วันที่ 13-14 มีนาคม 2567 คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติในยุโรป (UN Economic Commission for Europe: UNECE) จัดการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2567 (2024 UNECE Regional Forum on Sustainable Development) ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยนอกจากประเทศต่าง ๆ ในยุโรปแล้ว ยังมีประเทศจากภูมิภาคอื่น ๆ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา ทาจิกิสถาน และอิสราเอล เข้าร่วมอีกด้วย
การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดยผู้เข้าร่วมประชุมต่างมุ่งความสนใจไปที่การสำรวจโอกาสในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้า และความร่วมมือเพื่อให้บรรลุ SDGs ในระดับภูมิภาคได้ รวมถึงการหารือถึงความก้าวหน้าของเป้าหมายต่าง ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการทบทวนเชิงลึกในปี 2567
ทั้งนี้ หากพิจารณาจาก รายงานความก้าวหน้าของ UNECE SDG พบว่ายุโรปอยู่ในหนทางที่จะบรรลุเป้าหมายย่อย (target) ภายในปี 2573 ได้เพียง 20 เป้าหมาย ขณะที่อีก 80 เป้าหมายย่อย ต้องการเร่งรัดขับเคลื่อน ส่วนอีก 17 เป้าหมาย จำเป็นต้องพลิกกลับแนวโน้มให้อยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุได้มากขึ้น
ประเด็นหารือเชิงลึกที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ เช่น
- ประเด็นที่เกี่ยวกับ SDG1 : การคุ้มครองทางสังคมมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองต่อแรงกระแทกต่าง ๆ โดยเฉพาะการลงทุนจำนวนมากในการสร้างงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นงานที่มีคุณค่า และการบรรลุการเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมอย่างทั่วถึง จำเป็นต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองและการทำงานแบบทั้งรัฐบาล (whole-of-government ownership)
- ประเด็นที่เกี่ยวกับ SDG13 : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อความก้าวหน้าของ SDGs เช่นนั้น การประเมินความเสี่ยง แผนการรับมือ และการคุ้มครองทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเชื่อมโยงกัน และมีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงนโยบายแบบบูรณาการ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณ และกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม
- ประเด็นที่เกี่ยวกับ SDG16 : ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การพัฒนาดิจิทัลสำหรับบริการสาธารณะ ความโปร่งใส และการเข้าถึงความยุติธรรม เหล่านี้คือประเด็นที่มีความท้าทาย จึงมีความจำเป็นต้องสนับสนุนการสร้างหุ้นส่วนและนวัตกรรมเพื่อจัดการวิกฤติที่เชื่อมโยงกัน และพัฒนาการเข้าถึงความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และธรรมาภิบาลในท้องถิ่น
นอกจากนี้ Amina Mohammed ผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติ เน้นย้ำว่าแม้จะมีแรงต้านที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และวิกฤติค่าครองชีพ ไปจนถึงการเงิน ความเปราะบางทางด้านอาหารและพลังงาน รวมถึงวิกฤติหลัก 3 ประการซึ่งเชื่อมโยงกัน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ก็ยังมีเหตุผลให้ยังคงมีความหวัง
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– EU ร่างข้อเสนอให้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกเปลี่ยนผ่านพลังงานและการลงทุนที่ยั่งยืน
– EU เตรียมเสนอข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงระบบพลังงานในอาคารให้ปล่อยคาร์บอนน้อยลงภายใน 10 ปีนี้
– EU ใช้งบกับ EU4Health Programme 2021 – 2027 มากกว่าที่ผ่านมาถึง 10 เท่า เตรียมพร้อมรับความท้าทายทางสุขภาพระดับภูมิภาคและระดับโลก
– UNESCO และ EU จับมือทำโครงการ “Social Media for Peace” ในสามประเทศนำร่อง: บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา อินโดนีเซีย และเคนยา
– สหภาพยุโรปเตรียมเสนอมาตรฐานใหม่ ขจัดปัญหา “การฟอกสีเขียว” ที่ธุรกิจอ้างว่าคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
– 53 รัฐสมาชิกในที่ประชุม WHO ประจำยุโรป มุ่งมั่นเตรียมระบบสุขภาพในปัจจุบัน-อนาคตพร้อมรับมือกับความท้าทายทางสุขภาพ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมระดับประเทศที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงฐาน การคุ้มครองทางสังคม (floors) โดยให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรยากจน และกลุ่มเปราะบางให้มากพอ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (1.4) ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ยากจนและเปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมกันในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินในรูปแบบอื่น มรดก ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม และบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการเงินระดับฐานราก (microfinance)
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา : UNECE Forum Highlights Opportunities for Key Transitions Towards 2030 (IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย