ปัจจุบันการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของประเทศไทย มีการมุ่งเน้นกระบวนการทำงานแบบบูรณาการมากขึ้น โดยการนำหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเชื่อมโยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับรากฐานสู่ส่วนกลาง แต่การดำเนินการยังคงมีช่องว่างอยู่ เช่น การบูรณาการในภาครัฐในประเด็นที่เชื่อมโยงกัน และการบูรณาการข้ามภาคส่วน การสร้างและจัดการความรู้และเชื่อมโยงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมไทย
ดังนั้น เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จึงได้จัดเสวนาวิชาการสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืน “การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ของประเทศไทย” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากหลากหลายเครือข่าย ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ เเละมุ่งหวังให้เกิดการส่งเสริมการเรียนรู้ โดยการนำหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน ไปดำเนินการในระดับพื้นที่ของประเทศไทย มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงาน และการบูรณาการร่วมกัน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ (SDG Localization) ของประเทศไทย
SDG Updates ฉบับนี้ จะพาทุกท่านเก็บตกประเด็นสำคัญจากวงเสวนาฯ เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร และเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ในประเทศไทย ผ่านมุมมองจากหลากหลายภาคส่วนและผู้ทรงคุณวุฒิที่มาร่วมอภิปรายในครั้งนี้
โดยสรุปเสวนาครั้งนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย
ช่วงที่ 1 – กล่าวต้อนรับและเปิดบทสนทนาถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย โดย
- ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ประธานคณะที่ปรึกษาเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืน
- Mr. Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP)
ช่วงที่ 2 – การนำเสนอ ทิศทางการดำเนินงาน SDG Localization ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดย
- Mr. Dayyan Shayani นักสถิติ กองสถิติ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก
- คุณอรชพร นิมิตกุลพร ผู้จัดการโครงการ SDG localization โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจําประเทศไทย
ช่วงที่ 3 – การอภิปรายทิศทางการดำเนินงาน SDG Localization ในประเทศไทย โดย
- ดร. ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- คุณจารึก ไชยรักษ์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
- ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Section 1 – ทิศทางของสุขภาวะและการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ระดับพื้นที่ของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ได้มีการจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืน “การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ของประเทศไทย” โดยมีหลายภาคส่วนเข้าร่วมการเสวนาทั้งโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่มาร่วมอภิปราย
โดยงานเสวนาได้รับเกียรติจาก ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ประธานคณะที่ปรึกษาเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เกียรติกล่าวเปิดงานและเน้นถึงคำสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 2 คำ ว่าจะต้องมาจาก “ความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการลงปฏิบัติในพื้นที่”
