IOM ชี้ในปี 2566 มีผู้เสียชีวิตถึง 8,541 ราย จากการโยกย้ายถิ่นฐานทั่วโลก สูงสุดในรอบทศวรรษ

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) เผยว่า 1 ใน 3 ของการเสียชีวิต ผู้อพยพเกิดขึ้นขณะหลบหนีจากความขัดแย้ง และผู้อพยพมากกว่า 2 ใน 3 ได้รับการบันทึกว่าเสียชีวิต แต่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ ในปี 2566 เป็นปีที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีผู้อพยพที่เสียชีวิตและสูญหายระหว่างการย้ายถิ่นฐานถึง 8,541 ราย ถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกไว้ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตและสูญหายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 จากปี 2565 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและสูญหายระหว่างการย้ายถิ่นฐาน 7,141 ราย เมื่อเทียบเป็นรายปี พบว่าในปี 2566 จำนวนผู้เสียชีวิตเกือบร้อยละ 60 มีสาเหตุมาจากการจมน้ำ และจำนวนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกา และเอเชีย ซึ่งสองภูมิภาคหลังมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน 

นอกจากนี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ตั้งข้อสังเกตว่าจำนวนผู้เสียชีวิตแบบไม่ทราบสาเหตุยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งจากข้อมูลของโครงการผู้อพยพที่สูญหาย (The Missing Migrant Project) พบว่ามากกว่า 2 ใน 3 ของผู้อพยพไม่สามารถระบุตัวตนได้ และถึงแม้จะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่ไม่ทราบตัวตน แต่พบว่าผู้หญิงเกือบ 5,500 ราย เสียชีวิตระหว่างการย้ายถิ่นฐานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และที่ระบุได้เป็นเด็กเกือบ 3,500 ราย อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงของผู้หญิงและเด็ก มีแนวโน้มสูงกว่าที่ได้ระบุไว้ เนื่องจากยังมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 37,000 รายที่ไม่อาจระบุเพศหรืออายุได้

ขณะที่ มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้อพยพที่เสียชีวิตนั้นอพยพมาจากประเทศที่เกิดความขัดแย้งหรือมีประชากรผู้ลี้ภัยจำนวนมาก นั่นสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนพยายามหลบหนีอันตรายจากเขตความขัดแย้ง แต่ไม่มีเส้นทางที่ปลอดภัยสำหรับการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเส้นทางที่อันตรายต่อการย้ายถิ่นฐานที่สุด คือแถบชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนตอนกลาง โดยนับตั้งแต่ปี 2557 พบผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 23,092 รายในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน จึงสนับสนุนให้มีการรวบรวมข้อมูลมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างเส้นทางการอพยพที่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งและความทุกข์ยากภายในประเทศตนเอง

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ได้นำแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ปี 2567 – 2571  มาใช้ เพื่อเผชิญกับความท้าทายจากการโยกย้ายถิ่นฐาน โดยวัตถุประสงค์แรกเพื่อช่วยชีวิตและปกป้องผู้อพยพ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น หน่วยงานโยกย้ายถิ่นฐานของสหประชาชาติ จึงเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ และพันธมิตรทำงานร่วมกัน เพื่อยุติการเสียชีวิตของผู้อพยพ และจัดการกับผลกระทบของการเสียชีวิตบนเส้นทางอพยพที่เกิดขึ้นในทั่วโลก

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.7) อำนวยความสะดวกในการโยกย้ายถิ่นฐานและเคลื่อนย้ายของคนให้เป็นระเบียบ ปลอดภัย ปกติ และมีความรับผิดชอบ รวมถึงให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายด้านการอพยพที่มีการวางแผนและการจัดการที่ดี
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ จำแนกตามรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความพิการ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563

แหล่งที่มา : 
IOM report: 1 in 3 migrant deaths occurs in transit while fleeing conflict – UN News
IOM Strategic Plan 2024–2028 – IOM Publications Platform 
A DECADE OF DOCUMENTING MIGRANT DEATHS – IOM Missingmigrants

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Last Updated on เมษายน 3, 2024

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น