Site icon SDG Move

SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3-4 ประจำเดือนเมษายน 2567

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  16 – 30 เมษายน 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

วันที่ 20 เมษายน 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่ากรมกิจการผู้สูงอายุได้งบประมาณสำหรับดูแลครอบครัวอุปถัมภ์ จำนวน 1,107 ครอบครัวภายใต้โครงการสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์สำหรับการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อยู่ในวาระท้ายและครอบครัวมีฐานะยากจน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเปิดรับยื่นสิทธิจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 จากนั้นสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (สนง.พมจ.) จะเป็นผู้รับเรื่องคำขอรับสิทธิดังกล่าว จากประชาชนทั่วประเทศ และเมื่อส่งเรื่องมาที่ส่วนกลางแล้ว ทาง ผส. และเจ้าหน้าที่ ผส.จะต้องพิจารณาคัดเลือกเพียง 1,107 ครอบครัว ตามเงื่อนไขต่อไป

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG1 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.3 ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมระดับประเทศที่เหมาะสม และ 1.4 ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ยากจนและเปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมกันในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ 

เข้าถึงได้ที่: พม. ให้สิทธิครอบครัวอุปถัมภ์ก่อน 1,107 ราย เน้นผู้สูงอายุยากจน (Thai PBS)  

วันที่ 18 เมษายน 2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 อุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (11 – 17 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,044 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,060 คน ผู้เสียชีวิต รวม 287 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 45.98 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 18.75 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 12.50 ขณะที่ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.82 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 82.14 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 42.41 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 29.46 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.6 ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี พ.ศ. 2563

เข้าถึงได้ที่: สรุป 7 วันอันตรายสงกรานต์ 67 อุบัติเหตุสะสมรวม (11-17 เม.ย.) 2,044 ครั้ง เสียชีวิต 287 ราย (ประชาไท)  

วันที่ 28 เมษายน 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  แนะเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงานและทุนด้วยการลงทุน สร้างความเป็นธรรมผ่านกลไกรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานด้วยรับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ปฏิรูประบบแรงงานให้สอดรับกับพลวัตตลาดแรงงาน พร้อมกับชี้ว่าการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและทุน จำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ลงทุนทางด้านการศึกษาเพื่อให้คุณภาพแรงงานตรงกับความต้องการของตลาด ลดการผูกขาดและเพิ่มการแข่งขันเพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆเกิดขึ้น ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในการปรับปรุงระบบการผลิต ลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.1 ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ และ 8.3 ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ

เข้าถึงได้ที่: นักวิชาการแนะเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงานด้วยการลงทุน-รับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98 (ประชาไท)  

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกรวมถึงสังคมไทยกำลังพูดถึงและให้ความสำคัญอย่างมาก โดยข้อมูลจากสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2551 ผู้คนเฉลี่ยราว 21.5 ล้านคน (ต่อปี) ถูกบังคับให้ต้องพลัดถิ่น เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เช่น น้ำท่วม พายุ ไฟป่า และอุณหภูมิที่สูงขึ้นมาก ด้านธนาคารโลก (World Bank) ประมาณการว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ผู้คนมากกว่า 140 ล้านคนในประเทศบ้านเกิดของตัวเองต้องพลัดถิ่นภายในปี 2050 ขณะที่ Mohamed Abdi ผู้อำนวยการประจำประเทศโซมาเลีย ของสภาผู้ลี้ภัยนอร์เวย์ บอกกับสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN) ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นตัวเลขที่น่าตกใจของผู้ที่เปราะบางที่สุดบางคน ที่ต้องละทิ้งสิ่งต่าง ๆ และมุ่งหน้าไปยังที่ที่ไม่มีใครรู้จัก “วิกฤติสภาพภูมิอากาศทั่วโลกกำลังขัดขวางการเชื่อมต่อของเรากับสถานที่ต่าง ๆ และความรู้สึกของ ‘บ้าน’ ที่เราอยู่อาศัย”

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ และ  13.3 พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เข้าถึงได้ที่: โลกเปลี่ยนจนรู้สึกว่า ‘บ้าน’ ไม่มั่นคง การศึกษาพบ Climate change ทำคนพลัดถิ่นมากกว่า 21.5 ล้านคนต่อปี (The Matter) 

สำนักเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN Secretariat) เผยแพร่ร่างกำหนดการของการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ที่จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2567 โดย (UN Economic and Social Council: ECOSOC) โดยข้อมูลจากร่างฉบับนี้จะช่วยสนับสนุนการติดตามความคืบหน้าของแถลงการณ์ทางการเมืองของการประชุมสุดยอดผู้นำ ประเด็นสำคัญของร่างข้างต้น เช่น 1) สัปดาห์แรกของการประชุม HLPF จะมีการทบทวนเชิงลึกเป็นพิเศษต่อ SDG1 SDG2 SDG13 SDG16 และ SDG17 และ 2) การทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) จะเริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 17 กรกฎาคม 2567  โดยมีประเทศที่จะเข้านำเสนอ VNR ทั้งสิ้น 38 ประเทศ เช่น บราซิล เยเมน และลาว 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อนทุกเป้าหมาย 

เข้าถึงได้ที่: Draft Programme for HLPF 2024 Available (IISD)

วันที่ 25 เมษายน 2567 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Educational, Scientific and Cultural Organization’s: UNESCO) ได้เผยแพร่รายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก (Global Education Monitor: GEM) ชี้เทคโนโลยีดิจิทัลและซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วยอัลกอริธึม โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว การกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ต และการเบี่ยงเบนความสนใจในการเรียนรู้ของเด็กผู้หญิง 

ประเด็นอื่นที่ค้นพบในรายงานข้างต้น เช่น 1) การเลือกปฏิบัติต่อเด็กผู้หญิงมีการพลิกกลับในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังมีผลกระทบเชิงลบของเทคโนโลยีต่อโอกาสและผลลัพธ์ทางการศึกษาของเด็กผู้หญิง และ 2) เด็กผู้หญิงได้รับสื่อวิดีโอที่ไม่เหมาะสมหลายประเภท ซึ่งรวมถึงเนื้อหาเกี่ยวกับเพศที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.1 ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่  และ 5.2 ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิง 

เข้าถึงได้ที่: UNESCO report spotlights harmful effects of social media on young girls (UN)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

Exit mobile version