จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 16 – 31 มีนาคม 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
รายงาน UNDP เผยคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ของไทยเพิ่มขึ้น
วันที่ 14 มีนาคม 2567 โครงการพัฒนาเเห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme หรือ UNDP) ได้เผยเเพร่เอกสารข่าวประกอบการเปิดตัวรายงานการพัฒนามนุษย์ ฉบับปี 2566/2567 (2023/24 Human Development Report: HDR) โดยมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ เช่น 1) ไทยได้คะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ (human development index: HDI) สูงขึ้นเมื่อเทียบกับระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย HDI ของประเทศไทยปี 2565 อยู่ที่ 0.803 เพิ่มขึ้นจาก 0.797 ในปี 2564 ซึ่งคะแนนก่อนเกิดการแพร่ระบาดที่ 0.801 ในปี 2562 ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม “การพัฒนามนุษย์ที่สูงมาก” โดยอยู่ที่ 66 จาก 193 ประเทศและเขตปกครอง 2) ความคืบหน้าในการพัฒนามนุษย์ที่ไม่เท่าเทียม กำลังทิ้งกลุ่มที่ยากจนที่สุดไว้ข้างหลัง ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงขึ้น และยิ่งทำให้การแบ่งขั้วทางการเมืองในระดับโลกเพิ่มขึ้น
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG1 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.1 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนในทุกพื้นที่ให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2573 และ SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน 10.3 สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์
เข้าถึงได้ที่: รายงาน UNDP : Human Development Index ของไทยดีขึ้นจากระดับก่อนโควิด แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำ (Thai Publica)
รายงาน ILO ชี้ แรงงานบังคับภาคเอกชนสร้างรายได้ 236 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผยแพร่รายงาน ‘Profits and Poverty: The economics of forced labour’ ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่าแรงงานบังคับในภาคเอกชน สร้างรายได้ผิดกฎหมายมูลค่าสูงถึง 236 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ผู้คนถูกบังคับใช้แรงงานเพิ่มขึ้น และผลกำไรจากการแสวงหาผลประโยชน์จากเหยื่อมีมูลค่าสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีการประเมินด้วยว่าผู้ค้ามนุษย์และเหล่าอาชญากร กำลังสร้างรายได้ประมาณ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเหยื่อหนึ่งราย
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.7 ดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที เพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ และ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน เเละ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง
เข้าถึงได้ที่: กำไรจากการใช้ ‘แรงงานบังคับ’ ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 236 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ประชาไท)
สภาฯ เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ส่งต่อ สว. พิจารณาก่อนประกาศใช้จริง
วันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 ด้วยคะแนนเสียง 400 ต่อ 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ถัดจากไต้หวันและเนปาลที่มีกฎหมายดังกล่าว
ทั้งนี้ ยังมีขั้นตอนที่ต้องให้วุฒิสภาพิจารณาในวาระ 2-3 หากได้รับความเห็นชอบ ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบจึงจะมีการประกาศบังคับใช้จริง
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ
เข้าถึงได้ที่: สภาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว (BBC Thai)
UN ขับเคลื่อนโครงการ ‘PROTECT’ หวังเสริมสร้างสิทธิแรงงานข้ามชาติ
โครงการความร่วมมือใหม่ที่มีชื่อว่า ‘PROTECT’ ภายใต้การดำเนินงานของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติเป็นผู้นำระดับโลกในการต่อต้านยาเสพติดและอาชญากรรมระหว่างประเทศ (UNODC) และ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้รับเงินสนับสนุนกว่า 13 ล้านยูโร (ราว 500 ล้านบาท) จาก สหภาพยุโรป (EU) โดย เดวิด เดลี เอกอัครราชทูตผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ผู้คนทั่วโลกถูกบีบบังคับให้ต้องทิ้งบ้าน เพื่อเสาะหาโอกาสและชีวิตที่ดีกว่าเดิม ในการเดินทางข้ามพรมแดน และที่จุดหมายปลายทาง โดยแรงงานข้ามชาติหญิงและเด็กมีความเสี่ยงที่สูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ”
โครงการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก และกลุ่มที่มีความเสี่ยงในกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.2 ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน และ SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน เเละ10.7 อำนวยความสะดวกในการโยกย้ายถิ่นฐานและเคลื่อนย้ายของคนให้เป็นระเบียบ
เข้าถึงได้ที่: EU จับมือ UN ดันโครงการ ‘PROTECT’ คุ้มครองแรงงานข้ามชาติหญิงและเด็กในอาเซียน (The Standard)
แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ชวนประชาชนลงชื่อเสนอกฎหมายความปลอดภัยสาธารณะ
วันที่ 31 มีนาคม 2567 จากกรณีเหตุการณ์รถเครนพังถล่มภายในไซต์งานก่อสร้างในอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย ล่าสุด สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X (Twitter) ส่วนตัวเรียกร้องให้ภาครัฐมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และชวนประชาชนร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ผ่านเว็บไซต์ suchatvee.com
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน
เข้าถึงได้ที่: ย้ำความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ผู้นำต้องจริงจัง หลังเหตุเครนถล่มและเศษโลหะร่วงจากรถไฟฟ้า (ประชาไท)
WHO เรียกร้องให้มีการลงทุนในการจัดการกับวัณโรคมากขึ้น
วันที่ 18 มีนาคม 2567 องค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้มีการเพิ่มเงินทุนเพื่อปกป้องประชากรกลุ่มเปราะบางและบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพที่สำคัญ เพื่อปกป้องประชากรกลุ่มเปราะบางและบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพที่สำคัญ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ตอบแทนทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ โดย 1 ดอลลาร์ที่ลงทุนเพื่อประเด็นนี้ จะให้ผลตอบแทนถึง 39 ดอลลาร์
ทั้งนี้ แม้จะมีความก้าวหน้าในการต่อสู้กับวัณโรคมากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2543 มีผู้รอดชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 75 ล้านคน แต่ก็ยังเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1.3 ล้านคนต่อปี
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และ 3.d เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง
เข้าถึงได้ที่: WHO study shows $39 return for each dollar invested in fight against TB (UN News)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย