SDG Updates | สรุปเสวนา “การเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ” (โครงการย่อยที่ 3)

ชวนอ่านบทสรุปเวทีเสวนา หัวข้อ “การเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ” (โครงการย่อยที่ 3) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ผ่านระบบ Zoom Meeting ภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา

วิทยากรร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน 4 ท่าน ประกอบด้วย

  1. รศ. ดร.นาฏสุดา ภูมิจำนงค์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. คุณชนกพร จันทรขันตี นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
  3. คุณวรดลต์ แจ่มจำรูญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนุกรมวิธานพืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
  4. คุณอุษารัศม์ จันทร์ภักดี นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

SDG Updates ฉบับนี้ จะพาทุกท่านเก็บตกประเด็นสำคัญจากวงเสวนาข้างต้นเพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร และเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการระบบนิเวศและคุ้มครองทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเกี่ยวข้องกับ SDG14 และ SDG15 โดยได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก การนำเสนอผลการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ยั่งยืน 14.5 และ 15.5 การเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และ ช่วงที่สอง การเสวนาข้ามภาคส่วน หัวข้อ “ทิศทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพและ Red list Index ในอนาคต และการบูรณาการชุมชนชายฝั่งและพื้นที่ Other effective area-based conservation measures (OECMs) เพื่อเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง ภายใต้กรอบเวลาปี 2030 ผ่านมุมมองของคณะผู้วิจัย 


Section 1: การนําเสนอผลการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย

01 – ความจำเป็นในการเร่งรัดคุ้มครองทะเลเเละชายฝั่งไทย

รศ. ดร.นาฏสุดา ภูมิจำนงค์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย ตั้งต้นวงเสวนาด้วยการกล่าวถึงที่มาและความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ว่า หลังจากที่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Goals) สิ้นสุดลง โลกได้เห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติซึ่งกำลังเสื่อมโทรมว่ามีความเกี่ยวข้องและกระทบกับภาคส่วนอื่นทั้งสังคมและเศรษฐกิจ เช่นนั้น SDGs จึงเกิดขึ้นบนฐานคิดที่นับรวมทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ด้วย โดยที่ผ่านมาเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) ได้มีการประเมินความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งล่าสุดปี 2566 พบว่าประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 43 ของโลก และอันดับที่ 3 ของเอเชีย 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะ SDG14 ทรัพยากรทางทะเล และ SDG15 ระบบนิเวศบนบก ซึ่งเป็นสองเป้าหมายหลักที่โครงการวิจัยนี้ศึกษา พบว่า SDG14 และ SDG15 อยู่ในสถานะท้าทายมาก นอกจากนี้หากพิจารณารายเอียดเชิงลึกลงไปอีก พบว่าเป้าหมายย่อยที่ 14.5 ภายในปี พ.ศ. 2563 อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 โดยให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ ไม่มีความก้าวหน้า ส่วนเป้าหมายย่อยที่ 15.5 ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี พ.ศ. 2563 ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม มีความก้าวหน้าน้อยลง ทั้งนี้ เป้าหมายย่อยทั้งสองเป็นเป้าหมายที่คณะผู้วิจัยใช้เวลาในการศึกษาวิจัยร่วมระยะเวลา 12 เดือน

โดยปลายทางสำคัญมุ่งไปที่การสอบทานสถานการณ์และค้นหากลไกที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งซึ่งปัจจุบันมีอยู่ร้อยละ 5.6 ขยับไปเป็นร้อยละ 10 ของพื้นที่ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตั้งไว้ 

สำหรับเป้าหมายย่อยที่ 15.5 รศ. ดร.นาฏสุดา ระบุว่าพิจารณาจากดัชนีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (Red List Index) เป็นหลัก โดยหากยึดข้อมูลจากรายงานสรุปของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ฯ เกี่ยวกับดัชนีดังกล่าว คะแนนของไทยอยู่ที่ 0.7 โดยคะแนนเต็มคือ 1 ซึ่งหากคะแนนยิ่งลดต่ำน้อยกว่า 1 มากเท่าไร หมายความว่าสถานภาพของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามยิ่งแย่ลงมากเท่านั้น และหากพิจารณาพื้นที่ป่าไม้ของไทย พบว่าปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้มีแนวโน้มที่เกือบจะเท่าเดิม แต่ก็มีแนวโน้มที่ลดลงบ้างเล็กน้อย หรือว่าอย่างที่เห็นอยู่ ณ ปัจจุบันสถานการณ์ไฟป่าส่วนใหญ่จะไปเกิดอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์เป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะประกาศพื้นที่อนุรักษ์ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือว่าหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ อาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก

เช่นนั้น “พื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายนอกพื้นที่คุ้มครอง” หรือ OECM (Other Effective Conservation Measures) จึงกลายเป็นอีก 1 ช่องทางที่คิดว่าน่าจะมีศักยภาพที่จะทำให้พื้นที่อนุรักษ์บนบกสามารถเพิ่มเติมขึ้นได้ รวมถึงทำให้เรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพสามารถเพิ่มมากขึ้น

ส่วนข้อเสนอแนะที่น่าสนใจจากงานวิจัยนี้ รศ. ดร.นาฏสุดา ชี้ว่า คำนิยามเกี่ยวกับ “พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดูแลอาจยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับคำนี้ที่ยังไม่ตรงกัน เช่นนั้นกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงอาจต้องทำการชี้แจงหรือใช้สื่อต่าง ๆ ชี้ว่าพื้นที่ส่วนใดบ้างที่มีศักยภาพที่จะได้รับการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง นอกจากนี้ พื้นที่ป่าชายเลนก็ควรพิจารณาว่าจะนับรวมเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งด้วย โดยที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือ ทช. ได้มีการประกาศชุมชนชายฝั่ง แต่พบว่าชุมชนเหล่านั้นยังไม่ถูกผนวกเข้ากับพื้นที่ป่าชายเลนรอบ ๆ ชุมชนด้วย ทำให้ขาดการเข้าไปดูแล ในอนาคตจึงเสนอว่าชุมชนที่มีพื้นที่ป่าชายเลนต้องนับรวมป่าชายเลนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนด้วย ไม่ว่าจะกว้างมากน้อยแค่ไหนก็ตาม เพื่อช่วยให้เกิดการดูแลคุ้มครองขึ้น 

อีกคำที่มีปัญหาในเชิงนิยามคือคำว่า “อนุรักษ์” รศ. ดร.นาฏสุดา กล่าวว่าต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนิยามของคำว่า “อนุรักษ์”  ว่าในความหมายของคำว่า “อนุรักษ์” เราสามารถที่จะใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าหากกลับไปดูนิยามโดยทั่วไป องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) เปิดช่องไว้ให้ค่อนข้างเยอะ โดยคำว่า “อนุรักษ์” ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเก็บเอาไว้โดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย ฉะนั้นในเรื่องของการใช้ประโยชน์ก็ควรที่จะได้รับการใช้ประโยชน์ แต่ต้องใช้ประโยชน์แบบยั่งยืน และหากสามารถที่จะบริหารจัดการพื้นที่ในส่วนที่ทาง ทช. ได้ตั้งเป้าหมายไว้แล้ว และพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่น ๆ ก็สามารถที่จะบรรลุพื้นที่อนุรักษ์คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง อาจจะเกิน 10% ที่ทางเรา หรือว่าทางทช. ได้ตั้งเป้าหมายไว้สำหรับประเทศไทย


Section 2: การเสวนาข้ามภาคส่วน

02 – Red List Index กับชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม สำคัญอย่างไร

ต่อเรื่อง ดัชนีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (Red List Index) มีประเด็นที่ควรขยายความเพิ่มเติม โดย คุณวรดลต์ ระบุว่าดัชนีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ปัจจุบันเฉพาะที่เกี่ยวกับพืชในไทย มีความพยายามศึกษาอนุภาคมูลฐาน สำรวจว่ามีทรัพยากรพืชมากน้อยแค่ไหน พร้อมทั้งยังมีการประเมินสถานภาพโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. เป็นหน่วยงานหลักในการประเมิน สนับสนุนงบประมาณ และเป็นผู้ประสานงาน โดยมีการวางแผนที่จะจัดทำให้มีความสม่ำเสมออาจจะเป็นรอบ 5 ปี หรือ 10 ปี ตามแต่ละกลุ่มสิ่งมีชีวิต ซึ่งพืชจะมีการประเมินเป็นครั้งที่ 4 ในปี 2570 

คุณอุษารัศม์ กล่าวเพิ่มเติมว่าการประเมิน “ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย: สัตว์มีกระดูกสันหลัง” (Thailand Red Data) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับดัชนีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามว่าเริ่มประเมินมาตั้งแต่ปี 2549 และมีเว้นว่างไปช่วงหนึ่ง จนกระทั่งปี 2558 ได้มีการจัดทำอีก โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม อย่างไรก็ดีปี 2558 ยังไม่มีการประเมินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ปี 2563 ได้มีการเพิ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในกลุ่มมอลลัสกา (Mollusca) และปะการัง ขณะที่ครั้งถัดไปที่จะจัดทำการประเมินอีกคือปี 2568 และ 2573 ตามลำดับ ซึ่งจะตรงกับช่วงปีปลายทางของ SDGs แน่นอนว่าข้อมูลส่วนนี้จะช่วยเติมเต็มการจัดทำ ดัชนีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามให้มีความสม่ำเสมอมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลว่าข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำ SDG Index กับข้อมูลที่เป็นจริงนั้นอาจไม่ตรงกัน โดย รศ. ดร.นาฏสุดา กล่าวว่าข้อมูลในที่ใช้จัดทำรายงานอาจไม่ใช่ข้อมูลล่าสุดและอาจไม่ได้มีการสอบทานกลับมา ขณะที่ ผศ.ชล บุนนาค ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมรับฟังเสวนาด้วย ตั้งข้อสังเกตว่าตอนที่ SDSN จัดทำ SDG Index เขาจะเอาข้อมูลจากฐานขององค์การสหประชาชาติโดยตรง หมายความว่าหน่วยงานระดับชาติไม่สามารถส่งข้อมูลตรงไปให้กับ SDSN เพื่อทำดัชนี แต่หน่วยงานระดับชาติสามารถส่งไปที่องค์กรระดับโลกซึ่งรับผิดชอบเรื่องนั้น ๆ เช่น IUCN แล้วองค์กรนี้จะส่งข้อมูลไปรวมในฐานข้อมูลของ UN อีกที จึงน่าสนใจว่ากระบวนการเช่นนี้มีส่วนทำให้ข้อมูลไม่ตรงกันไหม 

ด้าน คุณวรดลต์ ให้ความเห็นต่อการใช้ Red List Index มาประเมินประสิทธิภาพในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติว่าเป็นเกณฑ์ตามหลักสากล เพียงแต่ประเทศไทยมีข้อจำกัดและติดขัดด้านงบประมาณจึงทำให้การจัดเก็บข้อมูลไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะควร สถานะค่อนข้างมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอนุกรมวิธานของสิ่งมีชีวิตไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทางออกหรือกลไกหนึ่งที่น่าสนใจนำมาใช้จัดการคือการจัดทำระบบฐานข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมา สผ. ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยได้จัดทำ TH-BIF ซึ่งเป็นฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ และหากในอนาคต TH-BIF มีความเสถียรและมีประสิทธิภาพตามที่คาดหวังก็จะช่วยลดประเด็นการซ้ำซ้อนของข้อมูล

ขณะที่อีกปัญหาที่เกี่ยวข้องกันคือเรื่องข้อมูลอนุกรมวิธานเกี่ยวกับพืชค่อนข้างถูกให้ความสำคัญน้อยลง ทั้งบุคลากรและงบประมาณในการทำ อย่างไรก็ดี เราวางแผนไว้แล้วว่าจะศึกษาและเก็บภาพรวมข้อมูลอนุกรมพันธุ์พืชของประเทศไทยในปี 2570  


03 – OECM และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจอีกประเด็นจากวงเสวนาคือ “พื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายนอกพื้นที่คุ้มครอง” หรือ OECM (Other Effective Conservation Measures) โดย คุณอุษารัศม์ อธิบายว่าเกณฑ์หลักของ OECM ประกอบด้วย 

  • ต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกพื้นที่คุ้มครอง 
  • ต้องเป็นพื้นที่ที่มีขอบเขตชัดเจนและมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ชัดเจน 
  • ต้องเป็นพื้นที่ที่มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ อาจจะเป็นแหล่งที่อยู่ของชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสถานภาพถูกคุกคาม 
  • ต้องมีความยั่งยืนในการบริหารจัดการให้รักษาความหลากหลายและคงความยั่งยืนในระยะยาวได้ 
  • ต้องเป็นพื้นที่ที่มีการส่งเสริมหน้าที่และบทบาทของระบบนิเวศในการให้บริการ 

ทั้งนี้ จากการประชุมและรับฟังความเห็นคณะที่จัดทำหลักเกณฑ์ได้กำหนดเกณฑ์ย่อยออกมาเป็น 8 หลักเกณฑ์ ได้แก่ 1) พื้นที่ต้องไม่ใช่พื้นที่คุ้มครองตาม IUCN 2) มีความเป็นไปได้ที่จะสนับสนุนคุณค่าและความสำคัญทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และจะมีเกณฑ์ย่อยเป็นคุณค่าด้านระบบนิเวศ คุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพ 3) ต้องมีขอบเขตชัดเจน 4) ได้รับการยืนยันหรือสนับสนุนว่ามีความสามารถในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างยั่งยืนและระยะยาว 5) มีกลไกในการกำกับดูแลที่ชัดเจน และจะมีเกณฑ์ย่อย ๆ ลงไปประมาณ 8 หลักเกณฑ์ ถ้าเข้าข่ายทุกหลักเกณฑ์ จะสามารถเป็นพื้นที่ OECM ได้ แต่ถ้าไม่ครบทั้ง 8 หลักเกณฑ์ จะเป็นพื้นที่คล้าย ๆ เรียกว่าเป็นแคนดิเดตที่มีศักยภาพที่จะเป็น OECM แต่ต้องไปปรับปรุงหรือว่าไปพัฒนาให้ครบทั้ง 8 หลักเกณฑ์ ถึงจะมาเข้าสู่การเป็น OECM อันนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความเห็นอยู่ อาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือปรับหลักเกณฑ์ต่อไป 

ด้าน คุณวรดลต์ ระบุว่า OECM ของไทยค่อนข้างมีความก้าวหน้าอยู่มากโดยเฉพาะเรื่องการประชุมกำหนดเกณฑ์และขอบเขต อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมได้ผ่านฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ TH-BIF และ TH Journey ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่คนทั่วไปสามารถถ่ายภาพสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติและส่งเข้ามา โดยมีกลไกตรวจสอบเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีอีกกลไก คือการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) แก่นักอนุกรมวิธานควบคู่กับนักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์และบุคคลทั่วไป และที่สำคัญนักวิจัยนำข้อมูลจากแอปพลิชันดังกล่าวไปใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อประเมินสถานภาพด้วย 

คุณอุษารัศม์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า TH-BIF และ TH Journey ยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจใช้ได้แค่ในพื้นที่นำร่องเท่านั้น แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา และอาจต้องมีการสร้างวาระหรือกิจกรรมที่ข้องเกี่ยวสำคัญขึ้นมา พร้อมระบุด้วยว่าในปี 2568 อาจได้รับงบประมาณสนับสนุนสำหรับการประเมินสถานภาพกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังและไม่มีกระดูกสันหลัง โดยมีการจัดอบรมให้คนที่ทำงานหรือเชี่ยวชาญในการจำแนกและประเมินสถานภาพมาให้ความรู้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนทั่วไป รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง 

เมื่อพูดถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนแล้ว คุณอุษารัศม์ กล่าวว่ายังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากตอนนี้ สผ. อยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีหมวดที่ 3 ว่าด้วยเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำบัญชีทรัพยากรชีวภาพในระดับพื้นที่ แต่ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการอ่านตรวจสอบและแก้ไขของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงยังไม่แน่ใจว่าจะออกมาในรูปแบบที่ให้คนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นเป็นคนรวบรวมบัญชีทรัพยากรธรรมชาติ โดยทำงานร่วมกับ สผ. หรือให้ สผ. เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับชุมชนและสถาบันการศึกษา แต่ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ก็สะท้อนว่า สผ. ไม่ได้ละเลยเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดทำบัญชีทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องของการอนุรักษ์และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมด้วย 

คุณอุษารัศม์ อธิบายเพิ่มเติมว่าวัตถุประสงค์ของหมวดที่ 3 คือ อยากให้ชุมชนหรือประชาชนได้รู้ว่าในพื้นที่ตัวเองมีทรัพยากรอะไรบ้างที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือควรจะต้องอนุรักษ์ไว้ ซึ่งเชื่อมโยงกับการนำไปใช้ประโยชน์และการแบ่งปันผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือทรัพยากรอย่างอื่นกลับมาสู่ชุมชน สร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งก็เปรียบเสมือนเป็นการสร้างแรงจูงใจ ตระหนักรู้ว่าคุณค่าของทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ของตน และท้ายที่สุดจะทำให้เกิดการหวงแหนและการอนุรักษ์เพิ่มมากขึ้น

