Site icon SDG Move

รายงานวิกฤตการณ์อาหารโลกปี 2567 เผยโลกเผชิญกับ ‘ความไม่มั่นคงทางอาหาร’ เหตุจากความขัดแย้ง – สภาพอากาศสุดขั้ว – เศรษฐกิจย่ำแย่

รายงานวิกฤตการณ์อาหารโลก ฉบับปี 2567 (Global Report on Food Crises :GRFC 2024) เปิดเผยว่าประชากรเกือบ 282 ล้านคนใน 59 ประเทศและเขตแดนประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร เผชิญกับความหิวโหยเฉียบพลันในระดับที่สูง โดยตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 24 ล้านคน เป็นผลมาจากความขัดแย้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ฉนวนกาซา เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

รายงานประจำปีของ Global Network Against Food Crises จัดทำ โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) โครงการอาหารโลก (World Food Program: WFP) และสหภาพยุโรป ได้วิเคราะห์ว่าเด็กและผู้หญิง ถือเป็นด่านแรกที่ต้องเผชิญกับวิกฤตความหิวโหย ซึ่งพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวนกว่า 36 ล้านคน ขาดสารอาหารอย่างรุนแรงใน 32 ประเทศ แสดงให้เห็นถึงภาวะทุพโภชนาการที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2566 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้พลัดถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและภัยพิบัติ 

โดยในปี 2566 พบว่าผู้คนกว่า 705,000 คน ประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันอย่างรุนแรงที่สุดและมีความเสี่ยงต่อความอดอยากในระดับภัยพิบัติ (IPC/CH Phase 5) ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่านับตั้งแต่ปี 2559 และถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการรายงานมา อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน พื้นที่ฉนวนกาซา คิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ที่เผชิญกับปัญหาความอดอยาก เช่นเดียวกับในพื้นที่ซูดานใต้ บูร์กินาฟาโซ โซมาเลีย และมาลี ขณะเดียวกันรายงานได้คาดว่าในอนาคต ผู้คนประมาณ 1.1 ล้านคนในฉนวนกาซา และ 79,000 คนในซูดานใต้ ประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันอย่างรุนแรงที่สุดในระดับภัยพิบัติ (IPC/CH Phase 5) ภายในเดือนกรกฎาคม 2567

ปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านอาหาร ในปี 2567 ได้แก่

อย่างไรก็ดี จากวิกฤตทั้งเหตุความขัดแย้ง สภาพอากาศสุดขั้ว และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้การจัดการวิกฤตการณ์ด้านอาหาร จำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างเร่งด่วนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาและรับมือกับความั่นคงทางอาหาร จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารที่เปราะบางและส่งเสริมการพัฒนาทางการเกษตร เช่น การผลิตอาหารของเกษตรกรรายย่อย เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวและขยายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้ครอบคลุมทุกกลุ่มคน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
– (2.4) ทำให้เกิดความมั่นใจในระบบการผลิตอาหารและการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยืดหยุ่น เพื่อเพิ่มผลิตภาพผลผลิตและผลผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งในศักยภาพในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ภูมิอากาศที่เลวร้าย, ความแห้งแล้ง, น้ำท่วม และความเสียหาย และเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและที่ดินอย่างก้าวกระโดด ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
– (8.10) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันทางการเงินภายในประเทศเพื่อส่งเสริมและขยายการเข้าถึงการธนาคาร การประกัน และบริการทางการเงินแก่ทุกคน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งที่มา: Global Report on Food Crises: Acute hunger remains persistently high in 59 countries with 1 in 5 people assessed in need of critical urgent action –   FAO

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version