ซึ่งในลำดับถัดมา Mr. Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้ร่วมเปิดงานและให้ข้อมูลการทำงานในประเทศไทย ที่มีวิธีแก้ไขปัญหาและประเมินการทำงานในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันไป โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากชุมชน เพื่อฉายภาพให้เห็นทิศทางต่อไปของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในระดับท้องถิ่นสู่การพัฒนาในระดับประเทศต่อไป
Section 2 – ทิศทางการดำเนินงาน SDG Localization ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและในประเทศไทย
Mr. Renaud Meyer เริ่มต้นการพูดคุยถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ในเวลาเกือบ 2 ปีที่เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ ผ่านการทำงานร่วมกับภาครัฐของไทย อย่างไรก็ดีสิ่งที่เขามองเห็นนั้นมองว่าการปฏิบัติงานในประเทศไทยเป็นในลักษณะจากบนลงล่าง คือ การรอรับคำสั่งจากทางรัฐบาลไปสู่ผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ
“ผู้ว่าราชการจังหวัดถูกกระตุ้นให้ทำสิ่งเหล่านี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน การเคลื่อนไหวของผู้ว่าราชการ ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นมีการเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง” Mr. Renaud กล่าวต่อว่าการร่วมมือกันของรัฐบาล ภาคประชาสังคมและท้องถิ่น เป็นการรับรู้และประเมินปัญหาที่มีอยู่ในระดับชุมชนได้ดีที่สุด การให้ชุมชนมามีส่วนร่วมนั้นไม่เพียงแค่ในการดำเนินงาน แต่ยังหมายรวมถึงการออกแบบกลยุทธ์และการประเมินผลการขับเคลื่อน SDGs ในระดับท้องถิ่น อย่างไรก็ดี Mr. Renaud ได้แสดงความเป็นกังวลต่อสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย
Mr. Dayyan Shayan นักสถิติ จากกองสถิติ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก ได้ทำการนำเสนอต่อจาก Mr. Renaud โดยเริ่มต้นที่การกล่าวว่า หลายครั้งประเทศต่าง ๆ ไม่ได้ให้ความสนใจกับแผนการขับเคลื่อน SDGs ที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและใช้ตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคท้องถิ่น
โดยการวางแผนนโยบายสำหรับ SDGs นั้นจำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ตั้งแต่ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และองค์กรอื่น ๆ “เราจำเป็นต้องวางแผนและจัดทำงบประมาณตามลำดับความสำคัญ โดยนำข้อมูลมาใช้ และต้องแน่ใจว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ต่อจากนั้น Mr. Dayyan ได้แชร์ประสบการณ์ทำงานร่วมกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในหัวข้อเรื่อง SDG Localization โดยการทำงานจะเริ่มต้นจากการที่พวกเขาทำการวิเคราะห์ข้อมูลในลักษณะมีส่วนร่วม โดยนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ มาร่วมนั่งโต๊ะคุยกัน เพื่อค้นหาลำดับความสำคัญสำหรับแต่ละภูมิภาคของฟิลิปปินส์ ซึ่งสิ่งที่พบคือในแต่ละภูมิภาคของฟิลิปปินส์มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก และมีลำดับความสำคัญที่แตกต่างกันออกไปในแง่ของการดำเนินการ SDGs “สิ่งที่พวกเขาทำคือพัฒนาแผนการดำเนินการของท้องถิ่นให้เหมาะสมกับแต่ละภูมิภาคและตรงเป้าหมาย”
นอกจากนี้ในประเทศฟิลิปปินส์ วิธีการที่พวกเขาประเมินข้อมูลจากการดำเนินงาน มีสองแนวทางที่แตกต่างกัน หนึ่งคือโดยการเปรียบเทียบจึงทำให้สามารถเปรียบเทียบจังหวัดต่าง ๆ ได้ และดูว่าจังหวัดใดที่มีค่าเฉลี่ยสูงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ รวมทั้งวิธีการนี้ยังสามารถดูแนวโน้มในแต่ละจังหวัดได้อีกด้วย ส่วนแนวทางที่สองคือ การดูความคืบหน้าจากพื้นฐานไปยังเป้าหมาย เป็นการดูว่าแต่ละจังหวัดกำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายปี 2030 อย่างไร ซึ่งบางจังหวัดอาจอยู่ห่างจากเป้าหมาย บางจังหวัดอาจเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น ข้อดีคือทำให้รู้ว่าแต่ละจังหวัดอยู่ตรงไหนในความต่อเนื่องนั้น
อีกหนึ่งประเทศที่ Mr.Dayyan กล่าวถึงคือประเทศญี่ปุ่น ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพิ่งเผยแพร่รายงานที่ชื่อว่า ‘SDGs and Local Communities’ เป็นการที่ญี่ปุ่นพัฒนาการติดตามผล SDGs โดยไม่ได้ใช้เพียงตัวชี้วัดอย่างเป็นทางการเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาจะหารือกับชุมชนว่า ควรใช้ตัวชี้วัดใดในการติดตามความก้าวหน้า “พวกเขาพยายามมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงและศักดิ์ศรีของมนุษย์ และจากการดำเนินการดังกล่าว พวกเขาได้ตัวบ่งชี้ที่น่าสนใจมาก ซึ่งสามารถใช้ในการติดตาม SDGs ในระดับชุมชนได้”
Mr. Dayyan กล่าวปิดท้ายว่า บางครั้งตัวชี้วัด SDGs ไม่จำเป็นจะต้องเป็นทางการ หากเรามีข้อมูลในระดับท้องถิ่นที่เพียงพอ และสามารถใช้เพื่อระบุช่องว่างหรือปัญหาบางส่วนที่ส่งผลกระทบต่อประชากร ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่สำคัญและสามารถใช้ติดตามผลและดูความคืบหน้าจนถึงปี 2030
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย คุณอรชพร นิมิตกุลพร ผู้จัดการโครงการ SDG Localization โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้ให้ความเห็นจากการทำงานโดยความร่วมมือระหว่าง UNDP ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สภาพัฒน์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ รวมถึง SDG Move ที่พยายามจะขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่
ไม่เพียงเท่านั้น คุณอรชพร ระบุว่า เรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิมนุษยชน เสรีภาพและความรุนแรง ประเทศไทยยังมีข้อมูลน้อยอยู่ เป็นข้อจำกัดที่ภาครัฐไทยไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณชน “สิ่งที่สะท้อนออกมาจากการทำงานในระยะหนึ่งปีกว่า ๆ ของ UNDP พบว่า SDG5 และ SDG16 ประเทศไทยแทบจะไม่มีข้อมูลเลย”
นอกจากนั้นคือสังคมไทยยังรู้จักคำว่า SDGs น้อยมาก แม้กระทั่งหน่วยงานภาครัฐเองก็ตาม หลายคนพอเราเข้าไปทำงานและพบว่าเป็นครั้งแรกที่เขาได้ยินสิ่งนี้ ทั้งข้อมูลในระดับท้องถิ่นในหน่วยงานรัฐ ก็ไม่มีการแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างหน่วยงานระดับภูมิภาคกับกระทรวงมหาดไทยในการจัดทำแผนระดับจังหวัด โดยงานของ UNDP นั้น 50% คือการทำโครงการร่วมกับภาครัฐ และยังมีการให้ทุนสนับสนุนใน 15 จังหวัด มีกิจกรรมการสื่อสารเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในจังหวัดนั้น ๆ
คุณอรชพร สรุปว่าจากข้อสังเกตในการลงพื้นที่ทำงาน ความเข้าใจเรื่อง SDGs ของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับภูมิภาคมีความจำกัดมาก ๆ แต่ในภาคเอกชนกลับมีความตื่นตัวมากกว่า และ คุณอรชพร เน้นย้ำอีกครั้งถึงปัญหาเรื่องของการขจัดความยากจน ซึ่งมักจะเป็นข้อแรก ๆ ที่ประชาชนให้ความเห็นว่า เป็นสิ่งที่พวกเขาเป็นกังวลมากที่สุด ซึ่งสะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่างในประเทศไทยในแง่ของการพัฒนา
Section 3 – การอภิปรายทิศทางการดำเนินงาน SDG Localization ในประเทศไทย
ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นคนแรกที่ทำการอภิปราย สภาพัฒน์เป็นหน่วยงานประสานงานกลางของประเทศในเรื่องของ SDGs โดยในตอนนี้เหลือเวลาอีก 6 ปีครึ่งก่อนจะถึงเป้าหมายในปี 2573 ซึ่งประเทศไทยมี Thailand’s SDGs roadmap ตั้งแต่ปี 2562 ที่ทำควบคู่กันไปกับการทำงานในระดับพื้นที่ (Localization) รวมถึงได้มีการจัดทำ Check list เป็นการวางแผนถึงสิ่งที่จะดำเนินการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย โดยจะมีการดำเนินการตาม Thailand’s SDGs roadmap อย่างต่อเนื่อง จัดทำตัวชี้วัด SDGs ของระดับจังหวัดและกลุ่มจัดหวัด จัดทำรายงานความก้าวหน้า SDGs ระยะ 10 และ 15 ปี และจัดทำ SDG Dashboard
ในการทำงานในระดับพื้นที่นั้น ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ได้มีคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ) ที่ดูแลคณะกรรมการจังหวัดในระดับภาค และได้มีการพัฒนาตัวชี้วัด 32 ตัวชี้วัด ครอบคลุม 5 มิติ (มิติการพัฒนาคน มิติเศรษฐกิจ-ความยั่งยืน มิติสิ่งแวดล้อม มิติสันติภาพ-ยุติธรรม และมิติหุ้นส่วนการพัฒนา)
นอกจากนี้ยังมีการร่วมทำงานกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่จะมีการนำ 52 ตัวชี้วัด SDGs ของ TDRI ไปผนวกรวมกับ 32 ตัวชี้วัดของสภาพัฒน์ ซึ่งคาดหวังว่าจะออกมากลายเป็นตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่ง ที่จะทำการชี้วัด SDGs ในระดับจังหวัดได้
ดังนั้นในภาพรวมเรื่องของการวัดความยั่งยืนของประเทศ สภาพัฒน์จะมีตัวชี้วัดทั้งหมด 4 ระดับ คือระดับประเทศ ระดับภาค ระดับกลุ่มจังหวัดและระดับจังหวัด ซึ่งมีคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่เชิงบูรณาการ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการสั่งการ ขณะนี้ ตัวชี้วัดระดับประเทศกำลังจะมี SDG Dashboard ที่จะเป็นตัวบอกว่าประเทศไทยได้ขับเคลื่อนเรื่อง SDGs ไปกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว
ตอนท้ายของการอภิปราย ดร.ธัชไท ได้นำเสนอ SDG Dashboard ที่จะมีการเปิดเผยออกมาในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการและขอข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานกำหนดค่าเป้าหมายให้กับทางสภาพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานกลาง
ถัดมาที่การอภิปรายของ คุณจารึก ไชยรักษ์ จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นหน่วยงานที่รับนำเอานโยบายไปปฏิบัติตั้งแต่ในระดับชาติจนเชื่อมโยงไปถึงระดับพื้นที่ การทำงานของ สช. แบ่งออกเป็นเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันหลายจังหวัด 13 เขต เขตละ 5 ถึง 7 จังหวัด โดยคุณจารึกได้ยกตัวอย่างจังหวัดสงขลาที่การเคลื่อนไหวสอดคล้องกับ SDGs ในเชิงเนื้อหาและกระบวนการ
จังหวัดสงขลา มีเวทีกลางที่เรียกว่า ‘สมัชชาพลเมืองจังหวัดสงขลา’ ในการพูดคุยและทำงานร่วมกัน แม้ว่าจะมีช่องว่างเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และการขจัดความยากจน แต่ในจังหวัดก็พยายามให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์และอาหารปลอดภัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องการจัดการขยะและการกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับ SDGs
“สมัชชาจังหวัดพยายามเป็นกลไกกลาง ในการเชื่อมประสานหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะทาง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เข้ามาทำงานร่วมกัน รวมทั้งท้องถิ่นในจังหวัดมาคุยกันหาทางออกเรื่องเหล่านี้ร่วมกัน”
ในส่วนของปัญหาที่พบในจังหวัดส่วนใหญ่ คุณจารึก กล่าวว่านโยบายระดับจังหวัดจะคล้ายกับระดับชาติ และถ้าในพื้นที่ไม่มีการปฏิบัติการ จะทำให้แผนระดับจังหวัดขาดเสถียรภาพ ดังนั้นจึงต้องไปหารือกันต่อว่า จะทำอย่างไรให้เชื่อมโยง ไปยังระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
นอกจากนี้จารึกยังได้ยกตัวอย่างจังหวัดอื่น ๆ เช่น จังหวัดตราด ที่มีการทำโครงการในพื้นที่เรื่อง 5D วิถีตราด สุขภาพดี สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี และ จังหวัดนครปฐม ที่มีการคุยกันถึงเรื่องการบูรณาการจัดการภัยพิบัติ การจัดการน้ำ การรับมืออุทกภัย รวมทั้งมีแผนการทำงานในระดับพื้นที่ ในการรับมือเรื่องพวกนี้จากประสบการณ์ในอดีต
“ผมเห็นด้วยเรื่องของการสื่อสาร SDGs ไปสู่พื้นที่ คือเครือข่ายที่ผมทำงานด้วย เขาไม่ได้พูดถึง SDGs โดยตรง แต่ทีมนักวิชาการก็สามารถจับมันมาเชื่อมโยงให้สอดคล้องได้” คุณจารึก กล่าวทิ้งท้าย
ต่อด้วย ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เริ่มต้นอภิปรายแนวทางการทำงานของ สสส. ที่เน้นเรื่องของการสนับสนุน สร้างเสริม และสุขภาพ โดยในระดับพื้นที่ ยังคงหลักคิด 3 ส ไว้เหมือนเดิม แต่คือ การสร้างการมีส่วนร่วม สร้างการเรียนรู้ และสร้างการเปลี่ยนแปลง “ตัว 3ส ทั้ง 2 รูปแบบนี้ สะท้อนให้เห็นการทำงานของ สสส. ในภาพรวม ตั้งแต่ระดับนโยบาย กรรมการกองทุน กรรมการในทุกระดับ ลงไปถึงระดับแผน ลงไปที่ระดับโครงการและระดับพื้นที่”
โดยจากการทำงานของ สสส. ตั้งแต่ที่มีการตั้งเป้าหมายเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นประเด็นสำคัญ สสส. ได้จัดทำแผนสุขภาวะชุมชน และในช่วงปี 2560 สสส.ได้มีการทำแบบสอบถามไป 75 องค์กรส่วนท้องถิ่น และดูว่าโครงการที่ สสส. สนับสนุน ผ่านโครงการตำบลสุขภาวะได้ตอบตัวเป้าหมายข้อไหนบ้างของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย
โดยผลจากการประเมินพบว่า โครงการตำบลสุขภาวะตอบโจทย์เรื่องของการยุติความยากจนทุกรูปแบบ ยุติความหิวโหยและบรรลุความมั่นคงทางอาหาร แต่ส่วนที่ยังไม่มีกิจกรรมอาจจะเป็นเรื่องของการปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ในทุกสำนักของ สสส. ได้มีการนำเป้าหมายหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ มาตรวจสอบว่าโครงการหรือกิจกรรมที่หนุนลงไปในระดับตำบล ตอบเป้าหมายจุดใดบ้าง
ดร.นิสา ยกตัวอย่างการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ของ อบต.แม่พริก อำเภอแม่สรวย จ.เชียงราย พื้นที่พยายามที่จะออกแบบแนวคิด ‘คุณภาพชีวิตดีถ้วนหน้า พัฒนาความสันติสุข สมานฉันท์อย่างยั่งยืน’ โดยร่วมออกแบบกับ สสส. และทีมวิชาการภาคีเครือข่าย เพื่อมองว่าถ้าคุณภาพชีวิตจะดีขึ้น เขาต้องทำเรื่องอะไรบ้าง โดยได้ผลออกมาเป็นเรื่องการบริการที่ดี ทั่วถึง อาหารดี การดูแลกลุ่มเปราะบาง สันติสุขสมานฉันท์มีส่วนร่วมสามัคคีและก็เกิดความผาสุก
รวมทั้งเรื่องของความยั่งยืน ที่ในพื้นที่แยกออกมาว่า ‘สังคมเป็นสุข เท่าเทียม เกื้อกูลสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสมดุลพึ่งพาตนเอง’ โดยการทำงานดังกล่าวได้ร่วมกับภาคีต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งโรงพยาบาลแม่สรวย สำนักงานพัฒนาชุมชน สำนักงานเกษตรอำเภอ โดยมีการกำหนดว่าจะใช้กลไกไหน รวมทั้งดูเรื่องของการจัดตั้งคณะทำงาน มีการประชุมมีการใช้ฐานข้อมูล มีกิจกรรมลงไปในการส่งเสริมสุขภาพ กิจกรรมการรักษาป่า การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เป็นการออกแบบร่วมกัน โดยใช้ข้อมูลในพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว ในส่วนของ สสส.ได้เข้าไปหนุนเสริมข้อมูลตำบลกับวิจัยชุมชน หลาย ๆ ส่วนงานผสมกันเป็นข้อมูลและวางแผนในการพัฒนา
