมี
 12.4.2ของเสียอันตรายที่เกิดขึ้น
 12.c.1สัดส่วนของเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล
SDG 1313.1.1จำนวนผู้เสียชีวิต สูญหาย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
SDG 1414.1.1การเปลี่ยนแปลงของ Chlorophyll-a และขยะในทะเล
SDG 1717.1.2งบประมาณภายในประเทศที่จัดสรรจากภาษีภายในประเทศ
 17.11.1การส่งออกบริการเชิงพาณิชย์ของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
 17.13.1อัตราเงินเฟ้อ และสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ GNI


ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDGs ทุกเป้าหมาย


[1] ดูตัวชี้วัด (indicator) ชื่อเต็ม และรายละเอียดที่ใช้ในรายงานฉบับนี้ได้ที่นี่

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Last Updated on กรกฎาคม 5, 2024

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น