หลายพื้นที่ทั่วโลกประสบ สภาวะ ‘ปะการังฟอกขาว’ ครั้งใหญ่ เหตุจากภาวะโลกร้อน-กระทบต่อระบบนิเวศ

แนวชายฝั่งตั้งแต่ออสเตรเลีย เคนยา จนถึงเม็กซิโก พบแนวปะการังที่มีสีสันสดใสหลายแห่งทั่วโลกกำลังกลายเป็นสีขาวอย่างน่ากลัว หรือที่เรียกว่า ‘ปะการังฟอกขาว’ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้อุณหภูมิของผิวน้ำในทะเลที่สูงขึ้นทำลายสถิติที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2567 องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) และโครงการริเริ่มแนวปะการังนานาชาติ (International Coral Reef Initiatives : ICRI) ประกาศว่าโลกกำลังประสบสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ (Mass Bleaching) เป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่มีการจดบันทึกมา ซึ่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 พบว่าอย่างน้อย 54 ประเทศและดินแดนกำลังประสบปัญหาสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำในพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น โดยก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ครั้งเกิดขึ้นเมื่อปี 2541 ปี 2553 และระหว่างปี 2557 ถึงปี 2560 ซึ่งล้วนเกิดขึ้นในช่วงของปรากฏการณ์เอลนีโญ   

ปะการังฟอกขาว’ (coral bleaching) เกิดจากการที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ซึ่งเกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป และเมื่อเกิดแล้วอาจก่อให้เกิดโรค หรือกระทั่งตายได้ หากภาวะนั้นยังไม่ได้รับการเยียวยา

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าพื้นที่แนวปะการังมากกว่า 54 เปอร์เซ็นต์ในมหาสมุทรทั่วโลกกำลังเผชิญกับการที่ปะการังจะเกิดความเครียดจากความร้อน ทำให้ปะการังมีสีจางลงจนเปลี่ยนเป็นสีขาว ขณะที่เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (The Great Barrier Reef) ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแนวปะการังกว้างใหญ่ที่สุดของโลกและสามารถมองเห็นได้จากอวกาศ ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับแนวปะการังที่กว้างใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ทะเลแดง (Red Sea) ที่ตั้งอยู่ระหว่างทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชีย รวมถึงอ่าวเปอร์เซีย

นอกจากนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2566 พบว่าแนวปะการังในทะเลแคริบเบียนประสบปัญหาการฟอกขาว เนื่องจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลอยู่ที่ประมาณ 1-3 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิปกติ อย่างไรก็ดี เหตุการณ์การฟอกขาวนั้นยังเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในหลายพื้นที่ทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์จึงคาดการณ์ว่าหากโลกมีอุณหภูมิสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส แนวปะการังทั่วโลกอาจสูญหายไป 70 – 90 เปอร์เซ็นต์ โดยปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส ซึ่งตัวเลขนี้ก็เพียงพอที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแนวปะการัง

จากเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นกำลังกัดกินพื้นที่ครอบคลุมไปทั่วโลก ดังนั้น ทั่วโลกต้องร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยปรับปรุงสภาพการอยู่รอดของแนวปะการัง เนื่องจากยังมีคนหลายล้านคนที่ต้องพึ่งพาปะการังในฐานะแหล่งสารอาหาร รวมถึงเป็นแหล่งพักอาศัยสำคัญ และแหล่งอนุบาลของสัตว์ทะเลมากมาย นอกจากนี้ แนวปะการังยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศด้านต่าง ๆ เช่น การชะลอคลื่น และการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นลมในมหาสมุทรอีกด้วย

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
–  Allen Coral Atlas แพลตฟอร์ม-แผนที่ดาวเทียมแสดงสุขภาวะของแนวปะการังร่องตื้นที่รอบด้านที่สุดครั้งแรก 
รายงานสถานะแนวปะการังจากข้อมูล 40 ปี พบว่า โลกสูญเสียแนวปะการังไปถึง 14% ภายในช่วงแค่สิบปีที่ผ่านมา 
Florida Coral Rescue Center ใช้ห้องแลปหาสาเหตุโรคระบาด SCTLD ที่ทำลายแนวปะการังในฟลอริดาและแถบแคริบเบียน
SDG Updates | ท่ามกลางคราบน้ำมัน และ Climate Change: ทะเลและมหาสมุทรยังเป็นความหวังใหม่ 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.3) ลดและแก้ปัญหาผลกระทบของการเป็นกรดในมหาสมุทร โดยรวมถึงผ่านทางการเพิ่มพูนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ในทุกระดับ
– (14.5) ภายในปี พ.ศ. 2563 อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 โดยให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่

แหล่งที่มา: 
Coral reefs around the world experiencing mass bleaching, scientists say – Al Jazeera 
ทั่วโลกกำลังเผชิญเหตุการณ์ ‘ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่’ รอบที่ 4 เหตุจากอุณหภูมิมหาสมุทรสูงขึ้น –  The matter
โลกเผชิญสภาวะ “ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่” รอบที่ 4 –  PPTVHD36  
ปะการังฟอกขาว เกิดจากอะไร และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลอย่างไร  – NATIONAL GEOGRAPHIC ASIA

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น