ด้าน คุณชนกพร กล่าวว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนยังมีความสำคัญกับการประกาศให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล เนื่องจากมีกระบวนการที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการประกาศนั้น ๆ และรวบรวมความเห็นของประชาชน นอกจากนี้ในเรื่องของการพัฒนาต่อ ทาง ทช. เห็นว่าถ้าช่วยพัฒนาชุมชนชายฝั่งให้สามารถจัดการดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายเข้าไปบังคับ แต่เขาอาจใช้ข้อตกลงในชุมชนเพื่อดูแลและจัดการทรัพยากรหน้าบ้านของเขาเองได้ แบบนี้ก็จะนับว่าเขาเป็น OECM ประเภท LMMA (Locally Management Marine Area) ซึ่งคิดว่าะยั่งยืนกว่า และอาจจะทำได้ง่ายกว่า ถ้าชุมชนนั้นมีความชัดเจน มีขอบเขตว่าพื้นที่บริเวณหน้าบ้านชายฝั่งออกไประยะทางเท่าไหร่ เขาจะอนุรักษ์อะไรบ้าง และมีมาตรการชัดเจนอย่างไร

ต่อความก้าวหน้าของการสนับสนุนเรื่องนี้ คุณชนกพร ระบุว่า ทช. กำลังขยับและเริ่มตั้งคณะทำงานที่จะมาจัดทำเกณฑ์ว่าชุมชนไหนที่จะเข้าข่าย มีศักยภาพ หรือประสิทธิภาพที่จะพัฒนาให้เป็น OECM ในรูปแบบของ LMMA บ้าง 

นอกจากนี้ คุณชนกพร ยังมองถึงความหวังในการคุ้มครองพื้นที่ทางทะเลให้บรรลุร้อยละ 30 ผ่านกระบวนการ OECM ว่าพื้นที่คุ้มครองทางทะเลของประเทศไทย ตอนนี้มีทั้งหมด 323,488 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 5 ที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งนับว่าน้อยนิด

ถ้าปี 2573 หวังให้มี 30% อาจทำผ่าน OECM ในรูปแบบ LMMA ชุมชนชายฝั่งของไทยมีเป็นร้อย ๆ ชุมชน ถ้าเริ่มสักชุมชนหนึ่ง ขับเคลื่อนไป ก็จะมีแนวทาง แล้วขยายไปทุกชุมชน โอกาสที่จะบรรลุเป้าคิดว่าน่าจะมีโอกาส

แต่ยังไม่นับรวมกับ OECM ประเภทอื่น ที่เคยมีการรวบรวมไว้ เช่น โบราณคดีใต้น้ำ พื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร พื้นที่ปลอดภัยขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ซึ่งสำหรับ ทช. จะพยายามทำสิ่งที่อยู่ในขอบเขตที่ ทช. สามารถดำเนินการได้ก่อน โดยไม่ต้องอาศัยหน่วยงานภายนอกมากนัก เพราะคิดว่าน่าจะขับเคลื่อนได้คล่องตัวกว่า


04 – กลไกสร้างพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มเติม 

ขยับจากการพูดคุยประเด็นการคุ้มครองทางทะเลมาสู่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศบนบก รศ. ดร.นาฏสุดา ชวนถกสนทนาว่าจะมีกลไกเพิ่มเติมอีกไหมในการที่จะอนุรักษ์พื้นที่ให้มีมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ป่าชุมชนบนบกซึ่งขณะนี้ไม่ได้ถูกนับรวมเป็นพื้นที่อนุรักษ์ด้วย 

คุณวรดลต์ ให้ความเห็นว่าพื้นที่ของไทยไม่สามารถขยายได้แล้ว มีหนทางเดียวคือการเชื่อมต่อพื้นที่อนุรักษ์ต่าง ๆ ที่เป็นหย่อมป่าขนาดใหญ่ เป็นแนวทางที่กรมอุทยานต้องให้ความสำคัญ ในการเชื่อมต่อพื้นที่ป่าทางบก ให้ติดดต่อกัน เพราะจะมีประโยชน์ในแง่การแลกเปลี่ยนพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต และสร้างความมั่นคงคุณภาพของพันธุกรรม แต่หากประชากรไม่สามารถแลกเปลี่ยนพันธุกรรมได้ก็ส่งผลต่อคุณภาพของพันธุกรรม รวมถึงเส้นทางที่ผ่านทางเรา เห็นว่าเขาพยายามจะงดใช้เส้นทางที่ตัดผ่านป่าแล้ว อาจจะเป็นการยกระดับหรือว่าการกำหนดเส้นทางอ้อมขึ้นไป เพื่อให้ป่าสามารถรองรับได้ นอกจากนี้ยังควรต้องมีทางเลือกให้กับประชาชนด้วยให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ป่าได้

