สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ชวนแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต หวังประชาชนมีส่วนร่วมการจัดการ Climate Change

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต พ.ศ. …. เป็นร่างการเงินที่เสนอโดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ โดยวางกรอบเวลาให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน – 22 พฤษภาคม 2567

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา โฆษกพรรคพลังประชารัฐ และแกนนำผู้ผลักดันยื่นร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า “การแก้ไขปัญหาการจัดการก๊าซเรือนกระจกในขณะนี้ ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่ต้องการความร่วมมือ และแนวทางที่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเข้ามากำหนดยุทธศาสตร์ และทิศทางการจัดการก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง พล.อ.ประวิตร มีความห่วงใยในเรื่องการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศของไทยที่เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน เพราะส่งต่อกระทบต่อประชาชน โดยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น สร้างความเสียหายในวงกว้างในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านสุขอนามัย และการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชนโดยตรง ที่นับวันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น”

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ข้างต้น เช่น

  • สิทธิของบุคคลและชุมชนที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การเข้าถึงข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศ การแสดงความคิดเห็นในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการได้รับการส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การจัดตั้งกองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐและจากแหล่งอื่น ๆ พร้อมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนคณะหนึ่งโดยให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน 
  • แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งมีรายละเอียด เช่น กำหนดระยะเวลาการบังคับใช้ รายงานสถานการณ์ของประเทศไทย เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และแนวทางการขับเคลื่อนและติดตาม ประเมินผล 
  • การนิยามความหมายของคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกในเชิงกฎหมาย เช่น คำว่า ธุรกิจคาร์บอนเครดิต ภาษีคาร์บอน และคาร์บอนเครดิต 

ตัวอย่างประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น เช่น 

  • ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า บุคคลและชุมชนควรมีสิทธิเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล สิทธิที่จะได้รับแจ้งข้อมูลและการสนับสนุนจากรัฐ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในการจัดการปัญหา สิทธิในการได้รับการส่งเสริมการดำเนินงาน และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการเยียวยาเมื่อสิทธิเสรีภาพถูกละเมิด (ร่างมาตรา 7)
  • ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า การดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัตินี้จำเป็นต้องมี “คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” เพื่อพิจารณาการออกกฎหมายลำดับรอง กำหนดนโยบายการดำเนินงานร่วมกับนานาชาติ และเสนอแนะนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี และเห็นด้วยหรือไม่กับองค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการและกรรมการ (ร่างมาตรา 13 – 21)
  • ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้มีการจัดเก็บ “ภาษีคาร์บอน” จากผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าสินค้าที่กำหนด ตามปริมาณก๊าซเรือนกระจกในจุดใดจุดหนึ่งของวัฏจักรชีวิตของสินค้าโดยรายละเอียดภาษีเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 99 – 112)

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัตินี้จะขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติด้วยการสนับสนุนจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมและองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รายงาน ‘ลดคาร์บอนเป็นศูนย์’ จากภาคการขนส่งในเอเชีย ชี้หลักสำคัญ 6 ข้อ สู่พลังงานสะอาดในอนาคต
– สหราชอาณาจักรลงทุนขนานใหญ่เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานคาร์บอนต่ำรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
– SDG Updates | บทวิเคราะห์ความท้าทายและนโยบาย เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมภายใต้รัฐบาล โจ ไบเดน (EP.8)
– สารตะกั่วในน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถยนต์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ยังคงตกค้างอยู่ในอากาศกรุงลอนดอนจนถึงปัจจุบัน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่นๆ ภายในปี 2573
#SDG13 รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา : การรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น