ในประเด็นสุดท้าย ดร.นิสา กล่าวถึงการทำเรื่องของการลดความรุนแรงในพื้นที่ ที่มีการสะท้อนข้อมูลมาจากประชาชนว่า อยากให้มีกิจกรรมเสริม เช่น กิจกรรมครอบครัวสัมพันธ์เพื่อลดความรุนแรงในครอบครัว หรือตั้งคณะกรรมการในส่วนการประสานงานช่วยเหลือ ทาง สสส.พยายามลงไปเป็นตัวประสานงาน ดึงภาคีที่เกี่ยวข้องและชี้ให้แกนนำในชุมชนเห็นและกำหนดว่าสิ่งที่ทำไปนั้นตอบเป้าหมายหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 16 เรื่องความสงบสุขและความยุติธรรมไม่แบ่งแยก
แลกเปลี่ยนอภิปรายทิศทางการดำเนินงาน SDG Localization ในอนาคต
หลังจากจบสิ้นการอภิปราย ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเริ่มแรก นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ได้ให้ความเห็นว่าเมื่อเทียบ SDGs กับ MDG (Millennium Development Goals, เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ) ในสมัยก่อน พบว่า SDGs ในปัจจุบันมีความคึกคักมากกว่า แต่ก็มีคำถามว่า
“เจ้าของตัวชี้วัด ได้ใช้เป้าหมาย และตัวชี้วัด SDGs มาเป็นหลักในการทำงานหรือไม่ และประเมินผลการบรรลุได้เท่าไหร่”
ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ จากสภาพัฒน์ให้คำตอบว่า ตอนนี้กระทรวงมหาดไทยได้มีการตั้งคณะกรรมการทุกจังหวัดแล้ว ซึ่งทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตื่นตัวตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย โดยที่ทางสภาพัฒน์ หลังจากที่ใช้ข้อมูลที่ตั้งแต่ในปี 2562-2564 ที่ทำการจัดอันดับขึ้นมาในทั้งหมด 6 ด้านด้วยกัน คือ 5 มิติบวกกับตัวที่เป็นตัวชี้วัดรวม ที่เป็นเรื่องของ SDGs จังหวัด และดูว่า 76 จังหวัด ไล่ลงไปแต่ละมิติจังหวัดไหนอยู่ในการพัฒนาแบบใดบ้าง โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ทำให้แต่ละจังหวัดทราบสถานการณ์ของตนเอง
ต่อมา ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ได้แบ่งปันข้อมูลว่าตอนนี้ยูเนสโกได้ให้การสนับสนุนไปยัง 17 มหาวิทยาลัยทั่วโลก และมองเรื่องการเสริมสร้างขีดความสามารถ (capacity building) ให้กับนิสิตนักศึกษา ประเทศไทยจึงควรใช้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ในการขับเคลื่อนในเชิงของการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับเด็กนักเรียนและนักศึกษา ที่จะขึ้นมาเป็นตัวเชื่อมโยงให้กับการทำงานในวันข้างหน้า
จากนั้น ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ได้แลกเปลี่ยน 3 ประเด็นคือ ประเด็นที่หนึ่ง วิธีการประเมินความก้าวหน้าของ SDGs ที่มีอยู่หลายวิธี ซึ่งการประเมินแบบจัดอันดับก็เป็นส่วนหนึ่ง รวมทั้งการประเมินแบบที่มีค่า Baseline และค่าเป้าหมาย ซึ่งอย่างหลังนี้มีข้อดีตรงที่ว่าทำให้จังหวัดแข่งกับตัวเอง แต่ว่าจะไม่เห็นการจัดอันดับข้ามจังหวัด สำหรับวิธีการจัดอันดับนั้นมีประโยชน์แต่อีกด้านหนึ่ง การจัดอันดับจะต้องทำให้สะท้อนภาพความจริงของพื้นที่ได้ด้วย เป็นความท้าทายที่สำคัญมาก ๆ ที่ไม่สามารถนำบริบทในจังหวัดหนึ่งไปเปรียบเทียบกับอีกบริบทในอีกจังหวัดหนึ่งได้
ประเด็นที่สอง ประเด็น SDGs หลายประเด็น มีความเกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งพื้นที่ อย่างเช่นประเด็นเรื่องของการจัดการทรัพยากรน้ำ ลุ่มน้ำหนึ่งข้ามหลายพื้นที่ ถ้าพูดถึงคุณภาพน้ำจะดูอย่างไร หรือว่าประเด็นเรื่องของอุบัติเหตุ สาเหตุอาจจะไม่ได้เกิดจากต้นทางก็ได้ “ประเด็นข้ามแดนพวกนี้เป็นเรื่องที่ผมก็ยังคิดไม่ตกว่าเราจะจัดการกับข้อมูลในประเด็นเหล่านี้อย่างไร” ผศ.ชล กล่าว