คุณวรดลต์ ยังเสนอว่าพื้นที่ที่จำกัดต้องหาทางเลือกอื่น นั่นก็คือ OECM ถ้ามองเชิงนิเวศ จะเห็นว่าหย่อมป่าจะสามารถคงอยู่ได้ แล้วเกิดการเชื่อมต่อกันเหมือนเอาก้อนหินมาตั้ง จะกระโดดข้ามไปเรื่อย ๆ ก็จะเป็นทางเชื่อมโดยธรรมชาติที่เป็นแบบหย่อมกระโดดไปกระโดดมาของสิ่งมีชีวิต หรือสิ่งมีชีวิตที่แลกเปลี่ยนพันธุกรรมได้ แต่ต้องรักษาตรงนี้ไว้ให้ได้ เพราะว่าบางพื้นที่ห่างกันมากจนไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ ซึ่งบางทีก็คงหมดโอกาสแล้วที่จะเชื่อมต่อเพราะความเป็นเมือง เป็นถนน เป็นเขื่อน แนวทางที่ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่พยายามแก้ปัญหาได้ก็เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพียงแต่ว่าอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ให้สามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะ OECM ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะการที่ชุมชนเข้ามามีส่วนในการจัดการโดยทางภาคเอกชน เพราะว่าอย่างที่สมาคมอนุรักษ์นก ซื้อที่ดินที่เป็นของเอกชนนั้นชัดเจนมากว่าเป็นการช่วยเหลือจากภาคเอกชนระดมทุนทั่วโลกมาเพื่อรักษานก


05 – งบประมาณและการเป็นหุ้นส่วนขับเคลื่อน 

การจะขับเคลื่อนการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพต่าง ๆ ไว้ได้จำเป็นต้องอาศัยงบประมาณที่เพียงพอและการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วน อย่างไรก็ตาม การผลักดัน OECM ที่ทำอยู่อาจต้องอาศัยการสนับสนุนงบประมาณที่เพิ่มขึ้น โดย คุณอุษารัศม์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าตอนนี้ สผ. ทำเรื่อง OECM ในเรื่องของการยกร่างหลักเกณฑ์ในการทำชนิดที่มีความโดดเด่น (iconic species) ในแต่ละระบบนิเวศ เพื่อเตรียมที่จะพัฒนาไปเป็น OECM ในอนาคต โดย สผ. ไม่ได้ใช้งบประมาณจากในประเทศแต่ใช้เงินจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น กองทุนสิ่งแวดล้อม ของประเทศเยอรมัน

ด้าน รศ. ดร.นาฏสุดา เสนอว่าอาจของบประมาณจาก วช. มาสนับสนุนได้ โดยขอทุนงบประมาณวิจัยมาสนับสนุน เพื่อที่จะทำให้ สผ. ได้ข้อมูลที่กรองอยู่ในมือพอสมควร ทั้งนี้ กระบวนการอาจจะช่วยกันได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะว่ามีมหาวิทยาลัยที่อยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ค่อนข้างที่จะเยอะ และจะได้ขอความร่วมมือกันว่าในเรื่องของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำ จะได้รู้ว่าภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับประมงมีใครเป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่ในจังหวัดนั้นได้บ้าง หรือว่าภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับป่าไม้เอง จะได้ทำให้ตัวลงพื้นที่ที่ทาง สผ. มีเป้าหมายไว้ หรือว่าที่เราเห็นว่าน่าจะมีศักยภาพจะได้ถูกกรองในแต่ละชั้นได้เร็วยิ่งขึ้น 


อติรุจ ดือเระ – ผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ

รับชมวิดีโอบันทึกจากงานเสวนาวิชาการสาธารณะ : ที่นี่
ติดตามสรุปเสวนาในโครงการทั้ง 6 เวที : ที่นี่

SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา สนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2. เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) 3. ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5. หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Futures & Policy)  6. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) 7. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 8. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ 9. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น