ครบ  1 สัปดาห์ พบกากแคดเมียมกว่า 13,688 ตัน – ห่วงพิษเรื้อรังก่อมะเร็ง สังคมไทยต้องเร่งคลอดกฎหมาย PRTR

ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2567 จนถึงวันที่ 11 เมษายน 2567 รวมระยะเวลา 1 สัปดาห์ ที่ตรวจพบกากแคดเมียมแล้วกว่า 13,688 ตัน จาก 5 แห่ง สร้างความกังวลใจต่อประชาชนโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบจุดพบ เนื่องจากแคดเมียมเป็นสารพิษที่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพ มีพิษเฉียบพลันทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอก และอาจส่งผลต่อความเป็นพิษของไต กระดูก และอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก หากสัมผัสสารนี้มาอย่างยาวนานต่อเนื่อง 

กากแคดเมียมที่พบ 5 แห่ง ได้แก่

  • บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ประกอบกิจการหลอมหล่ออะลูมิเนียมแท่ง อะลูมิเนียมเม็ด จากเศษอะลูมิเนียมและตะกรันอะลูมิเนียม (SCRAP AND  DROSS) ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 2,440 ตัน
  • โรงเรือน ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จำนวน 4,200 ถุง น้ำหนักประมาณ 6,720 ตัน
  • โรงงานแห่งหนึ่งใน ต.บางน้ำจืด จ.สมุทรสาคร ซึ่งประกอบกิจการหล่อหลอมทองแดง และตะกอนทองแดง พบกองกากแคดเมียม กระจายอยู่ทั้งในและนอกอาคาร จำนวนกว่า 1,000 ตัน
  • บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ประกอบกิจการหลอมหล่ออะลูมิเนียมแท่ง อะลูมิเนียมเม็ด จากเศษอะลูมิเนียมและตะกรันอะลูมิเนียม (SCRAP AND  DROSS) ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพิ่มอีก 3,378 ตัน
  • บริษัท ล้อโลหะไทย แมททอล จำกัด ตั้งอยู่ 1532/1 ซ.เรียงปรีชา ถนนประชาราษฎร์ แขวงและเขตบางซื่อ กทม. จำนวน 150 ตัน บรรจุในถุงบิ๊กแบ๊กจำนวน 98 ถุง

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่าล่าสุดมีการประชุม 6 กระทรวง ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ และ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ข้อมูลตรงกันเกี่ยวกับกากอุตสาหกรรม และไม่ใช่แคดเมียมปกติแต่มีการปรับให้พิษลดลงใช้ซีเมนต์เข้าไปประกบทำให้การแพร่กระจายยากขึ้น พร้อมทั้งมีการหารือถึงการวางแผนการขนกลับ การเก็บรักษา และการทำความสะอาดหลังขนกลับ

ด้านศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัวนวัตกรรมตรวจหาการปนเปื้อนของแคดเมียม ตะกั่ว ปรอท และสารหนู ในน้ำและพืชสมุนไพร สามารถรู้ผลใน 1 นาที 

ทั้งนี้ การซุกซ่อนกากแคดเมียมอย่างปกปิดทั้งจากการรับรู้ของหน่วยงานภาครัฐและประชาชนนับว่าเป็นปัญหาการปกปิดข้อมูลสารเคมี ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามที่จะผลักดัน กฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ภาคประชาชน แต่ถูกตีตกไปครั้งหนึ่งในยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ล่าสุดมีการยื่นกฎหมายนี้เข้าสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ด้วยความหวังว่าจะช่วยผลักดันให้มีการควบคุมสารพิษและปกป้องชีวิตของผู้คนอย่างเป็นรูปธรรม

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– การจัดการกับสารอันตรายและวิกฤติสิ่งแวดล้อม จะต้องใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
– EnLaw จับมือภาคีเครือข่ายผลักดันกฎหมาย PRTR ชี้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและชีวิตที่ปลอดภัย รัฐและเอกชนต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยสารมลพิษ
– โลกยุติการใช้น้ำมันตะกั่ว แต่ตะกั่วในแบตเตอรี่ยังปล่อยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทและพัฒนาการเด็กเล็ก
– SDG Updates | พ.ร.บ. อากาศสะอาด หลักประกันให้คนไทยกลับมาสูดอากาศที่ดีต่อลมหายใจ
SDG Insights | (EP.1/2) ‘กิ่งแก้ว’ จะเป็นอย่างไร? ถ้าตอนนั้นประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR : วิเคราะห์เจาะลึกร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ
SDG Insights | (EP.2/2) กว่าจะเป็น “PRTR” – กฎหมายระดับโลกที่นายกรัฐมนตรีเคยปัดตกไป: วิเคราะห์เจาะลึกร่างกฎหมาย PRTR 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

แหล่งที่มา 
สรุปโกดังแคดเมียม พบที่ไหนบ้าง 13,688 ตัน (ประชาชาติธุรกิจ)
กระทรวงอุตสาหกรรมสรุปยอด “แคดเมียม” ที่พบ 12,421 ตัน (PPTV)
สวทช.เปิดตัวนวัตกรรมตรวจแคดเมียมรู้ผลใน 1 นาที (ประชาชาติธุรกิจ)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น