สุดท้ายคือ ประเด็นที่สาม ประเด็นเรื่องการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับนักศึกษา ผศ.ชล กล่าวว่าประเทศไทยสถานการณ์ไม่คึกคักเท่าไหร่นัก ความเข้าใจของงานวิชาการในมหาวิทยาลัยไทยยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ คือเข้าใจแค่ว่าเอาวิชามาจับคู่กับ SDGs แต่แท้จริงแล้วมันมีทั้งฝั่งความสามารถในการสร้างคนออกไปเปลี่ยนแปลงโลกให้ยั่งยืน และฝั่งเนื้อหาที่เป็นการสร้าง Global Relationship บวกกับความรู้เรื่องความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ซึ่ง “ถ้าเราเคลื่อนในระดับมหาวิทยาลัย มันอาจจะส่งผลลัพธ์ที่ต้องเรียนเรื่องนี้เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่อเนื่องกันไป” ผศ.ชล กล่าวทิ้งท้าย
ผู้อภิปรายคนต่อมา ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน กล่าวว่าใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ SDGs ชัดเจนขึ้น ลำดับแรกในสภาพัฒน์ได้มีการทบทวนแผนระดับ 3 เป็นแผนระดับปฏิบัติการที่เขียนความเชื่อมโยงกับ SDGs แต่แผนส่วนใหญ่ไม่ได้ลงไปถึงตัวชี้วัด ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ มองว่าควรให้หน่วยงานราชการเขียนแผนระดับ 3 ลงลึกเชื่อมโยงไปถึงตัวชี้วัดของ SDGs และในส่วนของมหาวิทยาลัย ในขณะนี้ได้เห็นความตื่นตัวของมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งที่มีส่วนร่วมกับภาคประชาชน รวมถึงภาคเอกชนที่ตอนนี้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ต้องมีรายงานประจำปีที่มีความเชื่อมโยงกับ SDGs ด้วย
ในช่วงสุดท้ายของการเสวนาทาง คุณอรชพร นิมิตกุลพร ได้ฝากไว้ในที่ประชุมถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเวลาที่ลงพื้นที่สำรวจประชาชนต่างยังไม่ตระหนักรู้เรื่องภัยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบชัด ๆ เรื่องนี้ยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ที่ทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาพรวมไปได้ไม่ถึงอย่างแท้จริง ผู้คนยังมองปัญหาเป็นก้อน แต่ปัญหาที่แท้จริงเป็นปัญหาร่วมกันอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงคิดว่าทุกหน่วยงานควรที่จะต้องรับผิดชอบ
ณฐาภพ สังเกตุ – เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ เเละ เเพรวพรรณ ศิริเลิศ – บรรณาธิการ
รับชมงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ : เสวนาวิชาการสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทางเพจ IHPP
อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– เผยเเพร่แล้ว “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ.2566” ชวนสำรวจตัวอย่างการขับเคลื่อน SDGs ระดับท้องถิ่น
– ประมวลภาพถ่าย – เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2566 (Thailand Sustainable Development Forum 2023)
– IHPP-SDG Move-วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมจัด เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วน เพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” ประจำปีพ.ศ. 2566
– SDG Updates | สรุปสาระสำคัญจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของประเทศไทย พ.ศ. 2566
– Director Notes 27 : ว่าด้วย SDG localization
SDG Updates ฉบับนี้ เป็นสรุปเสวนาวิชาการสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืน “การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ของประเทศไทย” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ซึ่งได้เรียบเรียงบทสรุปและเผยแพร่โดย SDG Move